“คลัง” ปักหมุด 10 ปี ไทยเข้าสู่งบสมดุล ภาษีอีคอมเมิร์ซ-ภาษีขายหุ้น-ภาษีคริปโตฯ เป็นฐานรายได้ใหม่ของรัฐ
“คลัง” ปักหมุด 10 ปี ไทยเข้าสู่งบสมดุล หลังเบิกจ่ายหนักรับมือโควิด-19 ตลอด 2 ปี เดินเครื่องเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บ ฟุ้งภาษีอีคอมเมิร์ซ-ภาษีขายหุ้น-ภาษีคริปโตฯ เป็นฐานรายได้ใหม่ของรัฐ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการทางวิชาการด้านงบประมาณ : OECD Asian Senior Budget Officials Meeting ว่า กระทรวงการคลังได้หารือและชี้แจงถึงแนวทางการจัดทำงบประมาณในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีความเห็นตรงกันกับปลัดกระทรวงการคลัง ออสเตรเลีย ว่า ที่ผ่านมามีการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจ และหลังจากนี้ก็จำเป็นจะต้องมีการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลที่ลดลง เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับฐานะการคลัง แต่จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงแนวทางการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ โดยในส่วนของประเทศไทย ตั้งเป้าหมายที่จะจัดทำงบประมาณแบบสมดุลให้ได้ภายใน 10 ปี หรือภายในปีงบประมาณ 2575
ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับ 21 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม พบว่า ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณสูงมากในการรับมือกับโควิด-19 ส่วนของไทยมีการใช้งบประมาณอยู่ในระดับกลาง ๆ ซึ่งหลังจากนี้ต้องมีการปรับปรุงการใช้จ่ายงบประมาณ จากการเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการชำระหนี้
ดังนั้น การจัดทำงบประมาณหลังจากนี้ก็จะต้องมุ่งเน้นสิ่งสำคัญของประเทศ 3 เรื่อง คือ 1. การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ที่ต้องมีการจัดงบประมาณที่ให้ความสำคัญกับโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 2. การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้มากขึ้นในกระบวนการของภาครัฐและเอกชน 3. ลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“คลังได้ชี้แจงกับ OECD ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2566 จะขยายตัวได้ 3-4% โดยคลังคาดว่าจะโตได้ 3.8% ซึ่งมาจากการลงทุนที่มีความต่อเนื่อง เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ และชดเชยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่มีการจัดสรรงบประมาณในโครงการลงทุนได้น้อย เพราะต้องเอางบประมาณไปดูแลการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งที่ประชุมก็เห็นตรงกันว่าการขาดดุลงบประมาณหลังจากนี้ต้องลดลงไปเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับฐานะทางการคลัง ส่วนจะได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพและการจัดเก็บรายได้ โดยเราเองตั้งเป้าหมายภายใน 10 ปี ก็น่าจะเข้าสู่งบสมดุลได้ คงค่อย ๆ ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวว่า การปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ของไทย หลัก ๆ มาจาก 3 ทาง ได้แก่ 1. การปฏิรูปการจัดเก็บภาษี 2. รายได้จากรัฐวิสาหกิจ และ 3. รายได้จากการกู้เงิน โดยที่ผ่านมาคลังก็ได้เริ่มดำเนินการผ่านการจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิส จากผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่างประเทศ การจัดเก็บภาษีขายหุ้น ซึ่งหลายประเทศก็เก็บกันหมด การจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีคริปโตเคอเรนซี่ รวมถึงภาษีมรดก ซึ่งตรงนี้จะเป็นฐานรายได้ใหม่ของรัฐบาล
TikTok ลุยตลาด ASEAN หลังเตรียมลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อแปลงผู้ใช้งานไปสู่การสร้างรายได้
ตุลาการอาจ ทำผิดจริยธรรมเสียเอง ตุลาการชี้ก้าวไกลถูกยุบทำให้ได้เงินบริจาค 20 ล้าน ‘วิโรจน์’ ชี้อาจผิดจริยธรรมข้าราชการตุลาการ
กบฏคนรุ่นใหม่ใน รทสช. ‘วาสนา’ เผยมีความพยายามจากทีมคนรุ่นใหม่ 13-14 คน ที่จะยึดอำนาจจากพีระพันธุ์ เพื่อปรับปรุงพรรค
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม