Newsโปแลนด์ ชาติเกิดใหม่หลังสงครามเย็น ที่เลือกใช้ยาแรงรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจ แบบสังคมนิยมเป็นทุนนิยม จนประสบความสำเร็จ

โปแลนด์ ชาติเกิดใหม่หลังสงครามเย็น ที่เลือกใช้ยาแรงรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจ แบบสังคมนิยมเป็นทุนนิยม จนประสบความสำเร็จ

เมื่อนึกถึงประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของยุโรป หลายคนมักจะนึกถึงประเทศในแถบยุโรปตะวันตกที่มีพลังทางเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างต่อเนื่องหลายประเทศ แต่ก็มีดาวรุ่งทางเศรษฐกิจในยุโรปเช่นกันที่เริ่มมีบทบาทในการเป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจของยุโรป 

 

หนึ่งในนั้น คือ โปแลนด์ อดีตชาติคอมมิวนิสต์ที่พลิกผันใช้ระบบทุนนิยมในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและใช้บทเรียนราคาแพงที่ชาติต้องประสบก่อนหน้า เมื่อครั้งยังใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยอีก

 

ซึ่งครั้งหนึ่งช่วงสงครามเย็น โปแลนด์ในฐานะรัฐบริวารของสหภาพโซเวียตได้ใช้นโยบายทางเศรษฐกิจตามรอยสหภาพโซเวียต คือ ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมหรือการวางแผนจากศูนย์กลาง อันทำให้สามารถสร้างสวัสดิการแบบเข้มข้นแก่คนในประเทศได้ดี รวมทั้งมีการอุดหนุนแทบทุกอย่างจากภาครัฐ ตามประสาของระบบเศรษฐกิจของชาติคอมมิวนิสต์เข้มข้นโดยส่วนใหญ่ 

 

ทว่า กลับมีผลข้างเคียงร้ายแรงคือ การลดทอนแรงจูงใจทางเศรษฐกิจและการขาดแคลนจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าพื้นฐาน ที่บ่อยครั้งก็ต้องมีการปันส่วนสิทธิ์ในการซื้อสินค้าพื้นฐาน เมื่อผลผลิตของสินค้าพื้นฐานลดลงจากประสิทธิผลการผลิตที่ชะงักงันอยู่เรื่อย ๆ

 

เมื่อเศรษฐกิจของประเทศโปแลนด์ชะงักงันควบคู่กับการกดขี่ทางการเมืองจากรัฐบาลโปแลนด์ที่มีสถานะเป็นหุ่นเชิดทางการเมืองของประเทศสหภาพโซเวียต จึงเป็นการสร้างความไม่พอใจให้ประชาชนเป็นจำนวนมาก 

 

แม้ว่าโปแลนด์จะเป็นประเทศที่ไม่ได้ใช้แนวคิดคอมมิวนิสต์แบบเข้มข้นมากนักเมื่อเทียบกับประเทศรัฐบริหารโดยส่วนใหญ่ก็ตาม ซึ่งในทศวรรษ 80 เป็นต้นมา ขบวนการประชาชนขนาดใหญ่ในประเทศจะเริ่มค่อย ๆ ก่อตัวและเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง 

 

ในจังหวะเดียวกับการเข้ามาของแนวคิดทางเศรษฐกิจอย่างเสรีนิยมใหม่จากประเทศทุนนิยมเสรีส่วนใหญ่และการเสื่อมถอยของอิทธิพลลัทธิคอมมิวนิสต์ภายใต้สหภาพโซเวียตจนมีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อเอาตัวรอดในช่วงขณะนั้นก็ตาม

 

และเมื่อโปแลนด์ได้กลายเป็นชาติเอกราชโดยสมบูรณ์ หลังช่วงสงครามเย็นสิ้นสุดลง ก็ได้มีการปรับนโยบายสำคัญแทบทุกอย่าง เช่น การเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตยตามแบบประเทศทุนนิยมเสรีโดยส่วนใหญ่ การสร้างกลไกการชาติสมัยใหม่ภายหลังการเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์ 

 

อาทิ การเสริมสร้างวัฒนธรรมและภาษาของชาติ การฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมและศาสนาที่เคยถูกด้อยค่าโดยแนวคิดคอมมิวนิสต์ก่อนหน้า การสร้างหลักประกันการอยู่รอดในประเทศผ่านการเสริมสร้างกำลังป้องกันประเทศ 

 

รวมทั้งการพลิกนโยบายเศรษฐกิจจากแบบสังคมนิยมเดิมเป็นทุนนิยมที่มีส่วนผสมของลัทธิเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจเข้ามาเป็นส่วนใหญ่ และการพลิกอย่างรวดเร็ว ทันตาเห็น จะถูกเรียกในภายหลังว่า การรักษาแบบรวดเร็ว หรือ shock therapy ที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ

 

