จีน – รัสเซีย พันธมิตรทางการเมืองที่มีทั้งความแน่นแฟ้นและความขัดแย้งในตัวเอง
พันธมิตรทางการเมืองเป็นความสัมพันธ์ที่มีความแน่นแฟ้นในระดับหนึ่ง และสามารถต่อยอดไปสู่ความร่วมมืออื่นๆ ที่มีอยู่อย่างหลากหลายได้ แต่บ่อยครั้งที่พันธมิตรทางการเมืองมักจะมีข้อจำกัดอยู่มากมายที่ทำให้ความร่วมมือเกิดความติดขัด เดินหน้าไปได้อย่างยากลำบาก และบางสถานการณ์สำคัญๆ บางครั้งก็มักจะส่งผลให้ความเป็นพันธมิตรทางการเมืองสั่นคลอน หรือยุติลงได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
การเป็นพันธมิตรร่วมกัน โดยมากแล้วมักจะเป็นการสนองผลประโยชน์ที่ต้องการร่วมกันของประเทศพันธมิตรร่วมที่อยู่ในเส้นทางเดียวกันจึงร่วมเป็นมิตรกันในด้านต่างๆ แต่มักจะพบได้ในรูปแบบของพันธมิตรหรือคู่ค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดความร่วมมือได้ง่ายกว่าความร่วมมือในด้านอื่น โดยเฉพาะความร่วมมือในทางการเมืองที่จะต้องมีผลประโยชน์ร่วมกันในระดับที่ลึกกว่าปกติ และยึดติดในแนวทางร่วมกันที่อาจสร้างโอกาสและข้อจำกัดได้ในเวลาเดียวกัน
ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างจีนและรัสเซียนับได้ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบพันธมิตรทางการเมือง เพราะมีความร่วมมือมากมายทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านวัฒนธรรม และด้านการเมืองที่มีคู่แข่งร่วมกัน คือ สหรัฐอเมริกา ประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทนำในเวทีโลก เพราะทั้ง 2 ประเทศข้างต้นมีมุมมองทางการเมืองที่กังขาต่อแนวคิดทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา แต่จุดยืนของทั้ง 2 ประเทศก็ไม่ได้อยู่บนจุดเดียวกันทั้งหมด
อาทิ ข้อพิพาทด้านดินแดนและเขตอิทธิพลระหว่างรัสเซียกับจีนที่เคยดุเดือดในช่วงสงครามเย็น ตั้งแต่ที่สหภาพโซเวียตยังไม่ล่มสลาย จนถึงขั้นปะทะกันตามแนวชายแดน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ คือ ทั้งคู่ต่างเป็นพันธมิตรทางการเมืองและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ระหว่าง 2 ประเทศ รวมทั้งประวัติศาสตร์ในอดีต ที่รัสเซียมีบทบาทในการยึดครองดินแดนของจีนบางส่วนในช่วงของจักรวรรดิรัสเซียและจักรวรรดิจีน
ดินแดนพิพาทส่วนใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของรัสเซียและทางฝั่งเหนือของจีน โดยดินแดนฝั่งตะวันออกไกลของรัสเซียนั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิจีนมาก่อน และถูกโอนมาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียตามสนธิสัญญาต่างๆ ที่จีนเสียเปรียบเมื่อเทียบกับรัสเซีย
หลังจากที่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ได้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสหภาพโซเวียตซึ่งได้รับแนวคิดคอมมิวนิสต์เข้ามาก่อนหน้าแล้ว โดยเฉพาะในทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม แต่ความสัมพันธ์แบบพันธมิตรคอมมิวนิสต์ก็เสื่อมลงด้วยความระแวงกันของทั้ง 2 ประเทศ และการมีอุดมการณ์เนื้อในที่แตกต่างกันรวมทั้งความขัดแย้งในเรื่องของพื้นที่อิทธิพลที่ทั้ง 2 ประเทศได้แผ่อิทธิพลเข้าไปในช่วงสงครามเย็น จนเกิดข้อพิพาทในเรื่องเขตอิทธิพลทางอุดมการณ์ในภายหลัง
ทำให้ความสัมพันธ์แบบพันธมิตรคอมมิวนิสต์กลายเป็นความตึงเครียดที่รุนแรง จนบานปลายเป็นการใช้กำลังตามแนวพรมแดนพิพาทในช่วงเวลาหนึ่ง และได้ทุเลาลงเมื่อการเมืองภายในสหภาพโซเวียตเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และจีนเริ่มเข้าสู่ระบบโครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมโลกตามแนวทางของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการให้จีนคานอำนาจกับสหภาพโซเวียตในช่วงเวลานั้น
ถึงแม้ว่าความตึงเครียดเหล่านี้ได้ทุเลาลงมากแล้ว แต่ความตึงเครียดด้านดินแดนเหล่านี้ก็ยังไม่ได้สิ้นสุดแต่อย่างใด กลับถูกแทนที่ด้วยความร่วมมือในระดับสูงของทั้ง 2 ประเทศในช่วงเวลาปัจจุบัน ที่สามารถรักษาความสัมพันธ์ที่มั่นคงได้ดีโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ จนกระทั่งความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนได้เข้ามาท้าทายความสัมพันธ์ในระดับสูงของทั้ง 2 ประเทศโดยสิ้นเชิง
