Newsความไม่จำเป็นของ ‘Blockchain’ ในโครงการ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ของรัฐบาล

ความไม่จำเป็นของ ‘Blockchain’ ในโครงการ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้แถลงถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งบางส่วนนั้น มีความน่าสนใจ เช่นการใช้เม็ดเงินจำนวน 1 แสนล้านเพื่อการสร้าง “กองทุนเพิ่มขีดความสามารถ” เป็นการตอบสนองต่อความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ในการสร้างแรงกระตุ้นด้านอุปทาน (Supply Side), สามารถใช้อุดหนุนในนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ที่พรรคเพื่อไทยใช้ในการหาเสียงเอาไว้เองได้ และสร้าง Growth Engine เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศไทยได้พร้อม ๆ กัน

 

อย่างไรก็ดี ในตอนหนึ่งของคำแถลงการณ์ของนายเศรษฐาเอง ได้พูดถึง “ระบบ Blockchain” เอาไว้ว่า

 

“เราจะพัฒนาต่อยอดระบบเป๋าตัง ให้สามารถทำงานโดยมี Blockchain อยู่ด้านหลังเป็นโครงสร้างพื้นฐาน” [1]

ซึ่งในส่วนนี้นั้น หากเราพิจารณาถึงระบบการเงินในประเทศไทยของเรา ที่มีความเป็นดิจิทัลอยู่แล้วในระดับหนึ่ง เนื่องจากภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คนไทยเรามีความคุ้นเคยกับการจ่ายเงินด้วยการสแกนจ่ายไปแล้วจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในครั้งนั้น 



แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เงินทั้งหมดในระบบดิจิทัลนั้นเป็นเพียงตัวเลขลอย ๆ ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่แท้จริง ไม่มีที่มาที่ไปที่แน่ชัด เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนตัวเลขในระบบของธนาคาร โดยที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องเป็นผู้ค้ำประกันความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของตัวเอง

 

เทคโนโลยี Blockchain ดูจะเป็นคำตอบที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงิน (Financial Technology หรือ Fin-Tech คาดหวัง เนื่องด้วยเทคโนโลยี Blockchain ทำให้สามารถระบุที่มาที่ไปของ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ได้ ยากต่อการปลอมแปลง ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือในตัวเอง

 

ในอดีตที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เอง ก็มีการออกแนวทางการกำกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล [2] รวมไปถึงแนวทางการใช้ “Stablecoin” ที่มีการผูกไว้กับเงินบาท และเดินหน้าพัฒนา “สกุลเงินดิจิทัลระดับประชาชน (Retail Central Bank Digital Currency: Retail CBDC)” มาตั้งแต่ พ.ศ. 2564 [3] เช่นกัน และได้ทำการทดลองการโอนเงินสกุลดิจิทัลในวงจำกัด ทั้งภายในประเทศ [4] และระหว่างประเทศ [5] ไปแล้วด้วย

 



อย่างไรก็ตาม การนำบล็อกเชนเข้ามาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ตของรัฐบาล ได้สร้างคำถามว่า จะเป็นการสร้างระบบการเงินที่แตกต่างไปจากระบบการเงินที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันหรือเปล่า ?

 

ซึ่งเมื่อมองจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 ต.ค. 66 ซึ่งระบุว่าในเดือนสิงหาคม 66 ประเทศไทยมีปริมาณเงินในความหมายกว้าง (รวมเงินสด, เงินรับฝาก และตราสารหนี้) อยู่ถึง 24.9 ล้าล้านบาท และคาดการณ์ว่าในเดือนกันยายนมีถึง 25 ล้านล้านบาท [6] 

 

หรือถ้ามองเพียงปริมาณธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ในระบบ ก็มีมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านบาท [6] ซึ่งไม่ว่าจะพิจารณาตัวเลขไหน ก็ล้วนแต่มูลค่าเงินดิจิทัล 5 แสนล้านบาท [1] ที่รัฐบาลพยายามจะเติมเข้ามาในระบบเศรษฐกิจของประเทศเกินเท่าตัวทั้งสิ้น

 

เงินดิจิทัลวอลเล็ตที่เข้ามาใหม่ จะอยู่ร่วมกับเงินที่มีอยู่แล้วในระบบอย่างไร ? จึงเป็นอีกหนึ่งคำถามที่ยังไม่มีใครตอบ

 

ด้วยข้อจำกัดของเงื่อนไขที่นายเศรษฐากล่าวออกมาด้วยตัวเอง “จำกัด” เงื่อนไขของการใช้เงินให้อยู่เพียงการซื้อสินค้า แต่ไม่สามารถใช้เพื่อการซื้อบริการ และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายได้นั้น ก็จะยิ่งทำให้ตัวเงินดิจิทัลวอลเล็ต มีลักษณะที่มีสภาพคล่องต่ำ (Low Liquidation) และมีความแตกต่างกับเงินในระบบที่มีอยู่แล้วกว่า 25 ล้าน ๆ มากขึ้นไปกว่าเดิม

 

นอกจากนี้ ภายหลังจากที่เงินดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 1 หมื่นบาทที่ประชาชนได้รับ หลังจากที่ประชาชนได้จ่ายมันออกไปแล้ว มันจะไปไหนต่อ ? เพราะประชาชนจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการอาจจะใช้มันเพื่อการซื้อสินค้าในหมู่ผู้ประกอบการอีกครั้ง แต่ผู้ประกอบการจะคืนเงินจำนวนนี้ให้แก่ประชาชนคนทั่วไปได้อย่างไร ?

 

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจ ประชาชนคนทั่วไปจ่ายเงินเพื่อซื้อหาสินค้าและบริการ และทำงานเป็นลูกจ้าง รับค่าแรง/เงินเดือนเป็นผลตอบแทนจากผู้ประกอบการ คำถามคือ ผู้ประกอบการจะสามารถชำระ “หนี้ค่าจ้าง” ให้แก่ลูกจ้างได้หรือไม่ ? 

 

และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการให้สามารถชำระหนี้ค่าจ้างด้วยเงินดิจิทัลวอลเล็ตได้ แต่คำถามก็คือ ในเมื่อได้รับผลตอบแทนที่มีมูลค่าเท่ากัน จะมีลูกจ้างสักกี่คนที่ยอมรับค่าจ้างที่เป็นดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีสภาพคล่องต่ำกว่า มีข้อจำกัดมากกว่าเงินปกติกัน ?

 

ดูเหมือนว่าสุดท้ายแล้ว เงินดิจิทัลวอลเล็ตจะไปมีจุดจบที่ต้นทางของห่วงโซ่อุปทาน และรัฐบาลก็จะถูกบังคับให้ชำระเงินสด เพื่อการแลกคืนเงินดิจิทัลวอลเล็ต เท่ากับว่าเงินจำนวนนี้จะไม่เกิดการหมุนเวียนมากนักอย่างที่รัฐบาลคาดคิด

 

รัฐบาลจึงควรลดเงื่อนไขความเป็น Blockchain ของโครงการแจกเงินดิจิทัลในครั้งนี้ลง เพื่อให้เงินที่แจกเป็นเนื้อเดียวกันกับระบบการเงินของประเทศ และจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้มากกว่า

 

โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

อ้างอิง
[1] สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ‘เศรษฐา’ แจงแพคเกจโครงการแจกเงินดิจิทัล ไม่ได้ทุกคน และจ่ายผ่าน ‘เป๋าตัง’, https://www.facebook.com/thestructure.live/posts/pfbid029jstW1jCi93Kgdxkyfwb6xZbdibnXj54jFZEoJykU2Kws4phuGee38RXuFPsVsL9l
[2] เอกสารที่ ธปท.ฝทง.ว. 546/2564 เรื่องนำส่งแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการให้บริการทางการเงิน, https://www.bot.or.th/content/dam/bot/fipcs/documents/FOG/2564/ThaiPDF/25640101.pdf
[3] แนวนโยบายกำกับดูแลคริปโทเคอร์เรนซีประเภท Stablecoins, https://www.bot.or.th/th/news-and-media/news/news-20210319-2.html 

[4] ความคืบหน้าการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (Retail CBDC), https://www.bot.or.th/th/news-and-media/news/news-20220805.html 

[5] ผลการทดสอบการนำสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางมาใช้สำหรับการโอนเงิน ระหว่างประเทศภายใต้โครงการ mBridge และการดำเนินโครงการในระยะถัดไป, https://www.bot.or.th/th/news-and-media/news/news-20221026.html 

[6] ปริมาณเงินและองค์ประกอบ, https://app.bot.or.th/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=7&language=TH 




เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า