Articlesการตลาดทางความคิด การต่อสู้ทางการเมืองสมัยใหม่ และสนามรบทางการเมืองไทยในปัจจุบัน

การตลาดทางความคิด การต่อสู้ทางการเมืองสมัยใหม่ และสนามรบทางการเมืองไทยในปัจจุบัน

สมมติฐานหนึ่งเกี่ยวกับการแข่งขันในเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีนั้นคือความคิดที่ว่า ‘การแข่งขันเป็นสิ่งที่ดี’ เพราะการแข่งขันทำให้เกิด ‘ตัวเลือก’ และการมีตัวเลือกมากนั้น จะยิ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น

 

ตลาดที่มีตัวเลือกมากและผู้บริโภคที่มีอิสระที่จะเลือกตัวเลือกต่าง ๆ นั้น คือหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาและการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ

 

ในทำนองเดียวกันนี้เอง แนวคิดเสรีนิยมนั้นก็ได้มีคำอธิบายที่คล้าย ๆ กัน ซึ่งสามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า ในสังคมที่มีแนวทางแบบเสรีนิยมนั้นจะมี “ตลาดทางความคิด” (marketplace of ideas) ที่แนวคิดต่าง ๆ นั้นสามารถดำรงอยู่ พัฒนาและแลกเปลี่ยนกัน ผู้คนในสังคมนั้นก็สามารถเลือกที่จะรับแนวคิดใด ๆ ก็ตามที่พวกเขาต้องการ

 

และการแข่งขันหรือประชันกันในทางความคิด ก็จะยิ่งทำให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ ต่าง ๆ ขึ้นมากมาย ซึ่งจะส่งผลดีให้กับสังคมในที่สุด

 

ซึ่งเมื่อเราเอาหลักการข้อนี้มากล่าวถึงสังคมไทยแล้ว โดยเฉพาะในสนามการเมืองไทยในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าการถกเถียงทางการเมืองต่าง ๆ นั้นค่อย ๆ มีการเคลื่อนตัวออกจากการขับเคี่ยวทางอำนาจผ่านการหักเหลี่ยมและกลยุทธ์ทางการเมือง

 

เปลี่ยนมาเป็นการพูดถึงการเมืองที่อยู่บนชุดความคิด แนวคิด หลักการ หรืออุดมการณ์ ที่มาจากปรัชญาสังคมการเมืองมากขึ้น ดังนั้นเราอาจจะกล่าวได้ว่า “ตลาดความคิด” ของสังคมไทยนั้น กำลังจะขยายตัวมากขึ้น ๆ

 

แต่เมื่อเราพิจารณาอย่างละเอียดดูแล้วเราจะเห็นว่า “ตลาดความคิด” ทางการเมืองของสังคมไทยเรานั้นดูเหมือนจะมีสินค้าให้เลือกไม่ค่อยเยอะเท่าใดนัก โดยเฉพาะถ้าเรากล่าวถึงแนวคิดและอุดมการณ์ที่มีความสมบูรณ์ ที่เป็นคำอธิบายถึงประเด็นทางสังคม-การเมืองทั้งภายใน-ภายนอกได้รอบด้าน

 

แล้วยิ่งไปกว่านั้น เมื่อ “ตลาด” นี้ตั้งอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น ๆ เราจะเห็นได้ว่า “สินค้า” เดียวที่เหมือนจะขายอยู่ในตลาดความคิดนี้ กลับเป็นชุดความคิดและคำอธิบายเดียว ที่พูดไปในทางเดียวกันเสมอ ๆ

 

และยิ่งไปกว่านั้น การอธิบายหรือเสนอความคิดที่นอกเหนือจากนั้นเป็นสินค้าหนึ่งในตลาด กลับถูกขับไล่โดยพ่อค่าแม่ขายทั้งหลายที่ทำการค้า “ผูกขาด” ในตลาดนี้มานมนาน

 

อธิบายให้เห็นภาพอีกทีหนึ่ง ในปัจจุบันนั้น สื่อและโลกออนไลน์นั้น เป็นช่องทางหลักที่คนจะเข้าถึงชุดความคิด แนวคิด หรืออุดมการณ์ทางสังคมการเมือง

 

ซึ่งเมื่อเราพิจารณาแล้วจะเห็นว่าในสื่อโลกออนไลน์นั้นเต็มไปด้วยชุดความคิดเดียวกันเกือบทั้งหมด หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า “ตลาดความคิด” ในโลกออนไลน์นั้นมีการ “ผูกขาด” โดยสินค้ากลุ่มเดียว นั่นคือ ชุดความคิดแบบเสรีนิยม หรือที่เรียกกันโดยทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “ลิเบอรัล” (Liberalism)

 

ด้วยเหตุนี้เราจึงอาจจะบอกได้ว่าในตลาดความคิดในสังคมไทยนั้นยังขาดแคลนสินค้าตัวอื่น ๆ ให้เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค เพราะชุดความคิดหนึ่งดูเหมือนจะมี ‘เสียงดัง’ และ ‘กลบ’ ความคิดอื่น ๆ ในสังคมออนไลน์ของไทยไปแทบจะหมดสิ้น

 

ซึ่งส่วนหนึ่งนั่นเราอาจจะกล่าวได้ว่าเพราะผู้ที่ถือความคิดเหล่านั้น ส่วนมากคือผู้ที่เกิดและเติบโตมาพร้อม ๆ กับการใช้เทคโนโลยี หรือที่เรียกกันว่าเป็น digital native (ชาวดิจิทัลโดยกำเนิด) [1] สื่อออนไลน์ต่าง ๆ จึงเป็นสื่อที่พัฒนาขึ้นพร้อม ๆ การเติบโตของคนกลุ่มนี้

 

และการที่คนกลุ่มนี้มีแนวคิดทางสังคมการเมืองที่เอนเอียงไปในทางหนึ่ง ๆ ใด ๆ ก็หลีกหนีไม่พ้นที่พื้นที่ต่าง ๆ ในสื่อและโลกออนไลน์นั้น จะสะท้อนแนวคิดของคนกลุ่มนี้ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนมัน

 

แต่ถึงแม้การที่ตลาดทางความคิดของสังคมไทยในปัจจุบันนั้นดูเหมือนจะดำเนินไปในทิศทางเดียว

 

ในความเป็นจริงนั้น เมื่อเราส่องเข้าไปใน ‘ซอกหลืบ’ ต่าง ๆ ของสังคมออนไลน์ เราจะเห็นว่ายังมีคนไทยกลุ่มเล็ก ๆ ที่ไม่ได้ยึดถือหรือเชื่อตามความคิดกระแสหลักที่มีอยู่ในสังคมออนไลน์ หรือพูดอีกอย่างได้ว่ามีคนไทยกลุ่มหนึ่งกล้าที่จะ ‘เดินสวนกระแส’ ที่มีอยู่

 

ทำให้ตลาดความคิดของไทยนั้นไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่แค่สินค้าตัวเดียว ชุดความคิดแบบเดียว ตัวอย่างของสินค้าทางเลือกหรือแนวคิดที่สวนกระแสโลกออนไลน์นั้นก็เช่น :

 

เพจเฟสบุคและช่องที่ชื่อว่า “ใบ้” (@bai.libertarian) [2][3] ที่กล้าเดินสวนกระแสของเครือข่ายสื่อออนไลน์กลุ่มใหญ่รวมทั้งนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่พยายามเรียกร้องและใช้วาทกรรมของคำว่า “รัฐสวัสดิการ” รวมทั้งกล้าเดินสวนกระแสการนำแนวคิด “ฝ่ายซ้าย” (ในนิยามสังคมการเมืองตะวันตก) และยึดถือแนวคิด “อิสรนิยม” หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่าแนวคิด Libertarianism

 