ความสัมพันธ์แบบพันธมิตรทางการเมืองของทั้งสองประเทศได้กลับมาอีกครั้งหลังช่วงยุค 2000 เป็นต้นมา เมื่อรัสเซียได้เริ่มมีข้อกังขากับกลุ่มประเทศตะวันตก และต้องการเข้าหากลุ่มประเทศอื่นๆ รวมทั้งจีนด้วย ขณะเดียวกัน จีนที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลกโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ก็ต้องการที่จะสร้างฐานอำนาจของตนเองเพื่อไม่ให้อิงตามกลุ่มประเทศตะวันตกมากนัก
โดยเฉพาะเมื่อไม่กี่สิบปีก่อน ที่จีนเริ่มมีแนวทางแข็งกร้าวต่อตะวันตกมากขึ้นและต้องการที่จะมีแนวทางเป็นของตนเองในการพัฒนาประเทศแบบจีน ซึ่งได้แพร่หลายในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นจำนวนมาก ทำให้ความสัมพันธ์ของจีนและรัสเซียได้กลับมาแน่นแฟ้นมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับผู้นำที่มีความแน่นแฟ้นเป็นกรณีพิเศษในเรื่องทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่เมื่อมีเหตุการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนเข้ามา ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนของพันธมิตรทางการเมืองครั้งใหญ่
เพราะรัสเซียได้ใช้วิธีการดำเนินนโยบายโดยใช้กำลังในประเด็นความขัดแย้ง ที่มีการเกี่ยวพันกับคู่แข่งสำคัญคือ สหรัฐอเมริกาโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีการดำเนินนโยบายหลักของรัสเซีย ในขณะที่จีนมุ่งเน้นที่จะใช้กระบวนการทางเศรษฐกิจในการยกระดับประเทศให้สูงขึ้นเทียบเท่ากับสหรัฐอเมริกาในอนาคต จะเห็นได้ชัดว่ารัสเซียจะมีความแข็งกร้าวต่อตะวันตกอย่างรุนแรงและพร้อมที่จะเผชิญหน้าในทุกรูปแบบ ในขณะที่จีนจะมีกระบวนการที่ต้องการเผชิญหน้าเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่พร้อมเผชิญ และให้ความสำคัญกับแผนการในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น
รวมถึงการใช้กระบวนการประชามติของรัสเซียเพื่อควบรวมดินแดน ได้ท้าทายนโยบายสำคัญของจีนที่ไม่ต้องการให้ไต้หวันประกาศแยกตัวโดยใช้วิธีการประชามติหรือวิธีการอื่น เพราะในทางหนึ่ง รัสเซียต้องการที่จะผนวก 4 แคว้นของยูเครนเป็นของรัสเซีย ผ่านการประชามติที่เป็นการแบ่งแยกดินแดนจากยูเครนโดยตรง ซึ่งสถานะก่อนหน้านี้ของ 4 แคว้นข้างต้นคือ รัฐอิสระที่อยู่ในเขตอิทธิพลเข้มข้นของรัสเซียที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน
ในกรณีของจีนนั้น การประกาศแยกตัวเป็นประเทศเอกราชของไต้หวันผ่านการประชามติหรือกระบวนการอื่นๆ ถือว่าเป็นภัยคุกคามสำคัญของจีน การกระทำของรัสเซียในอีกทางหนึ่งอาจเป็นการสร้างความตึงเครียดในเวทีโลกโดยตรง และเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ไต้หวันใช้รูปแบบเดียวกับรัสเซียในการแยกตัวเป็นเอกราช หากมีการรับรองจากประเทศมหาอำนาจ แม้ว่ากรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ยากก็ตาม
เส้นทางทางการเมืองของทั้งสองประเทศที่ดำเนินนโยบายแตกต่างกันอาจทำให้ในระยะยาว ความสัมพันธ์พันธมิตรทางการเมืองอาจถูกทบทวนอีกครั้ง หากมีการเปลี่ยนแปลงในกลไกทางการเมืองของประเทศพันธมิตรข้างต้นหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันที่แตกต่างกันในอนาคต
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในปัจจุบันจีนและรัสเซียคือพันธมิตรทางการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลก โดยเฉพาะในด้านการเมือง เศรษฐกิจ พลังงาน ฯลฯ ตราบใดที่ความเป็นพันธมิตรทางการเมืองของทั้งสองประเทศยังคงอยู่ได้อย่างมั่นคง ไม่ซ้ำรอยกับสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นที่ทั้งคู่ได้กลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเองนั้น ความเป็นพันธมิตรทางการเมืองนี้ย่อมเป็นก้างขวางคอสำคัญของกลุ่มการเมืองโลกเสรีนิยมประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน
โดย ชย
โซลาร์เซลล์” พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ฟรี ง่าย และไม่มีวันหมด ผลิตใช้เองแถมส่งต่อได้
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม