
การลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยอะไร ธปท. ชี้การลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่จะเป็นการซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 สำนักข่าวนิเคอิ เอเชียรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยปฏิเสธข้อเรียกร้องให้มีการประชุมฉุกเฉินเพื่อลดดอกเบี้ย ซึ่ง ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาเชิงโครงสร้าง และวัฏจักรเศรษฐกิจของไทย จะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการพลิกกลับนโยบายการเงิน
ทั้งนี้ ดร. เศรษฐพุฒิ ให้สัมภาษณ์กับนิเคอิว่า ธปท. ไม่ได้ดื้อรั้นในเรื่องอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่สูงสุดในรอบทศวรรษ แต่ขอให้พิจารณาถึงเบื้องหลังของตัวเลขล่าสุดที่ชี้ว่า เศรษฐกิจเติบโตซบเซา และเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบ ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.9% ซึ่งผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เนื่องจากงบประมาณปี 2567 ต้องล่าช้าเพราะการเมืองตกลงกันไม่ได้
อีกทั้งยังกล่าวว่า 3 ปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจชะลอตัวมาจากปริมาณการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง, ปริมาณการสั่งซื้อปิโตรเคมีจากประเทศไทยของบริษัทจีนที่ลดลง และความล่าช้าในการกระจายงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอะไร
นิเคอิรายงานว่า ธปท. กำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบติดต่อกัน 4 เดือน จากการอุดหนุนราคาพลังงานของรัฐบาล รายได้จากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกหดตัวลง แต่ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 ธปท. กลับเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของรัฐบาล และคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5%
ทั้งนี้ ธปท. ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมในการประชุมทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการกำหนดนโยบายโดยอ้างอิงจากข้อมูลทางเศรษฐกิจและอัตราอ้างอิงยังอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในโลก อีกทั้งจากบันทึกการประชุม สมาชิกในที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าแนวโน้มทางเศรษฐกิจมีความไม่ชัดเจน และ ธปท. มีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย หากเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง ดร. เศรษฐพุฒิกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น ดร. เศรษฐพุฒิกล่าวว่าเป็นไปอย่าง “มืออาชีพ” และ “จริงใจ” แต่เขาปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะ “วิกฤติ” อย่างที่นายเศรษฐากล่าวเพื่อผลักดันนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต และ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวย้ำว่า “การฟื้นตัวอ่อนแอ แต่ก็ฟื้น และกำลังฟื้นต่อ”
นอกจากนี้ ดร. เศรษฐพุฒิยังกล่าวว่าการลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันสมควรจะเป็นการคุกคามเสถียรภาพทางการเงินเนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่สูงมากกว่า 90% ของ GDP ซึ่งไม่ใช่จำนวนที่น้อยเลย และประเทศไทยใช้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาเป็นเวลานานแล้ว และถ้าหากลดลงไปอีก ก็จะกระตุ้นให้ประชาชนกู้ยืมมากขึ้น
“ผมคิดว่าการลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งจะส่งสัญญาณที่ผิดในแง่ของการพยายามสร้างหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนมากขึ้น” ดร. เศรษฐพุฒิกล่าว