
ส่องประเทศที่เข้าเส้นชัย Net Zero ก่อนใคร
หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Net Zero กันมาไม่มากก็น้อย โดยคำ ๆ นี้นั้นย่อมาจากคำว่า Net Zero Emission แปลว่า “การปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์” ซึ่งก็หมายถึง การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของหลายประเทศในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ หรือ Climate Change
โดยการบรรลุสู่เป้าหมายนี้นั้นก็ทำได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับอุตสาหกรรมในประเทศ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจก หรือการใช้แนวคิดใหม่ นั้นก็คือ Carbon Credit หรือการทำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดควบคู่ไปพร้อม ๆ กันเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero
เป้าหมาย Net Zero นั้นเป็นผลมาจากสัญญาที่เกือบทุกประเทศในโลกได้ให้ไว้ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และมีการยืนยันในเวที COP ที่จัดขึ้นต่อมาทุก ๆ ปี
ในเวที COP ก็เป็นการประชุมและแสดงผลงานของประเทศต่าง ๆ ที่ได้ทำเพื่อเคลื่อนเข้าสู่การบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีความคืบหน้าที่แตกต่างกันไป ตามแต่ปัจจัยของประเทศนั้น ๆ
แต่หลายประเทศในโลกก็มีความคืบหน้าที่รวดเร็วและไปไกลกว่าประเทศอื่น ๆ ในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ด้วยการจัดความสำคัญของรัฐบาลประเทศนั้น ๆ และอาจด้วยปัจจัยที่เอื้ออำนวย เช่น ขนาดของเศรษฐกิจที่ไม่ใหญ่มาก
โดยองค์กร World Economic Forum ได้จัดอันดับ 8 ประเทศใน 196 ประเทศทั่วโลก ที่อาจกล่าวได้ว่าบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้แล้ว นั่นก็คือ ภูฏาน, คอโมโรส, กาบอง, กายอานา, มาดากัสการ์, นีวเว, ปานามา, ซูรินาม
ส่วนของประเทศไทยก็ได้มีการดำเนินการในการวางกรอบและแนวทางปฏิบัติ เช่น การจัดทำแผนที่นําทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 (ค.ศ. 2021-2030) ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดทำแผนพลังงานชาติ ของกระทรวงพลังงาน เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปีพ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065)
ในส่วนของภาคเอกชนของประเทศไทยก็มีความตื่นตัวในการช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ อย่างกรณีของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ล่าสุดได้มีการลงนาม MOU 3 ฉบับกับหน่วยงานราชการคือ กรมป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมการปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในกลยุทธ์ “ปรับ เปลี่ยน ปลูก” เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมของประเทศ