Articlesคำว่า “คนรุ่นเก่า” และ “คนรุ่นใหม่” เป็นแค่มายาคติ ไม่สามารถนำมา “แยก” ความแตกต่างของทัศนคติของคนในสังคมได้เลย

คำว่า “คนรุ่นเก่า” และ “คนรุ่นใหม่” เป็นแค่มายาคติ ไม่สามารถนำมา “แยก” ความแตกต่างของทัศนคติของคนในสังคมได้เลย

คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงเท่าไหร่ ถ้าจะบอกว่าปัจจุบันเราน่าจะต้องเห็นข่าวหรือบทความที่พาดหัวด้วยคำว่า “คนรุ่นใหม่” ไม่น้อยไปกว่าหนึ่งชิ้นในทุก ๆ วันอย่างแน่นอน ซึ่งส่วนมากแล้วคำว่า “คนรุ่นใหม่” นี้มักจะถูกใช้เป็นคู่ตรงข้ามกับ “คนรุ่นเก่า” หรือ “คนแก่” โดยเฉพาะในมุมที่ว่า “คนแก่ตามไม่ทันคนรุ่นใหม่”, “คนรุ่นใหม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง” หรือ “คนรุ่นใหม่กำลังจะขึ้นมาขับเคลื่อนสังคม” รวมถึงในด้านตรงข้าม เช่น “คนรุ่นใหม่ทำลายสิ่งนั้นสิ่งนี้” หรือ “คนรุ่นใหม่กำลังสร้างความวุ่นวายในสังคม” ฯลฯ

ทั้งคำว่า “คนรุ่นใหม่” และ “คนรุ่นเก่า” นี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับโดยทั่วกันว่าเป็นข้อเท็จจริง นั้นคือมีการแบ่งคนในสังคมออกเป็นสองกลุ่มได้อย่างชัดเจนถึงขนาดที่เราสามารถนำมาพูดหรือนำเสนอได้จริงจริง อย่างไรก็ตาม ถ้าเราลองดูกันให้ละเอียดในหลายครั้ง เช่น การประท้วงต่าง ๆ ที่ถูกกล่าวว่าเป็นการออกมาแสดงพลังของคนรุ่นใหม่ ภาพที่ออกมามันก็กลับแสดงให้เห็นว่าในหมู่คนรุ่นใหม่สามารถมีคนที่มีช่วงอายุมากกว่าร่วมอยู่ด้วยได้ หรือในขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจะอยู่ในฝากฝั่งของคนรุ่นเก่า กลับก็มีภาพที่ออกมาให้เห็นอยู่เหมือนกันว่ามีคนที่อายุน้อย ๆ เข้าร่วมอยู่ด้วย

ดังนั้นสรุปแล้วการแบ่งคนในสังคมออกเป็น “รุ่น” ๆ หรือ “เจนฯ” (generation) นั้น มันเป็นสิ่งที่มีมูลความเป็นจริงขนาดไหน? การชุมนุมประท้วงที่มีผู้สูงอายุอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง จะเรียกได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวอย่างเต็มปากได้อย่างไร? หรือการออกมาแสดงจุดยืนบางอย่างทำไมถึงถูกมองอย่างเหมารวมว่ามาจากกลุ่มคนแก่ล้าหลัง ทั้งที่ก็มีคนหลากหลายกลุ่ม หลากหมายช่วงวัยที่สนับสนุนสิ่งนั้น

การเหมารวมคนเป็นรุ่นใหม่และรุ่นเก่า เพื่อใช้เชิดชูหรือกล่าวโทษกลุ่มคนที่เรามองว่าอยู่ในรุ่นที่ตรงกันข้ามนั้นจริง ๆ เป็นสิ่งที่มีมานานมากแล้ว ลองคิดกันดูว่าคำพูดต่อไปนี้นั้นมาจากยุคไหน

