Articlesรู้จักโครงสร้าง ‘ภาษีไทย’ และประเทศไทยเก็บภาษีได้ 17.15 % จาก GDP ทั้งหมด ถือว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ?

รู้จักโครงสร้าง ‘ภาษีไทย’ และประเทศไทยเก็บภาษีได้ 17.15 % จาก GDP ทั้งหมด ถือว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ?

โครงการคนละครึ่งของรัฐ ในขวบปีแรกนั้น เป็นโครงการที่ได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจากเป็นโครงการที่น่าดึงดูดใจ สำหรับทั้งกับประชาชนฝ่ายผู้บริโภคและผู้ค้าขายนั่นเอง

อยู่ดี ๆ สามารถซื้อของราคา 300 ในราคาเพียงครึ่ง แล้วใครมันจะไม่สนใจ

ฝ่ายผู้ขายก็สนใจ เพราะมีแนวโน้มว่าคนจะซื้อเพิ่มในขณะที่ตัวเองยังได้เงินเท่าเดิม แบบนี้ดีจะตาย

แต่แล้ว เมื่อเข้าสู่ขวบปีที่ 2 เกิดมีผู้ขายบางรายเครื่องสะดุดขึ้นมาด้วยความตื่นตระหนกตกใจ

“เอ๊ะทำไม ฉันต้องเสียภาษี ?”

จริงอยู่ โครงการนี้ เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์แก่กรมสรรพากร เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการนำนวัตรกรรมเศรษฐกิจอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Economy) เข้ามาประยุกต์ใช้กับการเก็บข้อมูลเพื่อคิดภาษี

เนื่องจากที่ผ่านมา กรมสรรพากร ทำได้แค่ “ประเมินยอดขาย” ของผู้ประกอบการรายย่อยแต่ละรายด้วยการสุ่มเท่านั้น

บางปีผู้ขายโชคดี สรรพากรเข้ามาตรวจในวันที่ขายไม่ดี ปีนั้นก็จะดวงดี เข้าข่ายที่จะต้องเสียภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง

แต่หากปีนั้นโชคร้าย ที่วันที่สรรพากรเข้ามาประเมิน “ดันขายดีผิดปกติ” ปีนั้นก็จะเสียภาษีแพงกว่าความเป็นจริง

ช่างเป็นการเก็บภาษีที่ขึ้นกับดวงและโชคลากของแต่ละฝ่ายเสียจริง

ดังนั้น ข้อมูลที่กรมสรรพากรได้ไปจากโครงการนี้นั้น จะช่วยให้กรมสรรพากร สามารถประเมินยอดขายของผู้ประกอบการแต่ละประเภทได้เที่ยงตรงและแม่นยำ และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายมากขึ้นแน่นอน

ดังนั้น สุดท้าย ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมของกรรมสรรพากร คือประชาชนทั้งประเทศนั่นเอง

คำถามที่ตามมาคือ “ภาษีของประเทศเรามันแพงนักหรือ ?”

จากเว็บ Our World in Data จะพบว่า ปี 2562 ประเทศไทยของเราเก็บภาษีได้เพียง 17.15% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เท่านั้น ในขณะที่ประเทศที่เจริญแล้ว ล้วนเก็บภาษีสูงกว่า 25% ทั้งสิ้น โดยเฉพาะประเทศยอดนิยมที่มีหลายคนบอกว่าน่าไปอยู่อาศัย อาทิ ฝรั่งเศส, ฟินแลนด์, เยอรมัน, อังกฤษ และอเมริกา มีอัตราการเก็บภาษี/ GDP อยู่ที่ 47.19%, 42.53%, 39.04%, 34.26% และ 25.02% ตามลำดับ [1]

แปลว่า อยากให้ประเทศดี ต้องจ่ายภาษีหนัก

อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ เคยมีเหตุการณ์ที่รัฐเก็บภาษีจากประชาชนอย่างโหดร้ายและไม่เป็นธรรม แต่นั่นเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 300 ปีก่อน ในขณะที่ในปัจจุบันนั้น แทบทุกประเทศในโลกนี้ เก็บภาษีด้วยอัตราก้าวหน้า

รายได้เยอะ จ่ายมาก
รายได้น้อย จ่ายน้อย
รายได้น้อยมาก ไม่ต้องจ่าย

สำหรับประเทศไทยของเรานั้น ภาษีบุคคลธรรมดา จะเริ่มคิดที่รายได้สุทธิตั้งแต่ 150,000 บาท ขึ้นไป [2] ซึ่งคำว่า “รายได้สุทธิ” ในที่นี้ หมายความว่า นำรายได้ทั้งหมด ไปหักลบออกจากรายจ่ายที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามประมวลรัฏากร ซึ่งเบื้องต้น บุคคลทุกคนจะได้รับการประเมินว่ามีค่าใช้จ่ายทั่วไป 50%ของรายได้ทั้งหมด แต่ไม่เกิน 100,000 บาท [3]

นั่นแปลว่า ในทางปฎิบัติ ประชาชนทุกคนที่มีรายได้มากกว่า 250,000 บาทต่อปี หรือ 20,833.33 บาทต่อเดือน ถึงจะเสียภาษี

และสำหรับผู้ที่มีความเข้าใจเรื่องภาษี จะทราบดีว่ามีวิธีในการลดหย่อนภาษีอีกมากมาย

สำหรับพ่อค้าแม่ขาย ที่ตอนนี้กำลังไม่พอใจจากการเรียกเก็บภาษีจากการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งนั้น หากไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล แต่เป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป สรรพากรถือว่าเป็นบุคคลธรรมดาผู้มีเงินได้ประเภทที่ 8 [4] สามารถตกลงกับกรมสรรพากรได้ 2 วิธีคือ คิดรายได้พึงประเมินแบบจ่ายตามจริง หรือแบบเหมาจ่าย 60% [5]

หมายความว่า หากขายสินค้าได้ 100 บาท จะถือว่ามีรายจ่ายโดยอัตโนมัติ 60 บาท เหลือ “รายได้สุทธิ” หรือผลกำไร 40 บาท

ซึ่งนี่แปลว่า บรรดาพ่อค้าแม่ขาย ไม่ว่าจะในระบบออนไลน์ หรือออฟไลน์ จะเริ่มเสียภาษีเมื่อมียอดขายตั้งแต่ 375,000 บาทต่อปี หรือ 31,250 บาทต่อเดือนนั่นเอง

นอกจากนี้ ตัวภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) นั้น สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่มียอดขายต่อปีไม่ถึง 1.8 ล้านบาทนั้น เป็นตัวช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเชิงราคากับผู้ประกอบการขนาดกลาง – ใหญ่ อย่าง 7-11 หรือ แฟมิลี มาร์ท ได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก ผู้ประกอบการรายย่อย ที่ “มียอดขายต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี” นั้น อยู่ในข่ายที่ “ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม” [6] นั่นเอง

นี่จะเห็นว่า แท้จริงแล้ว อัตราการเก็บภาษีของไทยเรานั้น ถือว่าน้อย และให้โอกาสผู้ประกอบการรายย่อย และประชาชนทั่วไป ที่มีรายได้ปานกลาง – ต่ำ ให้สามารถลืมตาอ้าปากได้

เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจกับ “ประมวลรัษฎากร” ให้ถ่องแท้ และวางแผนภาษีให้ถูกต้องเท่านั้นเอง ซึ่งหากไม่เข้าใจ ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร

เดินไปที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ เขามีเจ้าหน้าที่ใจดี ให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาภาษีอากร หรือโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์ของกรมสรรพากร 1161 ในเวลาราชการได้เลย

สำหรับใครก็ตาม ที่ตกใจ เผลอตำหนิสรรพากรเข้าไปแล้ว ก็ขอให้เข้าใจพวกเขาด้วย

ทุกคนที่อยู่ดี ๆ ก็รู้ว่าต้องเสียเงินโดยไม่คาดหมายมาก่อน ก็ล้วนแต่โมโหโกรธากันทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าทำใจเย็น ๆ แล้วค่อย ๆ ทำความเข้าใจ ก็จะค่อย ๆ ทำความเข้าใจ และวางแผนการเสียภาษีได้อย่างถูกต้องในอนาคตไปเอง

ทุกคนล้วนแต่มีจิตสำนึกที่ดี รู้ว่าการเสียภาษีเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้สังคมและประเทศชาติของเราพัฒนาต่อไปข้างหน้าได้

ค่อย ๆ อธิบายเขา ให้พวกเขาเข้าใจ และทำหน้าที่ประชาชนที่ดี เสียภาษีเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ด้วยนะครับ

เสียภาษีเป็นหน้าที่ เพื่อสังคมที่ดีกว่าของพวกเรา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า