
ไม่ได้กักตุนน้ำมัน ปั๊มน้ำมันชี้แจงเหตุที่ไม่มีน้ำมันในสต็อก เพราะรัฐไม่คืนเงินภาษีน้ำมันที่สต็อกไว้ ตามแนวทางที่เคยปฏิบัติกันมา
สืบเนื่องจากกรณีที่สถานบริการน้ำมัน (ปั๊มน้ำมัน) หลายแห่งไม่มีน้ำมันให้บริการ ภายหลังจากที่มีการออกมาตรการลดราคาน้ำมัน 2.50 บาท จนมีกระแสข่าวว่าสถานีบริการน้ำมันกักตุนน้ำมันไม่ยอมจำหน่ายนั้น
10 พ.ย. 66 ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊มน้ำมัน) ก็ออกมายืนยันว่าไม่มีการกักตุนน้ำมันแต่อย่างใด แต่ที่ไม่มีการจ่ายน้ำมันนั้น เป็นเพราะขาดสต็อกไม่มีจำหน่าย เนื่องจากน้ำมันที่ผู้ค้าได้สต็อกไว้นั้น ได้ชำระภาษีและเงินกองทุนน้ำมันไปแล้ว ตามแนวทางเดิมที่เคยปฏิบัติ จะมีการตรวจนับสต็อกเพื่อชดเชย
แต่การประกาศลดราคาน้ำมันเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา ภาครัฐปฏิเสธที่จะให้มีการตรวจนับสต็อก โดยอ้างว่าได้มีการประกาศล่วงหน้าไปแล้ว 7 วัน ให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการน้ำมันคงเหลือเพื่อให้เกิดภาระการขาดทุนให้น้อยที่สุด
พร้อมแสดงหลักฐานเป็นหนังสือของสมาคมสถานีบริการน้ำมันพลังไทย ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่องขอตรวจนับสต็อกเพื่อชดเชยผลกระทบจากการลดราคา ตามนโยบายช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาล ลงวันที่ 15 ก.ย. 66 ซึ่งมีข้อความว่า
“ตามที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะช่วยเหลือประชาชน โดยประกาศลดราคาน้ำมัน ในวันที่ 20 กันยายนนี้ สมาคมๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง และพร้อมจะปฏิบัติตาม
แต่ภาษีและกองทุนน้ำมันที่เรียกเก็บไปแล้วเป็นสต๊อกของผู้ประกอบการทุกราย หากมีการลดราคาทันทีจะส่งผลกระทบแก่ผู้ประกอบการทุกรายตามปริมาณสต๊อกที่มีอยู่ แนวทางที่เคยปฏิบัติกันมาเป็นที่ยอมรับคือ ต้องมีการตรวจนับสต๊อกที่เหลือเพื่อชดเชย หากมีการลดราคาและเรียกเก็บเพิ่มถ้ามีการขึ้นราคาจากมาตรการภาษีและกองทุนน้ำมัน
สมาชิกสมาคม เป็นสถานีบริการน้ำมันซึ่งเป็นธุรกิจ SME จึงขออนุเคราะห์ท่านโปรดพิจารณาชดเชยให้กับผู้ประกอบการ ด้วยการคืนภาษีและหรือเงินกองทุนสำหรับสต๊อกในถังที่เหลืออยู่”
อย่างไรก็ดี กรมธุรกิจพลังงาน มีหนังสือตอบกลับ ลงวันที่ 20 ก.ย. โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า
ในการนี้ กรมธุรกิจพลังงานขอเรียนว่า เนื่องจากการปรับลดราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในครั้งนี้ได้มีการประกาศให้สาธารณชนรับทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 7 วัน แล้ว ดังนั้น ผู้ค้าน้ำมันและสถานีบริการจึงมีระยะเวลาเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการน้ำมันคงเหลือ เพื่อให้เกิดภาระการขาดทุนน้อยที่สุด
ประกอบกับการจ่ายเงินชดเชยในน้ำมันคงเหลือให้แก่ผู้ค้าน้ำมันและสถานีบริการ จะต้องพิจารณาถึงฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน รวมทั้งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันกำหนดวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ใน
ระดับที่เหมาะสมในกรณีเกิดวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันโดยจะจ่ายให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมาจำหน่ายในประเทศ
ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจ่ายชดเชยผลขาดทุนจากปริมาณน้ำมันคงเหลือให้แก่สถานีบริการโดยตรงได้