
‘พิธา’ ตอบโต้ ‘เมียนมา’ ด้วยภาษาเมียนมา ยืนกรานติดตามสถานการณ์ในเมียนมา แจงความชอบธรรมในการจัดงานเสวนา
สืบเนื่องจากกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ออกจดหมายแสดงความไม่พอใจต่อการจัดงานเสวนาของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ที่มีนายรังสิมันต์ โรม เป็นประธาน ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นการสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2567 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความเป็นภาษาเมียนมา ซึ่งระบุดังนี้
“เราให้คำมั่นต่อไปว่าเราจะติดตามสถานการณ์ในเมียนมาร์อย่างใกล้ชิดต่อไปภายใต้อำนาจที่ได้รับจากรัฐสภาเพื่อช่วยลดความเดือดร้อนของชาวพม่า ไทย และประเทศสมาชิกอาเซียน มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เรายังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ
เมียนมาร์ที่สงบสุขและเป็นประชาธิปไตยสอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติไทย ดังนั้น เราจะควบคุมและสนับสนุนนโยบายของไทยที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาร์ผ่านอำนาจนิติบัญญัติที่เรามี”
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567 นายพิธาได้โพสต์สื่อโซเชียลมีเดีย โดยมีเนื้อความที่กล่าวถึงกรณีนี้ว่า
ผมมองว่าสภาผู้แทนราษฎรไทยนั้นมีความชอบธรรมในการจัดงาน เพราะเป็นตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติของประชาชนชาวไทย สภาฯเป็นพื้นที่ ที่สามารถเป็นสะพานเชื่อมสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลาย มีความครอบคลุม โปร่งใส และปลอดภัย สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ต่าง ๆ
ผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมา ล้วนส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมมายังประเทศไทย เรามีชายแดนติดประเทศเมียนมากว่า 2,400 กิโลเมตร ครอบคลุม 7 จังหวัด เราจึงเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญที่สุด และมีปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มาจากไฟป่าและการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมในเมียนมา
ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ผู้ประกอบการไทยยังต้องการ ปัญหาผู้อพยพจากสงครามการสู้รบบริเวณชายแดน ปัญหาด้านสาธารณสุข ฯลฯ ดังนั้น การที่รัฐสภาไทย สามารถเปิดพื้นที่เสวนาที่ปลอดภัย เพื่อช่วยกันแลกเปลี่ยนถึงแนวทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในเมียนมาได้นั้น จึงเป็นความชอบธรรมที่เป็นผลประโยชน์โดยตรงต่อราชอาณาจักรไทย และประชาชนชาวไทย
รัฐสภาไทยเองก็มีหน้าที่เป็นตัวแทนของภาคประชาชน และพูดคุยแทนประชาชน และเราในฐานะฝ่ายค้านก็มีทำหน้าที่ตรวจสอบและเสนอแนะการทำงานของรัฐบาล