
หยุดบิดเบือนข้อมูล อ้น-ทิพานันชี้ประยุทธ์ยื่นบัญชีทรัพย์สิน หากรวมครั้งล่าสุด ถือเป็นครั้งที่ 3 แล้ว มากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เสียอีก
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 66 นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว ชี้แจงการเปิดเผยทรัพย์สินของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่าได้มีการเปิดเผยทรัพย์สินมาแล้ว 2 ครั้ง และจะเปิดเผยครั้งที่ 3 ภายหลังการพ้นจากหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ “ภายในหนึ่งเดือน”
อีกทั้งยังระบุด้วยว่า ตามกฎหมายระบุให้นายกรัฐมนตรีแสดงทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช) เมื่อเข้ารับตำแหน่ง และเมื่อพ้นจากตำแหน่ง แต่ถ้าเป็นการรับตำแหน่งเดิมต่อเนื่องภายใน 1 เดือน ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน โดยอ้างอิงถึง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (พรป. ปปช.) พ.ศ. 2561 มาตรา 105 ซึ่งระบุว่า
“ในกรณีตาม (๑) ถ้าพ้นจากตําแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเดิมหรือตําแหน่งใหม่
‘ภายในหนึ่งเดือน’ ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตําแหน่งและกรณีเข้าดํารงตําแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน”
ซึ่งหมายความว่าพลเอกประยุทธ์จำเป็นจะต้องแสดงทรัพย์สินเพียง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกคือเมื่อเข้ารับตำแหน่ง ในปี 2557 และครั้งที่ 2 คือเมื่อพ้นจากตำแหน่ง ภายหลังจากที่มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่เสร็จสิ้น
อย่างไรก็ดี พลเอก ประยุทธ์ สมัครใจยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ปปช ภายหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 ทั้งที่กฎหมายไม่ได้ระบุให้ทำ ซึ่งเลขา ฯ ปปช ชี้แจงเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 65 ว่า “นายกฯ ก็ยื่นมาทุกบัญชีอยู่แล้ว ซึ่งยื่นเกินมาด้วยซ้ำไป” แต่ ปปช ไม่เปิดเผยเนื่องจากตามกฎหมายมิได้ระบุให้ยื่น ปปช จึงไม่มีอำนาจเปิดเผย จึงไม่ใช่คำสั่งห้ามของพลเอก ประยุทธ์แต่อย่างใด
สำหรับการแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ปปช ของพลเอกประยุทธ์ครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นภายหลังการพ้นจากตำแหน่ง หรือเมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เสร็จสิ้น และได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตนตามที่รัฐธรรมนูญระบุเอาไว้แล้วภายใน 90 วัน ตามที่ พรป. ปปช. ระบุเอาไว้ในมาตรา 105 วรรค 3(1) และต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปโดยเร็วภายใน 30 วันนับแต่วันที่ครบกําหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว
“การบิดเบือนข้อมูลให้ผู้อื่นหลงเชื่อ เป็นการกระทำที่ไม่เคารพผู้อื่น ผิดกฎหมาย อีกทั้งเป็นการเอาเปรียบจากความรู้ที่ไม่ทั่วถึงของผู้อื่น ซึ่งอาจจะมาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น พร้อมเชื่อข้อมูลผิดๆ หรือ ไม่รู้วิธีการค้นหาความจริง หรือ ไม่มีเวลาตรวจสอบความจริง” นางสาวทิพานันระบุ