โดยเขาอธิบายเป้าหมายหรือพันธกิจของพวกเขาว่าพวกเขาต้องการ “เรียกร้องหลักการเสรีภาพ, การกระจายอำนาจ, และไม่แทรกแซง (laissez-faire)” ซึ่งถือได้ว่าพวกเขา “เป็นกลุ่มแรกในประเทศไทยหรืออาจจะ[เป็นกลุ่มแรก]ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มนำแนวคิดและเรียกร้องในแนวคิดและนโยบายอิสรนิยม  เพื่อการพัฒนาสวัสดิภาพของปัจเจกบุคคล”

 

(advocating for liberty, decentralization, and laissez-faire…the first group in Thailand, and perhaps even in South East Asia, to introduce and advocate for libertarian ideas and policies for the development of individual well-being.)

 

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือเพจเฟสบุคที่ชื่อว่า “Aunnism” (@aunnism) [4] ที่กล้าจะสวนกระแสของสังคมออนไลน์ที่ในประเด็นเกี่ยวกับแนวคิด “สตรีนิยม” หรือ feminism ที่เป็นหัวข้อพูดคุย (talking point) ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์

 

ซึ่งบางครั้ง (โดยเฉพาะในเว็บไซต์สังคมออนไลน์ขนาดใหญ่อย่างทวิตเตอร์) ก็มีการพูดคุยถกเถียงกันจนมีวิวาทะปะทุขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งเพจ Aunnism นี้ก็ได้มีนำประเด็นนี้มาพูดคุยด้วยการเสนอแนวคิดหรือความเห็นตรงกันข้ามขึ้นมาร่วมถกเถียงอย่างออกรส

 

ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าเราได้ติดตามพัฒนาการของการทำกิจกรรมทางการเมืองของการชุมนุมทั้งใหญ่และย่อยของกลุ่มต่าง ๆ เมื่อเรามองลงไปในรายละเอียดแล้วจะยิ่งได้เห็นว่าภายในการขับเคลื่อนที่ดูเหมือนจะอยู่ในแนวคิดกระแสหลักนั้น

 

มันก็มีความคิดกระแสรอง ๆ ที่แม้จะไม่ได้เป็นการ ‘เดินสวน’ และเคลื่อนตามไปกับกระแสหลัก แต่เมื่อทำความเข้าใจแล้วก็สะท้อนว่าเป็นความคิดที่มีหลักการหรือเป้าหมายที่แตกต่างหรือกระทั่งตรงกันข้าม

 

ภายในการขับเคลื่อนสังคมไปในแนวทางเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นชุดความคิดหลักที่ถูกผูกขาดในตลาดความคิดของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน กลับมีภาพสะท้อนแนวคิดเช่น แนวคิดอนาธิปไตย (anarchism) ที่ไม่เชื่อในระบอบการปกครองใด ๆ หรือกระทั่งแนวคิดคอมมิวนิสต์ ที่ไม่เชื่อในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาตามแนวคิดเสรีนิยม [5][6]

 

หรืออย่างแนวคิดการเมืองสีเขียว (green politics) อีกตัวอย่างก็เช่นพรรคประชาชาติที่มีการขับเคลื่อนการเมืองที่นำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องในบางประเด็น เช่น ประเด็นสุราก้าวหน้าและการสมรสเท่าเทียม [7] ที่ขัดต่อหลักการทางศาสนาของสมาชิกพรรค ซึ่งในทำนองเดียวกันนี้ก็มีสมาชิกพรรคก้าวไกลที่นับถือศาสนาคริสต์ ได้ออกมามีจุดยืนที่ใช้ศาสนาเป็นหลักด้วยเช่นกัน [8]

 

หรือถ้าจะมองอย่างใจเป็นกลาง ไม่ว่าแนวคิดอย่าง “เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และแนวคิดของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่มักถูกเรียกอย่างว่า “ฝ่ายขวา” หรือ “ฝ่ายอนุรักษนิยม” ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด “ชาตินิยม” หรือ “กษัตริย์นิยม” ซึ่งมักจะถูก ‘ไล่ผี’ (exorcise) หรือเหยียดหยาม ลดทอนคุณค่าจนไม่เหลือพื้นที่ใด ๆ ก็ควรจะถือเป็นสินค้าตัวหนึ่งในตลาดความคิดที่มีการแข่งขันกันอยู่

 

การทำความเข้าใจถึงแนวคิดที่ ‘สวนกระแส’ หรือแนวคิดที่เป็น ‘กระแสรอง’ เหล่านี้ และการให้พื้นที่ให้แนวคิดเหล่านี้ได้ถูกพูดถึงถูกอธิบาย และไม่ไป ‘กลบเสียง’ ของความคิดเหล่านี้ ก็ถือเป็นสิ่งที่สมควรทำ

 

เพื่อให้ตลาดความคิดของสังคมไทยนั้นมีความกว้างขวางขึ้น และผู้บริโภคความคิดต่าง ๆ นั้นสามารถที่จะเลือกสรรสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง และสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเหมาะสมและดีต่อสังคม

 

แน่นอนว่าสินค้าบางตัวอาจจะไม่ได้มีการนำเสนอ หรือป่าวประกาศให้คนมาสนใจมากเท่ากับบางตัว ไม่ได้มีการตลาดการโฆษณาที่แยบยล หรือเพราะเหตุผลที่กล่าวไปด้านบนว่าสินค้าบางชิ้นบางตัวก็เกิดขึ้นในยุคที่เทคโนโลยีไม่ได้พัฒนา และผู้คนที่นิยมชมชอบมันก็อาจจะไม่ได้มีความเจนจัดในการใช้เครื่องมือหรือสื่อสมัยใหม่เหล่านั้น

 

แต่สินค้าชิ้นนั้น ๆ ก็อาจจะมีคุณค่าในตัวมันเอง ดังการเหยียดหรือแสดงออกใด ๆ ที่เป็นการ ‘กลบเสียง’ ของแนวคิดเหล่านั้นคือการทำให้ “ตลาดความคิด” ของสังคมไทยนั้นร่อยหรอและไม่มีชีวิตชีวา ไม่ต่างกับการผูกขาดทำให้มีสินค้าชนิดเดียวที่คนในสังคมจะเลือกได้

 

 

พร้อมกันนั้นเอง สินค้า (ความคิด) เหล่านั้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการโฆษณาที่ดีหรือต้องมีการพัฒนา ‘การตลาด’ ให้แนวคิดของตนนั้นไปสู่ผู้คนได้มากขึ้น กว้างขวางขึ้น หรือบางแนวคิดที่ดูเหมือนจะยังไม่ชัดเจนก็ควรจะต้องมีการตกผลึกเพื่อนำเสนอคำอธิบายต่อผู้คนใน “ตลาดความคิด” ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เพราะไม่ว่าจะเป็นแนวคิดอะไรก็ตาม การเปิดหูเปิดตา เริ่มทำความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าทำไมแนวคิดนั้นถึงเป็นสิ่งที่คนในสังคมจำนวนหนึ่งเชื่อและยึดถือ ก็อาจจะทำให้สังคมเราน่าอยู่มากขึ้น

 

และหาก ‘ความคิดที่ดี’ ของฝ่ายหนึ่งสามารถถูกนำไปพัฒนาต่อยอดร่วมกับความคิดที่อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อถือ มันก็จะยิ่งทำให้สังคมพัฒนาขึ้นยิ่ง ๆ ไปด้วย โดยเฉพาะในสังคมการเมืองไทย ที่ดูเหมือนกำลังเดินเข้าสู่การขับเคลื่อนและแข่งขันกันทางความคิด ยิ่งมีความคิดที่หลากหลาย ก็ยิ่งทำให้ได้ผลลัพธ์ในสังคมที่ดียิ่งขึ้น

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า