รู้แต่แรกแล้วว่าไม่มี ‘จรัล’ แจงทราบแต่แรกแล้วว่า ‘จดหมายปรีดี’ ไม่มีจริง ที่ทำไปเพราะต้องการสร้างกระแสการเมือง ‘จอมไฟเย็น’ ชี้อยู่ในมือสลิ่ม
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 จอมไฟเย็น-นิธิวัต วรรณศิริ โพสต์เฟสบุ๊คกล่าวว่าจดหมายปรีดีอาจจะไม่ได้อยู่ที่หอจดหมายเหตุลา คูร์คเนิฟ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่กระจัดกระจายอยู่ในมือของราชสกุลที่สนิทสนมกับตระกูลของนายปรีดี พนมยงค์ โดยมีข้อความว่า
“สหายสถาพรบอกว่า”จดหมายของปรีดี” มีจริง อาจจะถึง100ฉบับ แต่ไม่ใช่ที่หอจดหมายเหตุปารีสอะไรนี้หรอก เพราะกระจายอยู่ตามราชสกุลต่างๆ(ที่สนิทสนมกับตระกูลปรีดี) ซึ่งหมายความว่าเราอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นจดหมายเหล่านั้นถ้าลูกหลานราชสกุลหรือผู้มีสิทธิ์เปิดจดหมายเหล่านั้นในปัจจุบันเป็นสลิ่ม”
ด้าน ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ร่วมเปิดจดหมายปรีดีกับนายนิธิวัต ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวทูเดย์ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2567 ระบุว่าเขาทราบมานานแล้วว่าจดหมายปรีดี หรือเอกสารปรีดีนั้น ไม่ใช่จดหมาย เพราะไม่มีเหตุผลใดที่นายปรีดี จะเขียนจดหมายให้กระทรวงต่างประเทศของฝรั่งเศส
เนื่องจากนายปรีดีไม่ได้มาอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสในฐานะผู้ลี้ภัย ไม่ได้ขึ้นตรงกับกระทรวงต่างประเทศหรือหน่วยงานของรัฐบาลฝรั่งเศส จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเขียนจดหมายดังกล่าว เว้นแต่จะมีข้อเขียนอะไรที่ต้องการจะเขียนถึงกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งก็ไม่น่าจะมีด้วย
ผศ.จรัลกล่าวว่า เนื่องจากมันมีข่าวที่ได้รับความสนใจมานาน 1-2 ปีแล้ว มีหลายคนโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยกับ ผศ.จรัลเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับการเปิดจดหมายปรีดีฉบับนี้ บางคนจินตนาการว่าจะมีการแถลงข่าวเหมือนกระทรวงต่างประเทศ ฝรั่งเศสจะแถลงข่าว ซึ่ง ผศ. จรัสระบุว่าในมุมมองของกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส นายปรีดีไม่ได้มีความสำคัญขนาดนั้น ก็จะมีแต่ผู้ที่สนใจเท่านั้นที่จะไปขอค้น เข้าไปดูแล้วเอามาโพสต์กัน
ผศ.จรัลกล่าวว่าโดยส่วนตัวแล้ว ตนไม่ได้สนใจในตัวจดหมายปรีดี เนื่องจากไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์ แต่นางจรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้ลี้ภัยคดีการเมืองซึ่งอาศัยอยู่ในฟินแลนด์มาเยี่ยม และเป็นคนต้นคิดให้เข้าไปดูจดหมายด้วยกัน
“ทีนี้ผมก็ไป ไปกับคุณเล็กคุณจรรยานี่นะครับ ทั้ง ๆ ที่ไปโดยรู้ว่าไม่ใช่จดหมายนี่แหละ” ผศ.จรัลกล่าว อีกทั้งยังระบุด้วยว่านายจรรยา และคณะที่ไปดูเอกสารด้วยกันก็ทราบว่าไม่ใช่จดหมาย เนื่องจากตนเองได้บอกแล้ว อีกทั้ง ผศ.จรัลระบุว่าแต่เดิมทีตนเองไม่ได้ต้องการที่จะไป แต่เนื่องจากได้รับโทรศัพท์เข้ามาหลายสายว่าตนเองควรจะไป จึงตัดสินใจไปร่วมเปิดจดหมายในที่สุด
สำหรับนายยัน มาร์ฉัล ดาวตลกชาวฝรั่งเศสซึ่งมักจะวิพากษ์วิจารณ์และล้อเลียนสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนั้น แต่เดิมที่ไม่ได้ตั้งใจที่จะให้เป็นผู้แปลเอกสาร เนื่องจาก ผศ. จรัลเองก็เข้าใจภาษาฝรั่งเศสได้ แต่เชิญมาเพื่อเป็นผู้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุ แต่มีการเปลี่ยนใจให้นายยันเป็นผู้แปลให้ในถายหลัง
ส่วนการไลฟ์สดนั้น เป็นความคิดของจอมไฟเย็น ซึ่งในเวลานั้น ผศ. จรัลได้อ่านระเบียบการแล้วคิดว่าน่าจะทำได้แต่อาจจะเป็นการรบกวนบุคคลอื่นที่กำลังใช้หอจดหมายเหตุอยู่บริเวณใกล้กัน จึงตัดสินใจถ่ายทอดสด แต่การถ่ายทอดสดมีอุปสรรค ไม่สามารถใช้เสียงได้ดังมาก และถูกเจ้าหน้าที่หอสมุดตักเตือนเป็นระยะ
ผศ.จรัลกล่าวว่าตนทราบตั้งแต่เมื่อเปิดเอกสารแล้วว่าเป็นจดหมายผิดซอง เนื่องจากมีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกับที่นายดิน บัวแดงนักวิชาการประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เคยเขียนเอาไว้ แต่ตนเองไม่ได้บอกคณะที่มาด้วยกัน เนื่องจากเห็นว่าหากบอกไปในระหว่างการถ่ายทอดสดจะดูน่าเกลียด เป็นเรื่องของสถานการณ์เฉพาะหน้า
ภายหลังจากที่ถ่ายทอดสดเสร็จแล้ว จึงเข้าไปสอบถามจากเจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุ จึงทราบว่าจดหมายอีกฉบับมีกำหนดเปิดวันที่ 5 ม.ค. 2567 แต่จะไม่สามารถอ่านตัวจริงได้ ต้องอ่านผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้น ซึ่งส่วนตัวคิดว่าขณะนี้ ทางหอจดหมายเหตุยังโหลดไม่เสร็จจึงยังไม่สามารถดูเอกสารได้
สำหรับข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่ไร้วุฒิภาวะนั้น ผศ.จรัลกล่าวว่าขอน้อมรับเอาไว้ แต่ยืนยันว่าเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะอย่างน้อยก็ทำให้คนที่รอคอยมาเป็นเวลาหลายปีได้มีโอกาสรับทราบข้อมูล และจะทำให้คนไทยเป็นจำนวนมากได้รับทราบข่าวสาร
นี่เป็นงานการเมืองทำให้เกิดความสนใจ และตื่นตัวความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย เพราะในช่วง 3 ปี นับจากปี 64-65 กระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยค่อนข้างต่ำ มองว่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์ทางการเมืองชิ้นแรกรับปีใหม่ ที่นอกเหนือจากการอภิปรายงบประมาณแผ่นดิน
ผศ. จรัลระบุว่าคงไม่มีประโยชน์ที่จะเข้าไปค้นคว้าแบบเงียบ ๆ คิดว่าถ้าวิญญาณของนายปรีดียังอยู่ ก็คงจะน้อยใจที่ไม่มีใครสนใจท่าน