Articlesตีแผ่ความหมาย “พลเมืองโลก” หนึ่งในวาทกรรมเคลือบพิษ ต้นตอความแตกแยกที่เติบโตด้วยแนวคิดที่บิดเบี้ยว

ตีแผ่ความหมาย “พลเมืองโลก” หนึ่งในวาทกรรมเคลือบพิษ ต้นตอความแตกแยกที่เติบโตด้วยแนวคิดที่บิดเบี้ยว

ในปัจจุบัน คนไทยที่เรียกตัวเองว่าเป็น “คนรุ่นใหม่” นั้นดูเหมือนจะมีความรู้สึกอึดอัดหรืออัดอั้นกับสังคมและการเมืองไทยในประเด็นต่าง ๆ มากมายจนบางครั้งพวกเขาเหล่านั้นก็เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์สังคมไทย วัฒนธรรมประเพณีไทย หรือกระทั้งรังเกียจคนไทยด้วยกันเอง คนไทยกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งนั้นอาจจะพยายามถอยห่างจากความเป็นไทยออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั้งอาจจะปฏิเสธว่าตัวเองเป็นคนไทยไปเลยด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะในมโนทัศน์ของคนยุคปัจจุบันจำนวนมากที่พยายามมองโลก มองสังคมและการเมือง รวมทั้งค้นหาความหมายของชีวิตผ่านการยึดถือหรือสร้างอัตลักษณ์ตัวตนของเขามาเป็นหลักสำคัญ หรือที่เรียกกันว่า identity politics ตัวอย่างเช่น มองโลกด้วยสตรีนิยมผ่านตัวตนที่เป็นหญิง, มองโลกด้วยแนวคิดเสรีทางเพศผ่านตัวตนที่เป็น LGBTQ+, มองโลกด้วยแนวคิดคอมมิวนิสต์ผ่านตัวตนที่เป็นแรงงาน เป็นต้น การที่พวกเขาถูกมองว่าเป็นคนไทย นั้นคือว่าเขามีอัตลักษณ์ตัวตนเป็นไทยนั้นก็อาจจะทำให้เขาผู้นั้นรู้สึกไม่พอใจขึ้นมาได้ เพราะความเป็นไทยกลายเป็นอัตลักษณ์ที่พวกเขาปฏิเสธให้เป็นอื่นไปแล้ว

แต่คำถามคือ เมื่อปฏิเสธความเป็นไทย ไม่เป็นคนไทย ไม่เป็นพลเมืองไทย แล้วเขาจะถือว่าตัวเองเป็นอะไร เป็นคนหรือเป็นพลเมืองอะไร

สิ่งหนึ่งที่สื่อออนไลน์หลายสำนักและบรรดา อินฟลูเอ็นเซอร์ หรือผู้มีอิทธิพลทางความคิดในสังคมออนไลน์ไทยยุคปัจจุบันต่างพยายามที่จะนำเสนอให้เป็นทางออกหนึ่งซึ่งตรงกับจริตของ “คนรุ่นใหม่” นั่นก็คือแนวคิด “พลเมืองโลก” นั่นเอง

“พลเมืองโลก” คืออะไร ถ้าจะให้อธิบายอย่างง่าย ๆ ก็คือการที่คน ๆ หนึ่งมองว่าตัวเองไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง เกี่ยวพัน มีความสัมพันธ์ หรือมีอัตลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับประเทศหรือรัฐชาติที่ตนเองเกิดมา แต่มองว่าตัวเองนั้นเป็นเพียง “ชาวโลก”

พูดอีกมุมหนึ่งก็คือ การที่เขาคนนั้นปฏิเสธว่าตัวเองไม่ใช่พลเมืองของประเทศชาติ ทิศทางที่เขาจะมองต่อไปหลังจากนั้นก็มีเพียงสองนั้นคือ มองลงไปอีกระดับหนึ่งว่าตนเองนั้นเป็นพลเมืองของจังหวัด, ของเมือง หรือของชุมชน ซึ่งคือหนึ่งในตัวขับเคลื่อนแนวคิด “ท้องถิ่นนิยม” (localism) หรือไม่เช่นนั้นก็เหลือเพียงการมองขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง นั่นก็คือมองว่าตนเองเป็นพลเมืองของโลกทั้งใบ

