
‘เศรษฐา’ รับข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. พร้อมทำทุกวิธีเพื่อปิดช่องทุจริตโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ยืนยันเป็นอำนาจรัฐบาลที่จะพิจารณากลุ่มเป้าหมาย
สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต 8 ข้อ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 นั้น
นายเศรษฐากล่าวว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีความระมัดระวังในการดำเนินโครงการนี้อยู่แล้ว ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีกลไกที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เพื่อปกป้องและดูแลเรื่องผลประโยชน์อย่างสูงสุดของพี่น้องประชาชน
สำหรับข้อเสนอแนะให้ปรับเกณฑ์แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือผู้มีรายได้น้อยนั้น นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องไปดูในเรื่องของหน้าที่ หลักการและเหตุผลของ ป.ป.ช. โดนหน้าที่ของ ป.ป.ช. คือการตรวจสอบ ทุจริตประพฤติมิชอบ ในขณะที่การกำหนดนโยบายว่าจะให้ใครบ้างเป็นเรื่องของรัฐบาล
เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องคำนึงถึงและน้อมรับคำและข้อสังเกตเรื่องของการทุจริต ของ ป.ป.ช. ซึ่งตนเองขอน้อมรับที่ตรงนี้ ที่เกี่ยวข้องกับทาง ป.ป.ช. เพื่อให้ ป.ป.ช.สบายใจว่าตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
”เรื่องของคนเปราะบางเริ่มจากวันแรกที่เราพูดคุยกันแล้วว่า ตรงไหนคือเปราะบาง ตรงไหนคือไม่เปราะบาง ถ้าผมบอกว่าต่ำกว่า 20,000 บาทเปราะบาง ถ้าสูงกว่า 20,000 บาทไม่เปราะบาง
หากคุณได้เงินเดือน 20,000 บาทคุณจะโต้เถียงหรือไม่ เพราะผมก็เปราะบางเหมือนกัน ผมก็มีหนี้เยอะต้องการ การกระตุ้นเหมือนกันใช่ไหมครับ อันนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเหมือนกัน ฉะนั้นทาง ป.ป.ช.หน้าที่ของท่านที่เสนอมาในเรื่องของการทุจริตต้องระมัดระวังตรงนี้ น้อมรับครับ“ นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐายังกล่าวว่า รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มีพี่น้องประชาชนให้การสนับสนุน ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่สังคมต้องยอมรับได้ และเป็นเรื่องที่เราต้องบริหารความคาดหวังซึ่งกันและกัน โดยต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและความไม่ก้าวร้าวซึ่งกันและกัน และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องบริหารจัดการ