ทำไม EV เพิ่งจะมาอิน ทั้งที่จริง เกิดมาแล้วเป็นร้อยปี
ปัจจุบันรถ Tesla อาจจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือรถ EV ที่โด่งดังที่สุดยี่ห้อหนึ่งของโลก แต่จะบอกว่า Tesla เป็นรถ EV คันแรกก็ไม่ถูกนัก
.
รถ Electrobat ซึ่งเป็นผลงานของเฮนรี มอรริส (Henry G. Morris) และ เปโดร ซาโลม (Pedro G. Salom) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันจากเมืองฟิลาเดียเฟีย รัฐเพนซิลเวเนียต่างหาก ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน EV คันต้น ๆ ของโลก
.
ในขณะเดียวกัน ในระยะเวลาไม่กี่ปีต่อมา วอลเตอร์ เบอร์ซี (Walter Bersey) ก็ได้ประดิษฐ์ EV ขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกันในประเทศอังกฤษ แถมยังผลิตและนำมันมาให้บริการเป็นรถแท็กซี่ในเมืองลอนดอนได้อีกด้วย โดยชาวเมืองชื่นชอบรถของเบอร์ซีแถมยังตั้งและนิยมเรียกด้วยชื่อเล่นว่ารถ Hummingbird อีกต่างหาก
.
ประเด็นคือ ทั้ง Electrobat และ Hummingbird และเรื่องราวของรถทั้งสองนี้ไม่เพียงแต่จะไม่เป็นที่รู้จัก แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ รถทั้งสองคันนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อช่วงปีค.ศ. 1890s คือเป็นเวลาร้อยกว่าปีมาแล้ว!
.
ถูกต้องแล้ว! รถ EV นั้นไม่ใช่ไอเดียหรือความคิดที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน เพราะรถ Electrobat และ Hummingbird นั้นคือหลักฐานว่ารถ EV ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นไอเดียมีมานานแล้ว และสามารถถูกผลิตออกมาใช้จริงได้อีกด้วย คำถามจึงมีว่าถ้ารถ EV มีมานานเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว เหตุใดถึงเพิ่งมาแพร่หลายและเพิ่งมาอยู่บนท้องถนนได้ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้?
.
อย่างแรกที่หลายคนอาจตอบได้ว่าเพราะ “เทคโนโลยี” แต่ประเด็นก็ไม่ได้อยู่เพียงเท่านี้ เพราะในสมัยนั้นก็มีการประดิษฐ์รถยนต์ EV จนใช้งานได้จริง ๆ แล้ว ดังนั้นสาเหตุที่รถ EV ในยุคแรกเริ่มไม่แพร่หลายนั่น ส่วนหนึ่งก็เพราะเทคโนโลยี แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะประเด็นอื่น ๆ เช่น ประสิทธิภาพการใช้งาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
.
เพราะในสมัยนั้นการเปลี่ยนส่วนประกอบอื่น ๆ ของรถ เช่น ยางรถยนต์นั้น ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงอยู่ รถ EV ในยุคแรกที่มีน้ำหนักมาก จึงทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มค่ากับผู้ใช้หรือผู้ให้บริการ
.
แถมเมื่อปีค.ศ. 1908 บริษัท ฟอร์ด ก็ได้ผลิตรถ Ford Model T ขึ้นมา เป็นรถยนต์ที่พลังงานน้ำมันซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าและคุ้มค่ามากกว่ารถ EV ในสมัยนั้น และเป็นรถยนต์คันแรกที่ผลิตออกมาได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีราคาที่ผู้คนสมัยนั้นจับต้องได้ หลังจากนั้น รถยนต์พลังงานน้ำมันจึงเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น และมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มากขึ้น อีกทั้งยังมีการขุดค้นพบบ่อน้ำมันในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาถูกลงและสามารถหาได้ง่ายมากขึ้น รถ EV จึงค่อย ๆ หมดความสำคัญลงเรื่อย ๆ
.
แต่ด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งนั้นจนถึงยุคปัจจุบัน เราจึงได้เห็นการกลับมาของรถ EV ที่สามารถพัฒนาประสิทธิภาพเทียบเท่าได้กับรถยนต์พลังงานน้ำมันทั่วไปที่อยู่ในตลาด แถมประเด็นด้านความคุ้มค่าก็กำลังค่อย ๆ มีการพัฒนามาเทียบเท่าอยู่เรื่อย ๆ
.
รวมไปถึงการที่ผู้คนทั่วโลกในปัจจุบัน เริ่มเล็งเห็นถึงผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และเล็งเห็นถึงความไม่ยั่งยืนในการต้องพึ่งพาน้ำมัน รถ EV จึงค่อย ๆ ได้รับความสนใจมากขึ้น จนมีการพัฒนาเป็นรถยนต์ที่ใช้งานได้จริงมากมายในยุคปัจจุบัน
บทเรียนจากรัฐสวัสดิการของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย: สวัสดิการจะดีได้ ประเทศต้องมีเงิน
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม