Articlesภาษีมูลค่าเพิ่มกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีมานาน

ภาษีมูลค่าเพิ่มกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีมานาน

ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีทางอ้อมในรูปแบบหนึ่งที่เก็บผ่านตัวสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ และเป็นรายได้สำคัญของประเทศส่วนใหญ่ในโลก เพราะเป็นภาษีที่ทุกคนใช้จ่ายผ่านเข้าถึงสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นในประเทศ ต่างจากภาษีบุคคลธรรมดาที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีรายได้ในระดับหนึ่ง จึงทำให้ภาพลักษณ์ของภาษีมูลค่าเพิ่มดูคล้ายๆ กับ “ภาษีประชาชน” ตามกระแสสังคมปัจจุบัน

 

            โดยภาษีมูลค่าเพิ่มมีในหลายประเทศ ส่วนในบางประเทศจะไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มแบบตรงตัว แต่จะมีภาษีในรูปแบบที่คล้ายคลึงกันที่เรียกกว่า “ภาษีขาย” แต่ทั้งหมดนี้ใช้หลักการเดียวกัน คือ การบวกมูลค่าภาษีเพิ่มเติมเข้าไปกับสินค้า และผู้บริโภคลำดับสุดท้ายเป็นผู้แบกรับภาระในส่วนนี้ ซึ่งจะมองว่า ผู้ที่บริโภคมากก็ควรที่จะใช้จ่ายและแบกรับภาระส่วนนี้มากกว่า จึงเป็นที่มาของแนวคิดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีขายในทั่วโลก

 

            มายาคติของ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ที่มักเข้าใจผิดอย่างรุนแรง คือ การเข้าใจว่าทุกสินค้าและบริการจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งที่จริงแล้วมีหลายสินค้าและบริการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีข้อยกเว้นสำหรับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในหลากหลายประเภท

 

            เช่น การให้บริการขนส่งในประเทศโดยอากาศยาน การให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในประเทศ กิจการที่เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน สินค้าทางการเกษตรที่ยังไม่ได้มีการแปรรูป สัตว์ อาหารสัตว์ รวมทั้งยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ ฯลฯ

 

            รวมทั้งมีข้อยกเว้นการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในกิจการทั่วไป ที่มีรายรับจากสินค้าและบริการไม่เกิน 1.8 ล้านบาท ต่อปี ซึ่งทำให้กิจการส่วนใหญ่ของประเทศที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทนั้น ไม่ได้มีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด ทำให้เห็นได้ชัดว่า ไม่ใช่ทุกสินค้าและทุกกิจการที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่ได้เข้าใจกันว่า “ทุกสินค้าและบริการจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม”

 

            และด้วยเหตุนี้ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่จะเก็บกับบริษัทนิติบุคคลทั่วไปที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี และกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ถูกยกเว้นการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้เป็นการเสียภาษีแบบถ้วนหน้าอย่างที่สังคมเข้าใจกัน เพราะหากเข้าถึงสินค้าและบริการจากตัวแทนที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้น ก็ไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด

 

            ขณะเดียวกัน สัดส่วนของประชากรที่ต้องยื่นภาษีบุคคลของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทางการที่ต้องยื่นภาษีและเสียภาษีตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ กับกลุ่มคนที่อยู่นอกระบบเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการที่ไม่ได้ยื่นภาษีและเสียภาษี ซึ่งกลุ่มที่อยู่นอกเศรษฐกิจแบบทางการถือว่ามีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทยที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจเงา” และหากเทียบกับจีดีพีในไทยนั้น ก็ถือว่ามีสัดส่วนที่สูงอยู่พอสมควร

 

            เพราะถึงแม้คนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทางการและระบบเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนกันจากการเข้าถึงสินค้าและบริการเดียวกัน แต่ความแตกต่างที่สำคัญคือ ในกลุ่มระบบเศรษฐกิจแบบทางการนั้นจะต้องยื่นภาษีบุคคลเพื่อจ่ายภาษีตามสัดส่วนรายได้ที่มีอยู่ รวมทั้งต้องเสียภาษีนิติบุคคลในกรณีที่ได้ประกอบกิจการทั่วไปภายในประเทศแบบเต็มๆ

 

            ในขณะที่กลุ่มระบบเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการ นอกจากจะไม่ได้เสียภาษีบุคคลและนิติบุคคลเพราะไม่ได้มีการยื่นภาษีเพื่อจ่ายภาษีแล้ว หากมีการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่มีข้อยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ยังไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ซึ่งในการยื่นภาษีนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียภาษีหลังการยื่นภาษีโดยอัตโนมัติเสมอไป เพราะหากมีรายได้ต่ำกว่าที่กำหนด ก็ไม่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้แต่อย่างใด

 

             จึงทำให้มีหลายคนมองว่า การไม่ยื่นภาษีบุคคลและจ่ายเพียงภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นการเอาเปรียบคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทางการที่ต้องจ่ายมากกว่าในสัดส่วนเดียวกัน ในขณะที่มีหลายคนมองว่า ถึงแม้ว่าจะยื่นภาษีไปก็ไม่ได้จ่ายภาษีบุคคล เพราะมีรายได้น้อยเกินกว่าที่จะต้องเสียภาษีบุคคล อีกทั้งยังมีข้อกังขาถึงการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการนำไปใช้ของภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นที่มาของวาทกรรมอย่าง “ภาษีของประชาชน”

 

            ที่จริงแล้วภาษีบุคคลและภาษีนิติบุคคลก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน โดยแม้ว่าภาษีมูลค่าเพิ่มจะเป็นภาษีที่มีบทบาทสูงที่สุดจากจำนวนปริมาณเม็ดเงินที่ได้เก็บไว้ แต่การให้ความสำคัญกับ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” แล้วไปด้อยค่าภาษีทางตรง ด้วยการไม่ให้ความสำคัญทั้งภาษีบุคคลและภาษีนิติบุคคล ก็ถือว่า เป็นมายาคติหนึ่งที่สังคมส่วนหนึ่งกำลังเผชิญอยู่

 

            สุดท้ายนี้การจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้นั้น บทบาทของภาครัฐที่ผ่านการลงทุนในโครงการของรัฐ และการสนับสนุนกลุ่มเปราะบางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นถือได้ว่ามีความสำคัญ แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมคือ การร่วมด้วยช่วยกันของภาคประชาชน และการเข้าใจบทบาทหน้าที่ของพลเมืองในประเทศประชาธิปไตยร่วมกัน เพราะในระบบของประเทศประชาธิปไตยที่เข้มแข็งนั้น

 

“ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งในประเทศอย่างเดียว”

 

โดย ชย

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า