“ฉันไม่มีความหวังว่าผู้คนของเราจะมีอนาคตอะไรได้ ถ้าพวกเขายังหวังพึ่งพาพวกเด็ก ๆ ที่ไร้สาระในยุคนี้ เพราะเด็กทุกคนนั้นไม่มีความรอบคอบใด ๆ เลย…เมื่อครั้งฉันยังเป็นเด็ก พวกเราถูกสอนให้มีความเรียบร้อยและเคารพผู้ใหญ่ แต่เด็กสมัยนี้ไม่มีความเคารพอะไรเลย แถมยังใจร้อนและไม่มีความยับยั้งชั่งใจใด ๆ ด้วย”
หลายคนอาจจะคิดว่าคงเป็นคำพูดในอดีตที่ไม่น่าจะเกินสักราวร้อยปี แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นคำพูดของนักปราชญ์ชาวกรีกโบราณ คือ เฮสิโอด (Hesiod) ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อเกือบสามพันปีที่แล้ว [1]

จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) นักเขียนชาวอังกฤษซึ่งใช้ชีวิตอยู่เมื่อเจ็ดสิบกว่าปีที่แล้ว (1903-1950) นั้นก็กล่าวเอาไว้ถึงการที่คนแต่ละรุ่นจะมีความเห็นเข้าข้างตนเอง

“[คน]แต่ละรุ่นนั้นมักจะจินตนาการว่าตนเองมีความฉลาดมากกว่ารุ่นที่มาก่อนหน้าพวกเขา และรอบรู้มากกว่ารุ่นที่มาที่หลังพวกเขา [แต่] สิ่งนี้นั้นเป็นภาพลวงตา (illusion) และเราก็ควรจะมองให้เห็นว่ามันเป็น[ภาพลวงตา]” [2]

ที่จริงคำว่า “เหมารวม” นี่น่าจะเป็นอะไรที่ชี้ชัดในเรื่องนี้ได้พอสมควร เพราะการแบ่งคนในสังคมออกเป็น “รุ่น” หรือ generation ต่าง ๆ นั้น โดยเนื้อแท้แล้วมันก็คือการพูดอย่างกว้าง ๆ (generalizing) หรือคือ การเหมารวม (stereotyping) นั้นเอง คือการจับเอากลุ่มคนที่มีความแตกต่างกันให้ถูกรวมเข้าด้วยกันโดยใช้เพียงอายุเป็นตัวแบ่งกลุ่ม ซึ่งท้ายสุด กลุ่มที่แบ่งออกมานั้น ก็ไม่ได้สะท้อนภาพความจริงได้เท่าไหร่นัก

ถ้าเราจะยกตัวอย่าง ตามข้อมูลการแบ่งรุ่น หรือ เจนฯ ต่าง ๆ ที่สามารถค้นหาได้ในอินเทอร์เน็ต [3] [4] ประวิทย์ วงศ์สุวรรณ หรือ บิ๊กป้อม และ ชาญวิทย์ เกษตรสิริ นั้นก็อยู่รุ่น Greatest Generation เหมือนกัน ทักษิณ และ อภิสิทธิ์ ก็อยู่รุ่น Baby Boomer เหมือนกันทั้งคู่ หรือที่น่าแปลกใจยิ่งกว่า คนรุ่น Gen X ซึ่งตามข้อมูลคือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ถึง 2522 นั้น ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งเกิดเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2508 พอดี ก็รวมอยู่ในคน Gen X ด้วย ขณะเดียวกัน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็เป็นคนในรุ่นนี้เหมือนกัน (เกิดปี พ.ศ. 2521) คนในแต่ละรุ่นที่เรายกตัวอย่างมากนี้ อยู่คนละขั้วทางการเมืองและสังคมอย่าที่เรียกได้ว่าน่าจะเห็นได้ชัดมาก ไม่เพียงเท่านั้น ในกรณีหลัง คือกรณีของ ธรรมนัส-ธนาธร นั้น แสดงให้เห็นเลยว่าการแบ่งคนออกเป็นรุ่น ๆ ด้วยปีเกิด มันไม่ได้ทำให้เห็นเลยว่าพวกเขามีความคล้ายหรือความเหมือนกันอย่างไร เพราะคนที่เกิดในต้นรุ่นกับปลายรุ่น ก็มีความแตกต่างกันได้เยอะมากแม้จะอยู่รุ่นเดียวกันก็ตาม

