
เงินเฟ้อไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับทั่วโลก อยู่อันดับที่ 20 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน
สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับทั่วโลก ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อยู่อันดับ 20 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน โดยมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.79 โดยชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มีปัจจัยสำคัญจากการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นเพียงร้อยละ 5.03 ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ทางด้านสินค้ากลุ่มอาหารสดหลายชนิดเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 ก็มีราคาลดลง ทั้งข้าวสาร(ข้าวเจ้า) เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ผักสด และผลไม้สด นอกจากนี้ สินค้าในกลุ่มเครื่องประกอบอาหารราคาก็ลดลง โดยเฉพาะน้ำมันพืช ทั้งน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง จากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายรายการที่คาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับฐานราคาในเดือนมีนาคม 2565 ค่อนข้างสูง รวมทั้งการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มลดลงตามอุปสงค์โลก และการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด จะส่งผลต่อการขยายตัวเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง
หากเทียบกับทั่วโลกพบว่า อัตราเงินเฟ้อประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 20 จาก 134 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข โดยต่ำเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์ tradingeconomics) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ 2.0 – 3.0 ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน