“การปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิต” อุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาอนุภาคฝุ่น PM 2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ
“อนุภาคฝุ่น PM 2.5” กลายเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมที่สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง ทั้งในเขตเมืองและชนบท อีกทั้งยังเป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อีกด้วย นี่จึงเป็นที่มาของการพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหาอนุภาคฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจังในหลายมิติ
ไม่ว่าจะเป็นการขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน ให้ช่วยดูแลการเผาพื้นที่ทางการเกษตรให้น้อยลงเท่าที่จะเป็นไปได้ การบังคับใช้กฎหมายยุติหรือลดการเผาพื้นที่ทางการเกษตรในพื้นที่ชนบท การใช้มาตรการสนับสนุนต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ของโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อลดฝุ่นจากการเผาไหม้ดังกล่าว การใช้มาตรการเพื่อลดจำนวนรถยนต์สันดาปในท้องถนนเพื่อลดการปล่อยฝุ่นขนาดเล็กขึ้นสู่บรรยากาศ รวมทั้งวิธีการอื่นๆ เพื่อจัดการกับปัญหาฝุ่นขนาดเล็กดังกล่าว
ถึงแม้ว่าวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้นจะเป็นวิธีที่ดีทั้งหมด แต่กลับมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้เกิดขึ้นจริงอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องยาก ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเรื่องธรรมชาติ, สภาพแวดล้อม หรือพฤติกรรมของมนุษย์ ย่อมทำให้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาดนั้นเกิดขึ้นได้จริงยากกว่าที่ควรจะเป็นอยู่พอสมควร
การขัดแย้งกับวิถีชีวิตของมนุษย์ กลายเป็นปัญหาหลักในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยมักจะพยายามหาเหตุผลนานาประการเพื่อปกป้องการใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ ของตนเอง แม้ว่าวิถีชีวิตดังกล่าวอาจหมายถึงการทำลายชีวิตของผู้อื่นในทางอ้อม หรือแม้แต่การทำลายชีวิตของตนเองในระยะยาวก็ตาม
ตัวอย่างวิธีการแรกที่สามารถแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศได้อย่างเด็ดขาดในเขตเมือง คือ การใช้มาตรการลดจำนวนรถยนต์สันดาป หรือรถยนต์ที่ใช้น้ำมันปิโตรเลียมในการเผาไหม้ลง ซึ่งสามารถบังคับใช้ผ่านมาตรการเก็บเงินเพิ่มเติมเมื่อมีการเดินทางเข้าพื้นที่ชั้นในของเขตเมือง การใช้มาตรการด้านภาษีสำหรับรถยนต์สันดาปรายปี หรือการใช้ระบบประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าของรถยนต์ที่มีอย่างจำกัดและค่อนข้างน้อยในรูปแบบที่สิงคโปร์ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นวิธีการที่มีผลลดมลภาวะได้แทบทันที
แต่ข้อจำกัดสำคัญในการใช้มาตรการลดจำนวนรถยนต์สันดาป คือ การโดนกระแสการคัดค้านรุนแรงจากบรรดาผู้ใช้รถยนต์สันดาป เพราะเขาจะรู้สึกเสียประโยชน์ทันทีไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง รวมทั้งพื้นที่บังคับใช้มาตรการเหล่านี้ควรเป็นบริเวณที่มีระบบขนส่งมวลชนรองรับอย่างที่มีประสิทธิภาพเสียก่อน จึงจะทำให้มาตรการเหล่านี้สามารถบังคับใช้จริง เพราะระบบขนส่งมวลชนจะเป็นทางเลือกแทนที่การใช้รถยนต์ส่วนตัวแบบสันดาป
อีกวิธีหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศได้อย่างเด็ดขาดในเขตชนบท คือ การบังคับใช้กฎหมายยุติการเผาพื้นที่ไร่นาหรือพื้นที่แวดล้อมใกล้เคียง และส่งเสริมการเกษตรที่ไม่ต้องเผาซึ่งสามารถก่อมลภาวะทางอากาศสู่พื้นที่ใกล้เคียงได้ โดยสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรใช้วิธีการอื่นในการทำการเกษตร ที่ได้รับการสนับสนุนพิเศษจากภาครัฐหรือภาคเอกชน ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านวิถีการทำเกษตรที่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายยุติการเผาพื้นที่ไร่นาก็คล้ายๆ กับการใช้มาตรการลดจำนวนรถยนต์สันดาป นั่นคือ จะมีคนคัดค้านเป็นจำนวนมาก และจะยิ่งคัดค้านหนักหนาสาหัสกว่าการใช้มาตรการลดจำนวนรถยนต์สันดาปเสียอีก เพราะเกษตรกรเป็นกลุ่มคนที่มีฐานใหญ่มากโดยเฉพาะในประเทศเกษตรกรรม ซึ่งการบังคับใช้อย่างรุนแรงอาจสุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียคะแนนนิยมทางการเมืองจากกลุ่มเกษตรกรได้ ดังนั้น การใช้มาตรการสนับสนุนพิเศษ หรือการประนีประนอมในการเปลี่ยนผ่านการทำเกษตรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุกคนสามารถร่วมกันแก้ปัญหาได้