หากจะลงลึกถึงความหมายโดยเนื้อในของ การรักษาแบบรวดเร็ว หรือ shock therapy นั้น ก็จะมีความหมายในลักษณะของการจัดการปัญหาอย่างรวดเร็วเพื่อยุติปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนั้นพร้อมกับการยอมรับผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการรักษาควบคู่กับการประคับประคองผลข้างเคียงดังกล่าว เพื่อให้การรักษาดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์และสามารถยุติปัญหาได้อย่างเด็ดขาด

 

ผลที่ตามมา คือ ภาครัฐยุติการอุดหนุนและสนับสนุนแทบทุกอย่างในประเทศที่แต่เดิมนั้น รัฐจะสนับสนุนทุกอย่างในรูปแบบของรัฐสวัสดิการเข้มข้น การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นได้อย่างอิสระ การเคร่งครัดในการใช้จ่ายภาครัฐ และการให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการไม่พิมพ์เงินเพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจซึ่งมักเป็นนโยบายที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์มักกระทำเป็นประจำ เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อรุนแรงและภาวะขาดแคลนสินค้าพื้นฐานที่เคยเกิดขึ้นจากการวางแผนการผลิตที่ผิดพลาดและการขาดแรงจูงใจทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ ซึ่งได้เป็นข้อพิสูจน์สำคัญถึงความสำเร็จของระบบเศรษฐกิจโปแลนด์เมื่อเข้าสู่ยุค 2000

 

กล่าวคือ ในช่วงแรกของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจแบบฉับพลันนั้น ได้มีผลข้างเคียงทางเศรษฐกิจมหาศาลเกิดขึ้นในประเทศ ทั้งระดับการว่างงานที่สูงขึ้นจากตำแหน่งงานที่หายไปจำนวนมาก การปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นครั้งใหญ่จากการยกเลิกนโยบายอุดหนุนสินค้า ฯลฯ

 

แต่ด้วยเหตุจำเป็นที่ต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นภาระทางการเงินในอนาคตและเป็นเสาหลักสำคัญในการค้ำจุนระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่เพิ่งเกิดใหม่ จึงทำให้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจนั้น ไม่ใช่เพียงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเท่านั้นแต่คือหลักประกันของการพึ่งพาตนเองและการเป็นเอกราชทางการเมืองอย่างสมบูรณ์

 

จึงทำให้การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างการเมืองจากคอมมิวนิสต์เป็นประชาธิปไตย และจากสังคมนิยมแบบวางแผนจากศูนย์กลางเป็นทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และได้ส่งผลดีอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเข้าสู่ยุค 2000 ในรูปแบบของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ แม้ว่าตัวเลขการเติบโตจะไม่ได้พุ่งสูงมากนัก 

 

กลับกลายเป็นว่า สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงแม้ว่าจะมีวิกฤตเศรษฐกิจเข้ามาก็ตาม นอกจากนี้เมื่อโปแลนด์ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปในช่วงเวลาต่อมา ก็ยิ่งดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนเข้ามาในประเทศมากขึ้นและทำให้โปแลนด์เข้าถึงตลาดขนาดใหญ่อย่างสหภาพยุโรปที่มีประชากรเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นฐานสำคัญที่ทำให้โปแลนด์ได้ก้าวมาเป็นดาวรุ่งทางเศรษฐกิจตั้งแต่นั้นมา

 

ดังนั้น โปแลนด์ในช่วงเวลาปัจจุบันที่มีอัตราการว่างงานค่อนข้างน้อย มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะไม่ได้ก้าวกระโดด และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในหลายเรื่องโดยเฉพาะการป้องกันประเทศและการพึ่งพาตนเองในเรื่องสำคัญ ๆ 

 

ต่างก็ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากแบบสังคมนิยมเป็นทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ที่ผสมแนวคิดทางการเมืองแบบอนุรักษนิยมเข้าไปด้วยเพื่อทำให้โปแลนด์สามารถยืนหยัดด้วยตนเองทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจและสังคม แม้ว่าจะต้องเผชิญผลข้างเคียงจากการปฏิรูปโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจก็ตาม แต่ก็อย่างที่เห็น

 

“ราคาที่ต้องจ่ายในเรื่องนี้ ถือว่า คุ้มค่า อย่างชัดเจน เมื่อมองถึงอนาคตข้างหน้า”

 

โดย ชย

อ้างอิง :

อ้างอิง:

[1] Between communism and capitalism: long-term inequality in Poland, 1892–2015 

https://link.springer.com/article/10.1007/s10887-021-09190-1

[2] Crises of the communist and neoliberal orders 30 years later: A structural comparison between 1975 and 2019 Poland

https://journals.sagepub.com/doi/full/10.1177/0539018420951668

[3] Starting Over: Poland After Communism

https://hbr.org/1995/03/starting-over-poland-after-communism

[4] Shock Therapy: How it Works in Economics, Examples

https://www.investopedia.com/terms/s/shock-therapy.asp

[5] How Poland Became Europe’s Growth Champion : Insights from the Successful Post-Socialist Transition

https://www.brookings.edu/blog/future-development/2015/02/11/how-poland-became-europes-growth-champion-insights-from-the-successful-post-socialist-transition/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า