News“เบี้ยผู้สูงอายุ” ควรจะเป็นแบบไหน?แบบถ้วนหน้าคือได้ทุกคนเพื่อความเท่าเทียม หรือแบบเจาะจงเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

“เบี้ยผู้สูงอายุ” ควรจะเป็นแบบไหน?แบบถ้วนหน้าคือได้ทุกคนเพื่อความเท่าเทียม หรือแบบเจาะจงเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่กำลังร้อนแรงกับการปรับเปลี่ยนเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ ผ่านกฎกระทรวงมหาดไทย หมวด 1 ข้อ 6 (4) จาก “ไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบํานาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใด ในลักษณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

 

ผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ  ยกเว้นผู้พิการและผู้ป่วยเอดส์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๘” [1]

 

เป็น “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด”[2] 

 

หรือพูดง่าย ๆ คือจากเดิมกำหนดว่า “ผู้ที่มีรายได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะจากการมีรายได้ประจำ หรือจากสวัสดิการอื่นใดอยู่แล้ว ไม่มีสิทธิ” เป็น “ผู้มีรายได้ไม่เพียงพอ หรือไม่มี” เลย ซึ่งเมื่อพิจารณาตามข้อความดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เงื่อนไขที่เปลี่ยนไปนั้น กว้างขึ้นมากกว่าเดิม ในกรณีที่บุคคลผู้ร้องขอเบี้ยยังชีพนั้นมีสวัสดิการอยู่แล้วแต่ไม่มากเพียงพอจนเข้าเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ

 

ทำไมต้องเปลี่ยน ?

นายนพดล  เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาชี้แจงในเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 66 โดนในตอนหนึ่งระบุว่า “กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพราะเป็นการซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น” [3] แต่คณะกรรมการกฤษฎีกา เล็งเห็นว่าประชาชนผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อการยังชีพสมควรได้รับสิทธิตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จึงควรได้รับสิทธินั้น และเสนอแนะให้มีการแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าว [3]

 

เมื่อพิจารณาถึงตัวกฎหมายจะเห็นได้ว่า เกณฑ์เดิมนั้นเป็นเกณฑ์ที่ออกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2552 ถูกใช้งานมาแล้วเกือบ 14 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลา 14 ปี ประเทศไทยของเรามีการพัฒนาเรื่องของรัฐสวัสดิการ หรือสวัสดิการแห่งรัฐมากขึ้นกว่าเดิมมาก จนเกิดความขัดแย้งในข้อกฎหมาย จนเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดั่งที่ปรากฏ

สวัสดิการ “ถ้วนหน้า” หรือ “เจาะจง”

การให้สวัสดิการแก่ประชาชนอาจแบ่งได้ 2 รู้แบบคือแบบ “ถ้วนหน้า” และแบบ “เจาะจง” ซึ่งทั้ง 2 แบบต่างก็มีข้อดีข้อเสียในตัวเอง โดยแบบถ้วนหน้า หมายถึงประชาชนคนไทยทุกคนจะได้รับสิทธินั้นอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ข้อดีคือ “ความเท่าเทียม” ที่ทุกคนได้รับอย่างทั่วถึง แต่ข้อเสียคือต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการที่สูง

แบบ “เจาะจง” คือประชาชน “เฉพาะกลุ่ม” เท่านั้นที่จะได้รับสิทธิดังกล่าว ข้อดีคือใช้งบประมาณที่น้อยกว่า แต่อาจเข้าไม่ถึงผู้ที่ควรจะได้รับสิทธิดังกล่าว

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีการกำหนดเกณฑ์รับสิทธิ คืออ้างอิงจากข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ เราพบข้อมูลน่าสนใจ คือ คนจนเข้าไม่ถึง มีเยอะเฉลี่ย 50% หรือประมาณเกือบ 2 ล้านคนในรอบแรก ซ้ำร้ายเวลาพูดถึงคนจนในประเทศที่มี 4-5 ล้านคนเท่านั้น แต่เราแจกไป 12 ล้านใบ แปลว่ามีคนที่ไม่ได้จนจริงแต่อยากได้ รัฐไม่สามารถสกรีนคนได้” [4]

ซึ่งนี่จะเห็นได้ว่า แม้จะใช้กฎข้อเดิม แต่รัฐก็ยังมีปัญหาในการคัดกรองผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลืออยู่ และในข้อเท็จจริง สังคมไทยเองก็มี “คนรวยแฝง” ในทางบัญชีเสมือนไม่มีรายได้ หรือทรัพย์สิน แต่นำทรัพย์สินไปฝากไว้ที่บุคคลอื่น

“หลงจู๊” คือนิยามศัพท์ที่มาจากภาษาจีน หมายถึงเจ้าของธุรกิจที่ไม่มีทรัพย์สินเป็นของตนเองในทางบัญชี แต่นำทรัพย์สินไปฝากไว้ที่ผู้อื่น พบในกลุ่มผู้ทำธุรกิจผิดกฎหมาย หรือนักธุรกิจที่ต้องการซุกซ่อนทรัพย์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการถูกธนาคารยึดทรัพย์ ด้วยการฝากทรัพย์สินไว้กับบุคคลที่ตนเองไว้วางใจ เช่น คนในครอบครัว คนสนิท คนใช้ คนขับรถ นั่นเอง

บุคคลกลุ่มนี้อาจสวมรอยเป็นคนจน เพื่อใช้สิทธิจากสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งนี่เป็นคำถามว่า สมควรหรือไม่ ?

“ความเท่าเทียม” บางครั้งก็สร้างความ “เหลื่อมล้ำ”

สวัสดิการบางอย่างเป็นสิ่งที่ควรมี ไม่ใช่เพียงเพื่อการสร้างความเท่าเทียมเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักประกันในการใช้ชีวิต เช่นสิทธิในการเข้ารับการรักษาตัวในยามเจ็บป่วย เช่น สิทธิในกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิเจ็บป่วยวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) เพื่อปกป้องชีวิตของประชาชนคนไทย ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าที่สุดของประเทศเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

แต่สวัสดิการทางเศรษฐกิจ เช่นเบี้ยยังชีพ สวัสดิการคนจน เบี้ยผู้สูงอายุ ควรจะเป็นสวัสดิการเพื่อให้ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ แก่ผู้ที่ต้องการ เพื่อให้คนเหล่านั้นมีความสามารถในการดำรงชีพ ได้รับโอกาสในการแสวงหาอนาคต เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไปพร้อม ๆ กับผู้อื่นที่มีรายได้เพียงพอ

 

การให้สวัสดิการถ้วนหน้าทางเศรษฐกิจที่ดี ควรคำนึงถึงหลักเศรษฐศาสตร์ประกอบ การนำเงินภาษีของคนทั้งประเทศไปช่วยเหลือคนจนให้มีกำลังในการดำรงชีพนั้น ในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นการสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจระดับรากหญ้า เมื่อคนจนมีกำลังซื้อ ก็จะมีการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ธุรกิจระดับรากหญ้า ธุรกิจชุมชน เช่นร้านขายของชำรายย่อย ร้านโชห่วยเกิดการหมุนเวียน และเติบโต ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

แต่การให้เงินช่วยเหลือต่อผู้ที่มีเหลือใช้นั้น ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรนอกจากการ “เก็บเงินส่วนตัว” ทำให้เงินหมุนเวียนจำนวนหนึ่งสูญหายไปจากระบบ ส่งผลร้ายในทางเศรษฐกิจเสียมากกว่าด้วยซ้ำ

การให้เงินสวัสดิการทางเศรษฐกิจแบบถ้วนหน้า อาจจะฟังดูดีเมื่อพูดว่า “เพื่อความเท่าเทียม” แต่ลองพิจารณาดูให้ดีว่า นี่เป็นความเท่าเทียม ที่กำลังทับถม “ความเหลื่อมล้ำ” ให้กว้างขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ?

 

ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

อ้างอิง
[1] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552, https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1797326.pdf
[2] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566, https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D192S0000000000300.pdf
[3] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, “ชี้แจงข่าวกรณีการแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ”, https://www.facebook.com/OCS.Krisdika/posts/pfbid0Saw3SuBWfxAhCAwTsUcY9kTVuTDft5RNGKzbvA32E5XfA3P8cwE5APmxLDAHuinKl
[4] ฐานเศรษฐกิจ, “นักวิชาการ TDRI วิเคราะห์ เหรียญสองด้าน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ”, https://www.thansettakij.com/business/economy/573477

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า