
วังจันทร์วัลเลย์ต้นแบบเมืองอัจฉริยะแห่งอนาคต
ในอนาคต แนวโน้มของประชากรโลกจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวนประชากรที่มากขึ้นย่อมหมายถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สูงขึ้น แต่ในทางกลับกันโลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาโลกร้อน ทำให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ต้องคิดคำนึงให้ถี่ถ้วน
เราจะแก้ปํญหาเหล่านี้กันได้อย่างไร ?
พัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัล คือทางออกที่นักวิชาการจากทั่วโลกพยายามจะนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อการช่วยบริหารจัดการคุณภาพชีวิตของผู้คนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นำไปสู่การพัฒนาแนวคิด สมาร์ทซิตี้ (Smart City) เมืองอัจฉริยะแห่งอนาคต นั่นเอง และในปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลก ตั้งเป้าที่จะพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในประเทศของตนเอง ทั้งในอเมริกา, ยุโรป, จีน, และในประเทศอาเซียนของเรา
สำหรับประเทศไทยนั้น การสร้างสมาร์ทซิตี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในหลายเมืองทั่วประเทศ แต่ไม่มีเมืองไหนที่มีการลงทุน และมุ่งเน้นการเป็นพื้นที่นวัตรกรรมมากเท่ากับ “วังจันทร์วัลเลย์” ซึ่งตั้งอยู่ในพิ้นที่ EEC
โครงการวังจันทร์วัลเลย์เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะพัฒนาพื้นที่โครงการฯ ให้มีระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ในระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยมีการนำแนวคิดเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ประกอบด้วย เมืองสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ, เศรษฐกิจอัจฉริยะ, พลเมืองอัจฉริยะ, การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ, การดำรงชีวิตอัจฉริยะ, ขนส่งเดินทางอัจฉริยะ และพลังงานอัจฉริยะ ซึ่งได้รับการรับรอง จาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)
มีเป้าหมายที่จะผลักดันพัฒนาผู้ประกอบการไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจแห่งอนาคตและอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) เพื่อเป็นกลไกในพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยนวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยี มีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในด้านงานวิจัยกับบริษัทเอกชน Start-up ผู้ประกอบการ และกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ เพื่อต่อยอดและแก้ปัญญา หรือ Pain Point ในการดำเนินธุรกิจ
พื้นที่ภายในวังจันทร์วัลเลย์แบ่งออกได้ 3 พื้นที่ประกอบด้วยพื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ (Education Zone), พื้นที่เพื่อการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone) และพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน (Community Zone) ภายใต้การสนับสนุนด้านสาธารณูปโภคที่ครบครัน ทั้งระบบไฟฟ้า, ประปา, ระบบโครงข่ายถนน, โครงสร้างพื้นฐานระบบโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต, ระบบการบริหารจัดการของเสียที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีการจัดการพื้นที่สีเขียวและภูมิสถาปัตย์อีกด้วย
โครงการวังจันทร์วัลเลย์แห่งนี้ มีความพร้อมในการสร้างสภาพแวดล้อมที่พร้อมมูล เอื้อต่อการเป็นเมืองอัจฉริยะ Smart City ที่เพียบพร้อม ที่ไม่เพียงจะเป็นต้นแบบชั้นนำของประเทศแล้ว ยังจะเป็นพื้นที่แห่งการรังสรรค์นวัตรกรรมใหม่ ๆ ที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่โลกแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อทั้งผู้อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
อ้างอิง :
[1] DW Shift, “Smart City: How do you live in a Smart City?”, https://www.youtube.com/watch?v=VRRPy-yEKRM
[2] EDAG Group, “Smart city: making cities more life enhancing – by people, for people.”, https://www.youtube.com/watch?v=XJVWQEr4Eao
[3] Digital Solution Partner, “NT Smart City”, https://www.youtube.com/watch?v=8IAF2mj-s3U
[4] Wikipedia, “Smart City”, https://en.wikipedia.org/wiki/Smart_city
[5] สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, “การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ”, https://www.depa.or.th/th/digitalmanpower/smartcity
[6] Wangchan Valley, “ปตท. พร้อมเปิด “โครงการวังจันทร์วัลเลย์” ผลักดันผู้ประกอบการ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น”, https://www.youtube.com/watch?v=0Ctmt3TpvgU