ส่วนมาตรการสนับสนุนต่างๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ของโรงงานอุตสาหกรรมและการลดฝุ่นฟุ้งจากการก่อสร้าง ก็เป็นมาตรการที่ช่วยลดอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กลงได้ในระดับหนึ่ง และถือว่าเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์น้อยที่สุด เพราะไม่มีการบังคับใช้แบบถ้วนหน้าเหมือนมาตรการก่อนหน้าที่กล่าวมาข้างต้น
แต่อย่างไรก็ดี มาตรการสนับสนุนต่างๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ของโรงงานอุตสาหกรรมและการลดฝุ่นฟุ้งจากการก่อสร้าง ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดเช่นเดียวกัน เพียงแต่ข้อจำกัดจะส่งผลกระทบเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เช่น การแบกรับต้นทุนของโรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นจากการบังคับใช้มาตรการลดมลภาวะทางอากาศ แม้ว่าจะได้รับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในรูปแบบต่างๆ แต่ในระยะยาวก็ถือว่าคุ้มค่าที่สามารถลดปัญหาฝุ่นได้โดยที่ไม่กระทบต่อคนจำนวนมากเหมือนมาตรการอื่นๆ ก่อนหน้านี้
อีกมาตรการสำคัญหนึ่ง คือ การขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านในการควบคุม และกำกับดูแลการปล่อยมลภาวะทางอากาศสู่ชั้นบรรยากาศ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในประเด็นสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันทุเลาปัญหามลภาวะทางอากาศที่ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของทุกประเทศที่สามารถเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่อนุภาคฝุ่นขนาดเล็กสามารถกระจายตัวไปได้แบบไม่มีพรมแดน
แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกันที่จะขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านให้ร่วมมือกันผลักดันแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างจริงจัง เพราะแต่ละประเทศย่อมมีการดำเนินนโยบายภายในประเทศแตกต่างกัน และมีการลำดับความสำคัญแตกต่างกัน โดยบางประเทศอาจเน้นประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่ขณะที่บางประเทศอาจเน้นประเด็นเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนเป็นหลักก่อน จึงทำให้การปรับตัวเข้าหากันมีความยากลำบากอยู่พอสมควร แต่ทั้งนี้ยังสามารถร่วมกันผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ร่วมกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป และใช้หลักการเจรจาต่อรองเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมร่วมกันได้
สุดท้ายนี้ ทุกวิธีแก้ไขปัญหาอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กต่างมีเป้าหมายร่วมกัน นั่นคือ การแก้ไขปัญหาให้ทุเลาลงจนหมดไปในที่สุด เพียงแต่ยังคงมีความแตกต่างในเรื่องรายละเอียดและข้อจำกัดของวิธีการนั้นๆ รวมถึงผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้นจากการใช้วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ความยากในการแก้ปัญหา คือ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เข้ากับแนวทางใหม่ ซึ่งหากสามารถทำได้จริงแล้ว การแก้ไขปัญหาต่างๆ จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป
โดย ชย
อ้างอิง :
[1] จัดการและลดการเผาในพื้นที่เกษตร (2)
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/126943
[2] “มลพิษ” ปัญหาเมืองใหญ่
https://www.prachachat.net/aseanaec/news-124652
[3] รับมือ PM2.5 อย่างไร เมื่อเราอาจต้องเผชิญกับฝุ่นพิษถึง 7 ก.พ. 66