
ปตท. สนับสนุนการบริหารจัดการน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาที่คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ด้วยการเติบโตของเมือง ความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการทรุดตัวของพื้นดิน ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ
.
โดยพื้นที่กรุงเทพมหานครเคยได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง
อย่างในปี พ.ศ. 2485 ครั้งนั้น น้ำได้ท่วมตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนเยาวราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขาทอง ถนนราชดำเนิน และ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น
.
และอีกครั้งในปี 2554 ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุด ตั้งแต่ช่วงต้นปี-จนถึงปลายปี มีพื้นที่ประสบภัยในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่เกิดน้ำท่วมหนักเป็นเวลานาน ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกิดน้ำท่วมหนักในรอบ 70 ปี นับจากเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ในปี 2485 อุทกภัยครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งทางภาคการเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม โดยส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังภาคส่วนอื่นอีกมากมาย
.
ทั้งที่ปัญหานี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งแต่ทำไมเหตุการณ์แบบเดิมถึงยังไม่ได้รับการแก้ไขและยังคงเกิดขึ้นทุกปี ?
นั่นเป็นเพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในกรุงเทพฯ นั้นมาจากหลายปัจจัยดังนี้
.
ข้อเท็จจริงที่สำคัญข้อหนึ่งคือ กรุงเทพฯ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 เมตรเมื่อได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทำให้พื้นดินเกิดการทรุดตัวและทรุดตัวมากขึ้นในแต่ละปี
.
การขยายตัวของเมืองและสิ่งปลูกสร้าง เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในกรุงเทพฯ เนื่องจากขยายตัวของชุมชนอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นที่ว่างที่เคยเป็นที่รองรับและกักเก็บน้ำตามธรรมชาติหายไป น้ำที่เคยมีที่ดูดซับไว้ก็ไม่มีที่ไปจึงไหลมารวมกันตามพื้นถนน
.
ขยะอุดที่ตันท่อระบายน้ำ การทิ้งขยะไม่เป็นที่ หรือทิ้งลงในแม่น้ำลำคลอง ทำให้ขยะเกิดการสะสมอยู่ตามท่อระบาย เมื่อฝนตกปริมาณมาก ๆ จึงส่งผลให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ทันเวลา
.
ปริมาณฝนที่ตกตามฤดูกาล เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ยิ่งช่วงกลางเดือนพฤษภาคมจนถึงกลางเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ซึ่งจะมีฝนตกเกือบจะทุกวัน
.
การเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือเรื่องสถานการณ์น้ำจึงเป็นสิ่งที่หลายหน่วยงานให้ความสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายทางทรัพย์สิน
.
เพื่อร่วมบรรเทาสถานการณ์น้ำท่วม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ได้ส่งมอบอุปกรณ์และบริการสำหรับระบบซ่อมบำรุงเชิงพยากรณ์ และการเฝ้าติดตามสภาพเครื่องจักรจาก บริษัท พี ดิคเตอร์ จำกัด (P-DICTOR) เป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่การติดตั้งแล้วเสร็จ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ให้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงานระบบควบคุมน้ำ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการนำความเชี่ยวชาญในนวัตกรรมด้าน Predictive Maintenance and Machine Monitoring ของกลุ่ม ปตท. มาสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลการสั่นสะเทือนและทำนายการหยุดทำงานล่วงหน้าของเครื่องสูบน้ำ ณ สถานีสูบน้ำกรุงเกษม เขตบางรัก ที่เป็นจุดสำคัญในการสูบน้ำกรณีเกิดน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน เพื่อช่วยให้สำนักการระบายน้ำฯ สามารถป้องกันและแก้ไขอุปกรณ์ให้มีความพร้อมใช้งาน ลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุง ตลอดจนช่วยให้บริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น