Newsศีลข้อ 3 กับความหมายที่กว้างกว่าแค่ เรื่องเพศสัมพันธ์

ศีลข้อ 3 กับความหมายที่กว้างกว่าแค่ เรื่องเพศสัมพันธ์

ถือเป็นข่าวดราม่าประเด็นร้อนในโลกโซเชียลส่งท้ายปี เมื่อมีการเปิดเผยถึงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างนักร้องหญิงท่านหนึ่ง กับผู้ชายซึ่งเป็นแฟนของเพื่อนของเธอ ทำให้เกิดข้อวิจารณ์มากมายหลายประเด็น รวมทั้งมีการนำคำพูดของเธอ ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแฟนหลายครั้งของเธอ โดยเธอระบุว่า ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร

ชาวโซเชียลจำนวนหนึ่ง ระบุว่าอย่างไรเธอก็ทำผิด ศีลข้อ 3 ใน ‘ศีล 5’ กล่าวว่า การมีเพศสัมพันธ์เป็นการกระทำที่ผิดศีล บางรายระบุถึงขั้นว่า การไม่รักนวลสงวนตัว เป็นการกระทำที่ผิดศีลข้อ 3 ผิดศีลธรรม ทำให้ชาวโซเชียลอีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วย ตั้งคำถามว่า การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องผิดอย่างไร ?

แน่นอนว่า การมีเพศสัมพันธ์ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ คนทุกคนล้วนแต่ถือกำเนิดขึ้นได้จากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ของตน นอกจากนี้การมีเพศสัมพันธ์สะท้อนถึงอัตราการเกิด สะท้อนถึงกำลังคน และจำนวนทรัพยากรมนุษย์ของชาติในอนาคต

ในปัจจุบันโลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตสังคมผู้สูงอายุ (Population Ageing) เนื่องจากอัตราการเกิดและการเสียชีวิต ไม่มีความสมดุลกัน อีกทั้งการมีจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น หมายถึงภาระเชิงงบประมาณของประเทศที่จะสูงขึ้นเพื่อการให้การดูแลผู้สูงอายุเหล่านี้ ในขณะที่จำนวนประชากรคนรุ่นใหม่ ที่จะเข้ามาเป็นกำลังการผลิตให้กับประเทศ สร้างภาษีเข้าสู่รัฐกลับน้อยลง

 

นักวิชาการบางส่วนในหลายประเทศ จึงสนับสนุนให้รัฐออกมาตรการส่งเสริมให้ประชากรคนรุ่นใหม่ แต่งงานและมีบุตรให้มากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านมาตรการการให้เงินสนับสนุนคู่สมรสใหม่ หรือมาตรการลดอายุที่อนุญาตให้ประชากรสามารถสมรสได้อย่างถูกกฎหมายลง

 

และเมื่อเรามองย้อนกลับไปมองในหลายวัฒนธรรมของกลุ่มชนเผ่าที่อยู่ในสภาวะแร้นแค้น เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมของกลุ่มคนเหล่านี้มีความเสรีทางเพศอย่างมาก ยินยอมให้เด็กสาวในเผ่าสามารถมุดกระโจมของนักเดินทางผู้มาเยือน และมีเพศสัมพันธ์แบบชั่วข้ามคืนได้ ซึ่งทั้งหมดนี้มีเหตุผลเพียงอย่างเดียวคือการเพิ่มจำนวนประชากร เพิ่มกำลังคน เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของชนเผ่านั่นเอง

 

สำหรับวัฒนธรรมอินเดียในยุคพุทธกาลเองก็ดูจะมีความเปิดกว้างทางเพศไม่น้อยเช่นกัน ตัวอย่างเช่นในพระวินัยปิฎก ในมุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๖ กล่าวถึงหญิงนางหนึ่งพยายามยั่วยวนพระภิกษุสงฆ์ ถึงขั้นเปลื้องผ้าเปลือยกาย เพื่อเชิญชวนให้ภิกษุรูปนั้นมาเป็นสามีของตน แต่ภิกษุไม่รับ เทศนาสั่งสอนจนนางสำนึกตัว กราบขอโทษภิกษุ แสดงความเลื่อมใสในพระศาสนาแทน [1]

 

อย่างไรก็ดี เมื่อความทราบถึงชนหมู่มาก พุทธบริษัททั้ง 4 กล่าวโทษภิกษุที่ไม่ระวังตน เปิดโอกาสให้สตรียั่วยวนตนเอง จนเป็นที่มาของการมีพุทธบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุอยู่ร่วมกับคนเพศหญิงในเวลาต่อมา [1] 

 

นอกจากนี้ ในกายสังสัคคสิกขาบท ปรากฏพุทธวินิจฉัยเรื่องที่สตรีกลุ่มหนึ่ง รวมตัวกันโอบภิกษุอีกด้วย แต่ภิกษุดังกล่าวมิได้มีความหวั่นไหว หรือยินดีในการสัมผัส พระพุทธองค์จึงทรงวินิจฉัยว่าภิกษุรูปนั้นมิได้ต้องอาบัติ [2]  

 

และถ้าพิจารณาถึงประวัติของอุบาสก อุบาสิกาคนสำคัญในยุคพุทธกาล เราจะเห็นได้ว่านางวิสาขา ซึ่งบรรลุโสดาบันตั้งแต่อายุ 7 ปี ในเวลาต่อมาเธอก็สมรสครองเรือน [3] และมีบุตรชายหญิงมากถึง 20 คนเลยทีเดียว [4] 

 

จากเรื่องราวที่ปรากฏในพระไตรปิฎกข้างต้น จะเห็นได้ว่า สังคมอินเดียยุคพุทธกาล มีความเปิดกว้างทางเพศ และแม้ฆราวาสระดับโสดาบัน ก็สามารถแต่งงานและมีบุตรได้ จึงอาจสรุปได้ว่า ศีลข้อ 3 มิได้เห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ผิดบาปแต่อย่างใด

แล้วความหมายที่แท้จริงของศีลข้อ 3 คืออะไร ?

 

ศีลข้อ 3 มีถ้อยความตามภาษาบาลีว่า กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ระบุไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมระบุว่า หมายถึง “เว้นจากการประพฤติผิดในกาม, เว้นจากการล่วงละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน “ อีกทั้งยังมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “to abstain from sexual misconduct” [5]

ซึ่งนิยามศัพท์ดังกล่าว มิได้มีความหมายในทางที่ห้ามปรามการมีเพศสัมพันธ์ มี แต่หมายถึงการห้ามพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่นการจีบเพศตรงข้ามที่มีแฟน หรือ สามี/ภรรยาแล้ว การล่วงเกินคุกคามทางเพศทุกรูปแบบนั่นเอง

 

ซึ่งในหลายครั้งที่มีข่าวคดีความอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากความหึงหวงของผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจากการถูกผู้อื่นเล่นหูเล่นตากับแฟนของตนเอง หรือการคบชู้นอกใจ ซึ่งนี่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นผลกรรมของผู้ถูกกระทำที่เกิดขึ้นจากการล่วงละเมิดศีลข้อ 3 นั่นเอง (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการก่ออาชญากรรมดังกล่าวเป้นเรื่องที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน)

 

ดังนั้นความหมายที่แท้จริงของศีลข้อที่ 3 จึงไม่ได้หมายความว่าห้ามการมีเพศสัมพันธ์ แต่ห้ามความประพฤติทางเพศที่ไม่เหมาะสมทั้งปวง

 

ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

อ้างอิง
[1] พระวินัยปิฎก มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๖, https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=7250&Z=7351
[2] พระวินัยปิฎก กายสังสัคคสิกขาบท, https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=01&siri=39
[3] พระสุตตันตปิฎก เรื่องนางวิสาขา, https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=14&p=8
[4] พระวินัยปิฎก อนิยต สิกขาบทที่ ๑, https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=631&p=1
[5] พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, https://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=238 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า