“สุริยะ” ถก METI ย้ำสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น เน้นการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ร่วมกัน พร้อมสานต่อความร่วมมือ 3 ด้าน ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล-ขับเคลื่อนนโยบาย BCG-หนุนความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทาน
“สุริยะ” ลุยถก METI ย้ำสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น สานต่องาน 3 ประเด็นหลักทั้งพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ขับเคลื่อนนโยบาย BCG และ หนุนความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทาน ย้ำการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ร่วมกัน โชว์ศักยภาพพื้นที่ พร้อมดึงลงทุน Smart Park ระยอง
วันนี้ (17 ม.ค.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (MIND) เผยผลการหารือกับนายนิชิมุระ ยาสึโทชิ (Mr.Nishimura Yasutosh) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ระหว่างเยือนประเทศญี่ปุ่น วันที่ 11-15 ม.ค. ที่ผ่านมา ถึงความร่วมมือในหลายด้าน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่นักลงทุนญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย อีกทั้งเมื่อปลายปี 2565 ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมกันปรับแนวคิดจาก “Connected Industries” มาสู่ความร่วมมือแบบ Co-Creation for Innovative and Sustainable Growth ที่เน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอีกด้วย
โดยประเด็นการดำเนินโครงการพัฒนาทักษะบุคลากร ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือ Cooperation Framework on Human Resource Development for Realizing Industry 4.0 จะขับเคลื่อน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1. แนวทางการร่วมกันพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม 2. การขับเคลื่อนนโยบาย BCG ในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3.การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานผ่านแนวคิดการร่วมสร้าง (Co-Creation)
นอกจากนี้ยังได้หารือในประเด็นการลงทุนภายใต้กรอบ AJIF (Asia-Japan Investing for the Future) มุ่งเน้นความเชื่อมโยงระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศต่าง ๆ และได้เน้นย้ำถึงความพร้อมของประเทศไทยในการต้อนรับนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ที่กำกับดูแลโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล รวมทั้งสิ้น 67 แห่ง ใน 16 จังหวัด พื้นที่รวมเกือบ 2 แสนไร่ (ประมาณ 320 ตารางกิโลเมตร) เป็นนิคมฯที่ทันสมัย และมีเงินลงทุนสะสมรวมกว่า150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 1 ล้านราย
ทั้งนี้ได้เชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เพราะเป็นการลงทุนด้วยการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (Total Solution Center : TSC) ที่จะคอยให้บริการและดูแลนักลงทุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยปัจจุบัน กนอ. อยู่ระหว่างการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ในพื้นที่จังหวัดระยอง มีพื้นที่ประมาณ 1,400 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม New S-Curve ในพื้นที่ EEC ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น ปัจจุบันก่อสร้างแล้วประมาณ 40% และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567
กนอ. ยังสนับสนุนการใช้พลังงานไฮโดรเจนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park พร้อมกันนี้ยังได้เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) ซึ่งเป็นการลงทุนบนพื้นที่ถมทะเลเพื่อใช้เป็นท่าเรือสินค้าเหลว รวมทั้งคลังสินค้าหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกด้วย
“การประชุมหารือร่วมกับ METI ผมย้ำถึงการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) อย่างรอบด้านกับญี่ปุ่น และหารือแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ในมิติ เศรษฐกิจที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาคและภูมิภาค สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของทั้งสองฝ่าย” นายสุริยะ กล่าว
นอกจากนี้ นายสุริยะยังมีโอกาสได้พบผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Daikin Co.,Ltd. ที่นครโอซาก้า เพื่อหารือถึงการพัฒนาบริษัท Daikin ในประเทศไทย ซึ่งบริษัท Daikin ระบุว่า มีแผนที่จะพัฒนาบริษัท Daikin ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เป็นฮับของอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานแรงงานไทยได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน โดยในปีนี้บริษัท Daikin ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่ทำกำไรสูงสุดเป็นอันดับสองของญี่ปุ่น รองจากบริษัทโซนี่อีกด้วย
“นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ทางบริษัท Daikin เล็งเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฮับของอาเซียน โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.ซึ่งปัจจุบัน บริษัท Daikin ประเทศไทย มีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ชลบุรี) 4 โรงงาน และที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ระยอง) อีก 1 โรงงานอีกด้วย” นายสุริยะ กล่าว
#TheStructureNews
#สุริยะจึงรุ่งเรืองกิจ #นักลงทุนญี่ปุ่น #Daikin
ผู้ประกอบการรัสเซียเรียกร้อง ให้บริษัทจีนผลิตรถยนต์ในรัสเซีย โดยหวังจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้ารถยนต์จากจีน
ทำไมไก่ CP จึงได้ไปอวกาศ อดีตนักบินอวกาศ NASA ตอบคำถามผ่านโซเชียล ชี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่อาหารจะผ่านทุกขั้นตอนได้
“อย่าเอาเลย ใช้งานยาก” สหรัฐฯ ปฏิเสธส่งรถถัง M1 Abrams ให้ยูเครน อ้างใช้งานยากและยูเครนมีรถถังพอแล้ว
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม