Newsประวัติและวิวัฒนาการของโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ที่ผ่านการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน:

ประวัติและวิวัฒนาการของโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ที่ผ่านการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน:

เมื่อนึกถึงโครงการสวัสดิการโดยรัฐที่มีความสำคัญมากที่สุดในประเทศไทย ก็ไม่พ้นโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่มีชื่อเล่นว่า “โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค” ที่กลายเป็นโครงการสวัสดิการสาธารณสุขโดยรัฐที่ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่และกลายเป็นโครงการที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้หยิบยกโครงการประกันสุขภาพของประเทศไทยในฐานะแบบอย่างของการสร้างระบบสวัสดิการสาธารณสุขที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาแต่กลับสามารถจัดทำโครงการสวัสดิการสาธารณสุขแบบถ้วนหน้าที่มีรูปแบบคล้ายกับนโยบายสวัสดิการรัฐของประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกและยังคงดำเนินโครงการมาถึงปัจจุบัน

แต่จุดเริ่มต้นของโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลับต้องผ่านเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงมากมายมหาศาลในการหล่อหลอมให้โครงการสวัสดิการโดยรัฐขนาดใหญ่นี้ประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายด้านการสาธารณสุข รวมทั้งราคาที่ต้องจ่ายเพื่อยังคงรักษามาตรฐานการดูแลสาธารณสุขถ้วนหน้าโดยได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐเป็นจำนวนมากโดยไม่เลือกปฏิบัติและมีเงื่อนไขใด ๆ 

โดยจุดแรกที่เป็นที่มาสำคัญของโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือ ในช่วงปี พ.ศ.2543 ที่มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับแรก ซึ่งถูกร่างขึ้นจากความร่วมมือของภาคประชาชนและกลุ่มนักวิชาการ ภายใต้การนำของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์  

ก่อนที่ต่อมาใน พ.ศ.2544 ช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็ได้นำแนวคิดในเรื่อง ระบบการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ นพ.สงวน ไปใช้เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคไทยรักไทย ในชื่อโครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค” และนำมาเป็นนโยบายรัฐเมื่อได้เข้ามาบริหารประเทศในรูปแบบของการนำร่องใน 6 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี สมุทรสาคร นครสวรรค์ ยโสธร พะเยา และยะลา ก่อนที่จะขยายเพิ่มอีก 15 จังหวัด ในระยะเวลา 2 เดือน และขยายสิทธิ์จนครอบคลุมทั่วทั้งประเทศในช่วงเวลาต่อมา ภายใต้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และมีการตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อกำกับดูแลในเรื่องประกันสุขภาพถ้วนหน้า

และเหตุผลสำคัญที่โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ถูกเรียกว่า “บัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค” นั้นก็เป็นเพราะว่า เมื่อไปใช้สิทธิ์ที่สถานพยาบาล ก็จะต้องยื่น “บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่งมีสีเหลือง ชาวบ้านจำนวนมากจึงได้เรียกกันติดปากว่า “บัตรทอง” และคุ้นชินกับชื่อๆ นี้มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนเหตุผลที่มีการให้ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล 30 บาทต่อครั้งก็ได้เกิดจากแนวคิดสำคัญที่ว่า ต้องการให้ผู้เข้ารับบริการรู้สึกมีศักดิ์ศรีที่ไม่ได้ขอให้รักษาฟรีและได้ช่วยจ่ายในระดับหนึ่ง

จากนั้นการร่วมจ่าย 30 บาทในการเข้ารับบริการสาธารณสุขก็ได้ยุติลงและกลายเป็นการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และการใช้บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าสีเหลืองก็ได้ถูกยกเลิก พร้อมกับการใช้บัตรประจำตัวประชาชนเพียงใบเดียวในการเข้ารับบริการสาธารณสุขในปี พ.ศ.2553 ช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แม้ว่าจะมีแนวคิดการเก็บเงินร่วมจ่าย 30 บาทอีกครั้งในช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็มีการคัดค้านอย่างรุนแรงจากภาคประชาสังคม จนกลายเป็นการร่วมจ่ายแบบสมัครใจสำหรับผู้ที่ต้องการจะสมัครใจร่วมจ่าย และเมื่อเวลาผ่านไป สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาและป้องกันโรคก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนครอบคลุมการรักษาพยาบาลเกือบทั้งหมดในปัจจุบัน

ท้ายที่สุดแล้ว โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ได้พัฒนามาเรื่อย ๆ ทั้งในเรื่องระบบการให้บริการและอุปกรณ์เครื่องมืออำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการรักษาและป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ จนทำให้ประเทศไทยได้ถูกยอมรับเรื่องการสาธารณสุขในเวทีโลก โดยเฉพาะในเรื่องการจัดทำโครงการสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้าในบริบทที่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาแต่กลับสามารถจัดทำโครงการสวัสดิการภาครัฐขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการดำเนินโครงการสาธารณสุข และยังคงสามารถดำรงอยู่มาหลายปีมาถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีข้อจำกัดมากมายในการดำเนินนโยบายดังกล่าวก็ตาม

ซึ่งข้อสังเกตสำคัญต่อโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ โครงการสวัสดิการโดยรัฐส่วนใหญ่นั้น จะเป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรงต่อประชาชนในประเภทต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้สูงขึ้น ซึ่งมักจะกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ในการรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภาครัฐและในบางครั้งก็เป็นการกีดกันบุคคลบางส่วนไม่ให้ใช้สิทธิ์สวัสดิการนั้น ๆ โดยใช้คุณสมบัติด้านเขตพื้นที่ ฐานะทางการเงิน หรือคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลับไม่ใช่โครงการที่รัฐให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรงต่อประชาชน ทว่ากลับเป็นโครงการที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศให้มีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้นอย่างเสมอภาคและไม่มีการเลือกปฏิบัติเหมือนโครงการสวัสดิการอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่

นอกจากนี้ก็ยังเป็นการยกระดับประสิทธิภาพผลผลิตที่ออกมา (Productivity) เพราะเมื่อมาตรฐานสุขภาพของประชาชนโดยรวมดีขึ้นจากการเข้าถึงมาตรฐานการรักษาโรคภัยไข้เจ็บก็เป็นการยกระดับศักยภาพขีดความสามารถในการทำงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ขีดความสามารถทางเศรษฐกิจระยะยาวในประเทศจึงมีแนวโน้มที่จะยกระดับสูงขึ้นจากโครงการนี้

สุดท้ายนี้แม้ว่าโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยจะถูกกังขาจากสังคมบางส่วนในเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้มหาศาลในการประคับประคองโครงการให้ยังคงเดินหน้าไปได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้พัฒนามาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันก็ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น เพิ่มขีดความสามารถทั้งต่อตัวบุคคลและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว นอกจากนี้ยังเป็นการคืนชีวิตให้กับหลายคนที่เจ็บป่วยและไม่มีทุนทรัพย์ในการรักษาตัว ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของโครงการสวัสดิการนี้ที่ได้ทำหน้าที่ดูแลรักษาชีวิตของคนไทยได้ในระดับหนึ่งเป็นอย่างดี

โดย ชย

อ้างอิง :

[1] เปิดที่มา หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้นกำเนิด “30 บาท รักษาทุกโรค”

https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/112449

[2] ย้อนดูชัดๆ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่

https://workpointtoday.com/uc/ 

[3] “30 บาท” ไม่ใช่ผลงาน “ทักษิณ”

https://prachatai.com/journal/2006/03/22371

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า