ถึงอย่างนั้น สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับคนที่มองว่าตัวเองเป็น “พลเมืองโลก” นั้นก็คือ การเป็นพลเมืองของประเทศชาตินั้น ก็ยังคงมีภาคประชาสังคมที่ประชาชนจะมีส่วนร่วม และมีภาครัฐที่มีหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองประชาชนในสังคม หรือการมองลงไปในระดับจังหวัด, เมือง หรือชุมชน ก็ยังคงมีพื้นที่ที่เราจะสามารถเข้าไปมีส่วนรวม และมีโครงสร้าง, องค์กร หรือหน่วยงานอย่างเป็นทางการของชุมชนนั้น ๆ เช่น ผู้ว่าราชการ, อบจ.-อบต., ผู้ใหญ่บ้าน, หัวหน้าชุมชน ฯลฯ ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการและปกครอง

แต่ “พลเมืองโลก” นั้นไม่สามารถมีส่วนร่วมโดยตรงกับ “โลก” ได้ ไม่สามารถเรียกร้องหรือผลักดัน “โลก” ในฐานะที่เท่าเทียมกับหน่วยงานอย่างเป็นทางการ นั่นก็เพราะโลกยังไม่มี “รัฐบาลโลก” หรือ “หน่วยงานปกครองโลก” และเพราะว่าโลกนี้ก็เต็มไปด้วยหน่วยสูงสุดนั่นคือ “รัฐชาติ” การปฏิเสธว่าตนเองไม่ใช่พลเมืองของประเทศชาติหนึ่ง ๆ หากไม่ใช่การย่อตัวเองลงไปอยู่ในระดับท้องถิ่น แต่ขยายไปเป็น “พลเมืองโลก” นั่นจึงไม่ต่างกับการที่เอาตนเองไปสู่สังคมที่ไม่มีอยู่จริงและไม่สามารถใช้งานผ่านโครงสร้างใด ๆ ได้

ศาสตราจารย์ภิขุ โฉเฐลาล ปาเรข (Bhikhu Chotalal Parekh) นักทฤษฎีรัฐศาสตร์ อาจารย์ด้านปรัชญารัฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮัลล์ (University of Hull) และมหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ (University of Westminster) อีกทั้งยังเป็นประธานสถาบันสังคมศึกษา (Academy of Social Sciences) ระหว่างปีค.ศ. 2003-2008 และเป็นสมาชิกสภาขุนนางอังกฤษ-เชื้อสายอินเดีย พรรคแรงงาน (Labour Party) ได้เขียนไว้ในบทความชื่อ “Cosmopolitanism and Global Citizenship ” ในวารสาร Review of International Studies ของสมาคมภาควิชาสากลศึกษาแห่งบริเตน (British International Studies Association) โดยกล่าวไว้ว่า

“ระเบียบ[โลก] นั้นยังไม่กลายมาเป็นเมือง ๆ เดียว และเรานั้นก็ไม่ควรจะพยายามทำให้มันเป็นหนึ่งเดียวด้วยการสร้างรัฐโลก (world state) ซึ่งก็จะหนีไม่พ้นว่าจะเป็น[รัฐ]ราชการ, มีความกดขี่, และจืดชืดทางวัฒนธรรม ถ้าคำว่าพลเมืองโลก หมายถึงการเป็นพลเมืองของโลก[ทั้งใบ] มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้หรือน่าใฝ่หา…พลเมืองโลกหรือทั่วโลก (global or cosmopolitan citizen) ซึ่งเป็นผู้ที่อ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของโลกทั้งใบนั้นไม่มีบ้านทางการเมืองเป็นของตัวเองและอยู่ในสภาวะ…‘เนรเทศตัวเองโดยสมัครใจ’ (voluntary exile) อย่างไรก็ตามการเป็นพลเมืองที่มองเห็นโลกทั้งใบ (global oriented citizen) นั้นคือการที่มีบ้านอันทรงคุณค่าเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นจุดที่เขาผู้นั้นสามารถยื่นมือออกไปและสร้างสายสัมพันธ์ต่าง ๆ กับผู้คนอื่น ๆ ที่มีบ้านของเขาเช่นเดียวกัน” [1]

ไม่เพียงแต่การเป็นพลเมืองโลกนั้นจะไม่ต่างกับการเนรเทศตนเองให้เป็นผู้ไร้บ้านแล้ว แนวคิดพลเมืองโลกยังสามารถที่จะถูกมองได้อีกด้วยว่าเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberal) ที่เป็นหัวใจหลักของการเมืองและเศรษฐกิจโลกที่นำโดยมหาอำนาจตะวันตก ซ้ำแล้วผู้ที่เชื่อว่าตนเองสามารถที่จะเป็นพลเมืองโลกได้นั้น ก็อาจกล่าวได้ว่ายังไม่เข้าใจว่าพลเมืองตัวจริงนั้นไม่ใช่ประชาชนคนทั่วไป แต่คือบริษัทข้ามชาติและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่างหากที่เป็นพลเมืองโลกที่แท้จริง ตามที่บทความชื่อ “Global Citizenship as Neoliberal Propaganda: A Political-Economic and Postcolonial Critique ” ซึ่งลงในวารสารของกลุ่มวิจัยทางสังคมวิพากย์แห่งหนึ่งของประเทศแคนาดา (Alternate Routes: A Journal Critical Social Research) ที่กล่าวไว้ว่า

“รัฐเสรีนิยมใหม่ (neoliberal state) อ้างผ่านแนวคิดโลกาภิวัตน์ ว่ามันต้องการล้มเลิกเขตแดนของรัฐชาติ เพื่อเป้าหมายในการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก ในนามของการค้าเสรี ซึ่งธุรกรรมเหล่านั้นก็ถูกควบคุมด้วยข้อบังคับโดยสถาบันระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การการค้าโลก (World Trade Organization) ซึ่งเป็นผู้นิยามสิทธิและหน้าที่ของตัวตนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตัวตนเหล่านี้คือตัวตันที่ไม่ยึดโยงกับรัฐชาติอีกต่อไป (de-nationalized)…ส่วนมากก็คือบริษัทเอกชนที่ถูกนิยามว่าเป็นนิติบุคคล…ในทางปฏิบัติแล้ว พวกเขาเหล่านี้นั้นแหละ คือ พลเมืองโลกที่แท้จริง ภายในระเบียบโลกแบบเสรีนิยมใหม่” [2]

แน่นอนว่าความอึดอัดหรือกดดันที่เกิดขึ้นในสังคมอาจทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งนั้นมองไม่เห็นถึงความสำคัญของการเป็นพลเมืองของประเทศชาติ หรือเป็นสมาชิกของสังคม ๆ นั้นอีกต่อไป แต่การตกลงอยู่ในวาทะกรรม “พลเมืองโลก” นั้นไม่เพียงแต่จะไม่ใช่ทางออกที่ดี แต่ยังเป็นเพียงการตกหลุมพรางของการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อของระบบเสรีนิยมใหม่แห่งการเมืองและเศรษฐกิจโลกซึ่งมีความอยุติธรรมเสียยิ่งกว่า ทางออกที่ดีที่สุดนั้นจึงไม่ใช่การละทิ้งความเป็นพลเมืองของตัวเองเพื่อไปไล่ตามอัตลักษณ์ที่ไม่มีอยู่จริงของคำว่า “พลเมืองโลก” แต่ควรเป็นการร่วมกันเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นร่วมกันกับพลเมืองผู้เป็นเพื่อนสมาชิกในสังคมของตน

แขกไทยผู้ไปเรียนและใช้ชีวิตที่เมืองนอก ชอบศึกษาประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง การต่างประเทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า