
แผนการเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทย
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2564 ในการประชุม COP26 ซึ่งคือที่ประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายของประเทศในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาวะ Climate Change ต่อที่ประเทศต่าง ๆ โดยตั้งเป้าไปสู่ความสมดุลหรือความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ให้ได้ในปี 2593 (2050) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ให้ได้ในปี 2608 (2065)
มาถึงวันนี้ หลังการประชุม COP27 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคอื่น ๆ ไปแล้วโดยสามารถสรุปได้ 6 ด้าน ดังนี้
- ด้านนโยบาย ได้มีการบูรณาการนำเป้าหมาย Net Zero เข้าสู่ยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนระดับประเทศ ทั้งแผนรายสาขาและแผนระดับจังหวัด จัดทำ GHG Emission Profile และมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จัดทำข้อมูลความเสี่ยง และแนวทางการปรับตัวตามแผนการปรับตัวแห่งชาติ เป็นต้น
- ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดยเร่งขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับ, ใช้งาน, และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) มาใช้ในเชิงพาณิชย์ ภายในปีค.ศ. 2040 ผ่านคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
- ด้านการค้าและการลงทุน ประสานกับ BOI จัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนสีเขียวในสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ
- ด้านการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ จัดตั้งเครือข่าย Thailand Carbon Neutral Network โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 300 องค์กร
- ด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก เพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี 2580 และมีการออกระเบียบกรมป่าไม้, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อส่งเสริมการปลูกป่า
- ด้านผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นการยกระดับจากการขับเคลื่อนด้วยความสมัครใจ มาเป็นข้อปฏิบัติและข้อกำหนดตามตัวบทกฎหมาย เพิ่มเติมบทบัญญัติด้านการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและกลไกการเงิน อีกทั้งเสนอให้จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในปี 2566
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของการวางแผนและการลงมือทำของภาครัฐ และความร่วมมือกับภาคอื่น ๆ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยของเราไปสู่ Net Zero และเป้าหมายการมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกในการช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สภาวะโลกร้อนและ Climate Change
การพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development หลักเกณฑ์ของการพัฒนาที่สวยหรูทั้ง 17 ประการ สุดท้ายแล้วเป็นเป้าหมายเพื่อใครกันแน่ ?
สหรัฐโหวตช๊อกโลก ไม่ร่วมประณามรัสเซีย ทิศทางการจัดระเบียบโลกใหม่ของสหรัฐภายใต้นโยบาย “Make America Great Again”
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม