Newsตรวจหาพันธุกรรมแพ้ยา ‘สาธารณสุข’ เปิดแพลตฟอร์ม ”ผูกพันธุ์” เชื่อมโยงข้อมูลพันธุกรรม ลดการตายได้ 90% ลดงบประมาณ 250 ล้านต่อปี

ตรวจหาพันธุกรรมแพ้ยา ‘สาธารณสุข’ เปิดแพลตฟอร์ม ”ผูกพันธุ์” เชื่อมโยงข้อมูลพันธุกรรม ลดการตายได้ 90% ลดงบประมาณ 250 ล้านต่อปี

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวแพลตฟอร์มดิจิทัล “ผูกพันธุ์” เชื่อมโยงข้อมูลพันธุกรรมสู่การรักษาที่แม่นยำ โดยความร่วมมือกันระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 

 

โดยระบุตอนหนึ่งว่า การตรวจยีนแพ้ยามีความสำคัญ เพราะพบว่าอัตราการพบยีนแพ้ยาในคนไทย อยู่ที่ร้อยละ 15 หรือประมาณ 9.7 ล้านคน และพบในผู้ป่วย 42,000 – 100,000 คน 

 

สำหรับการตรวจยีนก่อนให้ยาจะลดการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรง การแพ้ยา ลดอัตราตายได้มากกว่าร้อยละ 90 และช่วยประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากอาการแพ้ยารุนแรงของประเทศ ได้มากกว่า 250 ล้านบาทต่อปี

 

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เห็นความสำคัญเกี่ยวกับการแพ้ยารุนแรงของผู้ป่วย จึงสร้างระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล “ผูกพันธุ์” ขึ้น เพื่อรายงานผลการตรวจพันธุกรรมของผู้ป่วย และประเมินโอกาสที่จะเกิดการแพ้ยารุนแรงของผู้ป่วยว่ามีโอกาสมากน้อยเพียงใด 

ซึ่งการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์จะทำให้แพทย์ผู้รักษาสามารถเลือกใช้ยาหรือปรับขนาดยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยและทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากการแพ้ยา โดยผลการตรวจเภสัชพันธุศาสตร์เพียงครั้งเดียวจะสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต ซึ่งแพทย์ เภสัชกร และผู้ป่วยสามารถดูผลการตรวจพันธุกรรมของตนเองที่ตรวจจากห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้

นพ.ยงยศ กล่าวต่อว่า ปี 2566 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เปิดให้บริการแก่ประชาชน ได้แก่ ผลการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ เพื่อป้องกันการแพ้ยารุนแรง ใน 4 การทดสอบ คือ

1. การตรวจยีน HLA-B*58:01 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาลดกรดยูริค อัลโลพูรินอล (Allopurinol) หรือยารักษาโรคเกาต์

2. การตรวจยีน HLA-B*15:02 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยากันชักคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine)

3. การตรวจยีน HLA-B*57:01 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี อะบาคาเวียร์ (Abacavir) และ 4. การตรวจยีนย่อยยา NAT2 ในผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับยาไอโซไนอาซิด (Isoniazid)

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หวังว่า “ผูกพันธุ์” จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของทางการแพทย์ และช่วยให้แพทย์นำข้อมูล ไปใช้ในการวางแผนป้องกันและรักษาโรคอย่างเฉพาะเจาะจงและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2567 จะขยายการใช้ระบบแพลตฟอร์มดิจิตอล “ผูกพันธุ์” เชื่อมข้อมูลระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล ในการเข้าถึงผลการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

 

นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับการใช้งาน “ผูกพันธุ์” โดยผู้ที่ใช้งานต้องกรอกรายละเอียดส่วนบุคคล และทำการยืนยันตัวตนในขั้นตอนสมัครใช้งานระบบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในข้อมูลของผู้ป่วย โดยผู้ใช้งานแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ประชาชน ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลผลการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ของตนเอง

2. แพทย์และเภสัชกร สามารถเข้าถึงข้อมูลผลการตรวจจากการค้นหาข้อมูลด้วยเลขบัตรประชาชนหรือชื่อและนามสกุล และต้องส่งคำขอเข้าถึงข้อมูลไปยังประชาชนผู้เป็นเจ้าของก่อนถึงจะดูข้อมูลได้

3. เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการเป็นผู้รายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการลงในระบบผูกพันธุ์ 

นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับการแสดงข้อมูลผลการตรวจบนแอปพลิเคชันระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคลต่างๆ เช่น หมอพร้อม, health link เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลผลการตรวจเภสัชพันธุศาสตร์ของตนเองได้ ลดค่าใช้จ่ายจากการตรวจซ้ำซ้อน และค่าใช้จ่ายในการรักษาหากมีอาการแพ้ยารุนแรงเกิดขึ้น รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล ทำให้สามารถส่งข้อมูลผลการตรวจเข้าสู่ระบบของโรงพยาบาลได้ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยเสียก่อน

อนี่ง “ผูกพันธุ์” เป็นสื่อกลางสำหรับการเข้าถึงผลการตรวจทางพันธุกรรม และอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรทางการแพทย์ในการเข้าถึงผลการตรวจได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงผลการตรวจได้ด้วยตนเอง 

โดยเป็นแพลตฟอร์มที่รองรับทั้งในรูปแบบของเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันของสมาร์ทโฟน ทั้งระบบไอโอเอส (iOS) และแอนดรอยด์ (Android) เพียงลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านบัตรประชาชนออนไลน์ ThaiD ก็สามารถเข้าถึงผลการตรวจของตนเองได้

ด้าน ดร.ปนัดดา เทพอัคศร ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันการตรวจยีนแพ้ยาได้บรรจุอยู่ในสิทธิประโยชน์ระบบบัตรทอง 30 บาท ประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยเป็นผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ตามความเห็นของแพทย์ 

สามารถส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนกลาง คือ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และส่วนภูมิภาคศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีทั้งหมด 14 แห่งทั่วประเทศ เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ สมุทรสงคราม ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา และตรัง 

นอกจากนี้ ยังมีห้องปฏิบัติการของโรงเรียนแพทย์ที่สามารถตรวจยีนแพ้ยาได้เช่นกัน ทั้งนี้ สำหรับโรงพยาบาลที่สนใจใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัล “ผูกพันธุ์” สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 02 951 0000 ต่อ 98095, 98096 หรือเว็บไซต์ http://phukphan.dmsc.moph.go.th. และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งทั่วประเทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า