“เกรียนออนไลน์” ทำดีถือเป็นการสร้างสีสัน หากก่อความเสียหายย่อมต้องรับผิดชอบเช่นกัน
เมื่อพูดถึง “เกรียนออนไลน์” หลายคนมักนึกถึงคนที่ชอบมาปั่นป่วน หรือล่อเป้าสร้างกระแสในโลกออนไลน์เพื่อให้ได้วัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ และนับวันเกรียนออนไลน์ก็ยิ่งแพร่หลายมากขึ้นจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ที่ง่ายกว่าสมัยก่อน รวมทั้งยังมีกลวิธีใหม่ ๆ มาใช้ปั่นป่วนโลกอินเทอร์เน็ต จนสร้างความปวดหัวให้แก่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นอันมาก
“เกรียนออนไลน์” เริ่มแรกนั้น คือ กลุ่มคนที่เกิดขึ้นในยุคที่อินเทอร์เน็ตเพิ่งเริ่มแพร่หลาย ยังไม่มีบทบาทมากนักและมักแอบอยู่ตามซอกหลืบของสังคมอินเทอร์เน็ต เนื่องจากระบบอินเทอร์เน็ตในช่วงเริ่มแรกยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนส่วนใหญ่และยังมีราคาแพง จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมภาพรวมมากนัก
แต่เมื่อมีนวัตกรรมใหม่อย่างสมาร์ทโฟน สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ การยกระดับเทคโนโลยีความเร็วอินเทอร์เน็ตแบบก้าวกระโดด รวมทั้งต้นทุนของอินเทอร์เน็ตที่ลดลงอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาต่าง ๆ ทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็วจากปลายนิ้ว โดยไม่จำเป็นต้องเปิดคอมพิวเตอร์อีกต่อไป และเนื่องจากอินเทอร์เน็ตมีราคาถูกลง ส่งผลให้ข้อจำกัดที่ระบบอินเทอร์เน็ตสมัยก่อนเคยประสบในเรื่องจำนวนผู้ใช้ที่น้อยและต้นทุนที่สูงก็ถูกพังทลายลงในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงที่ง่ายขึ้นและรวดเร็วก็นำสู่การแปรสภาพอินเทอร์เน็ตจาก “ดินแดนปริศนา” ให้เป็น “ดินแดนทั่วไป” ที่มีความเหมือนสังคมชีวิตจริงอย่างช้า ๆ และเป็นการยกระดับเกรียนออนไลน์ให้มีบทบาทมากขึ้นในสังคมออนไลน์ เพราะใครๆ ก็สามารถเป็นเกรียนออนไลน์ได้ และการป้องกันเกรียนออนไลน์ในช่วงยุคแรกๆ ก็ทำได้ยาก เพราะยังคงเป็นของใหม่ที่ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน
เพราะเกรียนออนไลน์แทบทั้งหมดนั้น ไม่ได้มีการระบุตัวตนใดๆ และมักจะทำในสิ่งที่ไม่ควรทำในชีวิตจริง โดยก่อนหน้านี้การแสดงออกแทบทุกอย่างจะต้องเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณชน แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์แพร่หลาย จึงสามารถแสดงออกได้โดยไม่ต้องระบุตัวตน นำไปสู่โอกาสที่จะแสดงออกถึงพฤติกรรมที่รุนแรง ก้าวร้าว และละเมิดผู้อื่นได้ง่ายกว่าการแสดงออกมาตรง ๆ ในชีวิตจริงอยู่มาก
เกรียนออนไลน์สามารถแบ่งได้หลายประเภทตามลักษณะของพฤติกรรมหลัก ประเภทแรกที่มักพบเห็นทั่วไป คือ การใช้กลยุทธ์แบบโจมตีไปเรื่อย ซึ่งมักเป็นกลยุทธ์ที่พบได้บ่อยในสื่อสังคมออนไลน์กระแสหลัก ควบคู่กับกลยุทธ์การตั้งคำถามแบบชี้นำ รวมทั้งกลยุทธ์การใช้ข้อมูลจริงที่สามารถสร้างความปั่นป่วนขึ้นในพื้นที่สังคมออนไลน์ ก็เป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์ที่นิยมใช้กันเช่นกัน เพียงแต่จะต้องมีทักษะเฉพาะทางและเวลามากกว่าการโจมตีในรูปแบบอื่นอยู่มาก
กลยุทธ์แบบโจมตีไปเรื่อย คือ การใช้ประเด็นไหนก็ได้ในการโจมตี และด้อยค่าคนที่เป็นเป้าหมายโดยไม่สนใจตรรกะเหตุผลใดๆ ในขณะที่กลยุทธ์การตั้งคำถามแบบชี้นำจะเป็นการใช้คำถามที่เข้าข่ายปรักปรำ เพื่อด้อยค่าเป้าหมายโดยไม่พูดถึงโดยตรง ส่วนกลยุทธ์การใช้ข้อมูลจริงเพื่อสร้างความปั่นป่วนแก่สังคม หรือ “ความจริงที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม” จะใช้ข้อมูลจริงในการด้อยค่าเป้าหมายซึ่งมักเป็นเรื่องส่วนตัว โดยข้อมูลจริงที่ว่านี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องหยิบยกข้อมูลจริงมาทั้งหมด โดยอาจหยิบข้อมูลจริงมาเพียงบางส่วนเพื่อใช้ในการด้อยค่าเป้าหมายได้เช่นเดียวกันทั้งในประเด็นเรื่องส่วนตัว และเรื่องกิจธุระการงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งทั้งสามกลยุทธ์ที่กล่าวมานั้นมีจุดเด่นและจุดด้อยต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้และการผสมผสานระหว่างสามกลยุทธ์ดังกล่าว จริงๆ แล้วการรับมือเกรียนออนไลน์สามารถทำได้ไม่ยาก หากเข้าใจพฤติกรรมของเกรียนออนไลน์ว่าใช้กลยุทธ์ไหนเป็นหลัก ? และได้มีการผสมผสานกับกลยุทธ์อื่นๆ ด้วยหรือเปล่า ซึ่งวิธีการรับมือส่วนใหญ่ คือ การไม่ตอบสนองใดๆ การใช้ข้อมูลจริงในการตอบโต้ หรือแม้แต่การเกรียนตอบโต้กลับในระดับที่รุนแรงกว่า ก็เป็นวิธีการที่ได้ผลในการรับมือเกรียนออนไลน์ยุคปัจจุบัน
ทั้งนี้ หากมองถึงรากเหง้าของเกรียนออนไลน์ส่วนใหญ่ จะพบว่าถ้าไม่ใช่การกระทำโดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมาจากการกระทำของตน ก็จะเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและมีการสร้างตัวตนใหม่ที่แยกออกมาจากตัวตนจริงในสังคมชีวิตจริง เพื่อไม่ให้ถูกสืบสาวและเชื่อมโยงถึงได้ระหว่างชีวิตในโลกเสมือนและโลกความเป็นจริง แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกตัวตนเสมือนจะเป็นเกรียนออนไลน์ไปทั้งหมด เพราะก็มีหลายตัวตนเสมือนที่เกิดขึ้นมาเพื่อป้องกันการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์อยู่เช่นเดียวกัน
ดังนั้น แม้ว่าพฤติกรรมของเกรียนออนไลน์จะถือว่าเป็นภัยคุกคามของสังคมออนไลน์ทั่วไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถป้องกันได้เลย โดยเฉพาะในระยะหลังที่มีมาตรการจัดการเกรียนออนไลน์ที่สร้างความเสียหายรุนแรงต่อสังคมภาพรวมโดยวิธีการต่าง ๆ ทั้งการรับมือแบบพื้นฐาน การใช้จิตวิทยาในการตอบโต้เกรียนออนไลน์ หรือแม้แต่การใช้กระบวนการทางกฎหมายในการป้องกันตนเอง ก็เป็นสิ่งที่พบเห็นมากขึ้นในช่วงระยะหลังนี้
สุดท้ายนี้ การเป็นเกรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะใครๆ ก็เป็นได้ ด้วยเครื่องมือและนวัตกรรมที่ทันสมัยซึ่งทำให้สามารถแสดงออกได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน หากเป็นการเกรียนที่ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อสังคม ก็ถือว่าเป็นสีสันที่ช่วยสร้างความสุขอย่างหนึ่งในสังคมออนไลน์ แต่หากเป็นเกรียนที่สร้างความเสียหายต่อสังคมไม่ว่าจะใช้วิธีการไหนๆ ก็ตาม
“การกระทำดังกล่าวก็ย่อมมีผลตามมาอยู่เสมอ”
โดย ชย
อ้างอิง :
[1] คุณเป็นเกรียนอินเทอร์เน็ตหรือเปล่า?
https://mgronline.com/infographic/detail/9570000044302
[2] เหตุผล ‘คนเกรียน’ : ทำไมคนถึงโทรลบนโลกอินเทอร์เน็ต
https://www.the101.world/troll/
[3] 10 Tips to Dealing With Trolls
https://www.forbes.com/sites/johnrampton/2015/04/09/10-tips-to-dealing-with-trolls/?sh=6f560cc254f4