แล้วยิ่งถ้าหากเราจะแก้ตรรกะนี้ด้วยการแบ่งแยกย่อยลงไปอีก (นั่นคือสร้างกลุ่มย่อยในแต่ละรุ่นลงไปอีก) คำถามคือเราจะต้องแยกย่อยลงไปอีกกี่กลุ่ม และในแต่ละกลุ่มจะต้องมีช่วงเวลาเท่าไร

ความคิดแบบเหมารวมคนเป็นรุ่น ๆ เล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ถ้าเราอยากจะหาสาเหตุของความแตกต่างกันระหว่างคนแต่ละกลุ่ม อายุนั้นเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในอีกหลายปัจจัย ตามที่นักวิชาการในบทความหนึ่ง ที่วิจัยเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างรุ่นภายในที่ทำงานได้กล่าวไว้ว่า “มันมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จับต้องได้น้อยมากที่จะสนับสนุนการมีอยู่ของความแตกต่างที่มาจากรุ่น (generationally based differences) แทบจะไม่มีทฤษฎีใด ๆ ที่จะสนับสนุนเหตุผลของความแตกต่างเหล่านั้น และก็มีคำอธิบายอื่น ๆ อีกมากที่มีเหตุมีผลมากกว่าใน[การอธิบาย]ความแตกต่างที่เราพบ แทนที่จะใช้การเหมารวมที่ไม่มีอะไรมาสนับสนุน” พวกเขากล่าวว่า เราควรที่จะ “โฟกัสไปที่ความแตกต่างที่มีอยู่จริง” [5]

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงปีที่ผ่านมา มีหลายบทความจากสื่อตะวันตกที่ชี้ให้เห็นว่า “รุ่น” หรือ generation นั้นเป็นเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาที่ไม่มูล (myth) และสมควรที่เราจะเลิกใช้มันในการพูดถึงสังคมและการเมืองได้แล้ว อย่างบทความในนิตยสาร เดอะ นิวยอร์กเกอร์ (The New Yorker) ที่ชื่อ “ถึงเวลาเลิกพูดถึง “รุ่น” ได้แล้ว: จาก บูมเมอร์ ถึง ซูมเมอร์ คอนเซปต์นี้นั้นเข้าใจประวัติศาสตร์สังคมผิดไปหมด” (“It’s Time to Stop Talking about “Generations”: From boomers to zoomers, the concept gets social history all wrong”) [6]

หรือบทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์ เดอะ วอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) ของนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ศ.ฟิลิป เอ็น. โคเฮน (Philip N. Cohen) แห่งมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ วิทยาเขตคอลเลจพาร์ก (University of Maryland, College Park) ที่กล่าวว่า

“แม้ว่าป้ายชื่อของแต่ละรุ่นจะถูกเอาไปใช้โดยคนทั่วไป มันก็ไม่อยู่บนฐานของข้อเท็จจริงในสังคม…การแบ่งแยกกลุ่มนี้นั้นตั้งขึ้นเองโดยนักวิจัย, นักข่าว, หรือบริษัทการตลาดก่อนที่มันจะมีอัตลักษณ์นี้อยู่ด้วยซ้ำ แทนที่[พวกเขา]จะถามผู้คนว่าพวกเขานั้นรู้สึกว่าตนเองมีคึวามใกล้ชิดกับคนกลุ่มไหน บรรดาผู้ที่ชอบใช้[คำว่า] “รุ่น” ในทางสังคมนั้น กลับประกาศการแบ่งกกลุ่มพวกนี้ขึ้นมาเองและเริ่มอธิบายถึงแต่ละกลุ่มเลย แต่อัตลักษณ์ทางสังคมมันไม่ได้ทำงานอย่างนั้น”

ซึ่งจุดยืนของศ.ฟิลิปนี้ก็มีนักสังคมศาสตร์และนักประชากรศาสตร์กว่า 150 คนที่ร่วมลงชื่อเป็นจดหมายเปิดผนึกให้กับองค์กรต่าง ๆ อย่าง ศูนย์วิจัยฟิว (Pew Research Center) ที่มักจะทำการวิจัยเก็บสถิติในลักษณะแบ่งรุ่น [7]

ไม่เพียงเท่านั้นในบทความของศ.ฟิลิป ยังคงกล่าวอีกว่า “การแบ่งกลุ่มโดยไม่มีฐานเช่นนี้จะพาผู้คนไปสู่การเหมารวม (stereotype) และการด่วนตัดสินลักษณะของบุคคล…อีกประเด็นหนึ่งคือ ผู้คนนั้นรับรู้เรื่องราวในอดีตที่แตกต่างกันไปตามพื้นหลังของพวกเขา คนดำ vs. คนขาว, คนต่างด้าว vs. คนท้องถิ่น, ชาย vs. หญิง, เด็กที่เกิดพร้อม vs. เด็กที่ไม่ได้เกิดพร้อน iPads ดังนั้นการโยนพวกเขารวมกันจากปีเกิดมักจะทำให้เราพลาดความขัดแย้งและความซับซ้อนมากมายในความเปลี่ยนแปลงทางสังคม” [7]

สาเหตุที่การแบ่งแยกแบบนี้นั้นไม่มีประโยชน์สำหรับนักเขียนและนักวิชาการเหล่านี้ นั้นก็เพราะพวกเขามีหน้าที่ในการศึกษาหรือบอกเล่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคม แต่สำหรับคนบางกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม การเอาการแบ่งรุ่นแบ่ง “เจนฯ” มาเป็นวาทะกรรมนั้นกลับเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะมันช่วยให้พวกเขาสามารถโน้มนาวความคิดของคนให้คล้อยตามเขาไปได้ แต่สำหรับผู้ที่สนใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง เราก็ควรจะคิดตามสิ่งที่จอร์จ ออร์เวลล์กล่าว นั้นคือรู้เท่าทันว่าคว่ามคิดและคำพูดลักษณะนี้นั้นเป็นมายาคติ เป็น “ภาพลวงตา” (illusion)

เมื่อเราเห็นเช่นนี้แล้ว เราจะรู้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงและพลวัตทางสังคมและการเมือง ในประเด็นต่าง ๆ มันไม่ได้เกิดขึ้นจากความแตกต่างของสองฝั่งสุดขั้ว เราจึงควรเลิกใช้ตรรกะการแบ่งแยกที่ไม่มีอยู่จริง (false dichotomy) แต่ควรจะมองว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ นั้นมีปัจจัยมากกว่าการเหมารวมช่วงอายุหรือเหมารวมแต่ละ “เจนฯ” เมื่อนั้นเราอาจจะเห็นได้ว่าก็มีหลายเรื่องที่คนในเจนฯ เดียวกันนั้นเห็นต่าง ร่วมทั้งก็มีหลายประเด็นที่คนต่างเจนฯ ต่างรุ่นนั้น เห็นพ้องต้องกัน การเลิกยึดถือความคิดแบบแบ่งแยกรุ่นจึงอาจจะทำให้เราไม่รีบร้อนด่วนตัดสินคนเพียงเพราะอายุ และช่วยเปิดประตูให้เรามองเห็นถึงความหลากหลายพร้อม ๆ ไปกับความเหมือนกันของคนในสังคมได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า