
ปิดล้อมปารีส เกษตรกรฝรั่งเศส ไม่พอใจค่าตอบแทน และคุณภาพชีวิต การประท้วงส่อเค้าลุกลามทั่วสหภาพยุโรป
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2567 ทางการฝรั่งเศสยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัย จากการรวมตัวกันประท้วงของเกษตรกรชาวฝรั่งเศส ซึ่งไม่พอใจกับรายได้ที่ไม่เพียงพอ, กฎระเบียบที่เข้มงวด และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่บ่อนทำลายความสามารถในการแข่งขันกับชาติอื่นๆ โดยฝรั่งเศสถือเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าภาคการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป
ผู้ประท้วงได้รวมตัวกันปิดล้อมกรุงปารีสด้วยการใช้รถแทร๊กเตอร์กีดขวางการจราจร ขัดขวางเส้นทางการคมนาคมรอบกรุงปารีส มีการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ซึ่งรวมไปถึงสำนักงานท้องถิ่นของรัฐด้วย
ตำรวจปารีสกล่าวว่า พวกเขามีการเตรียมการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยรอบตลาดอาหารเริงกิส์ (Rungis Food Market) และสนามบินปารีส รัวซี่ (Paris Roissy airport) อีกทั้งมีการเผยแพร่ภาพรถหุ้มเกราะของตำรวจในบริเวณตลาดอาหารเริงกีส์ เพื่อการรักษาการณ์อีกด้วย
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2567 นายเจอรัลด์ ดาร์มาแน็ง รัฐมนตรีมหาดไทย สั่งการให้รับมือกับสถานการณ์รุนแรง รวมทั้งป้องกันทุกวิถีทางไม่ให้กลุ่มผู้ประท้วงเดินทางเข้าสู่กรุงปารีส และเตือนกลุ่มเกษตรกรด้วยว่าอย่าทำอะไรล้ำเส้น โดยเฉพาะกับสถานที่สำคัญ โดยเขากล่าวว่าการกระทำของกลุ่มผู้ประท้วงนั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
มีรายงานว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง และผู้รับผิดชอบโดยตรงอย่างนายกรัฐมนตรีกาเบรียล แอตทาล ยังคงล้มเหลวกับการเจรจาตามข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกร แต่พยายามที่จะสกัดกั้นกระแสความไม่พึงพอใจของเกษตรกร ให้สงบก่อนการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
อีกทั้งนอกจากกลุ่มเกษตรกรแล้ว ยังมีกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ที่ได้ออกมารวมตัวกันประท้วงตามท้องถนน จากความไม่พอใจต่อค่าตอบแทนที่ได้รับจากการให้บริการขนส่งผู้ป่วยโดยบริการสาธารณสุขของฝรั่งเศส ซึ่งการประท้วงยังได้ลุกลามไปจนถึงประเทศข้างเคียงอย่างเบลเยียม
โดยเกษตรกรชาวเบลเยี่ยมเอง ก็มีข้อเรียกร้องที่คล้ายคลึงกันกับฝรั่งเศส มีการใช้รถแทร๊กเตอร์เพื่อการปิดกั้นการจราจรบนถนนมอเตอร์เวย์สาย E42 ทางตอนใต้ของประเทศ และยังมีการประท้วงในลักษณะเดียวกันในประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป เช่น เยอรมนี, โปแลนด์, โรมาเนีย และเนเธอร์แลนด์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน