
ลุยตั้ง “สายเดินเรือแห่งชาติ” รัฐร่วมทุน 25% นำร่องเปิด 3 เส้นทางในประเทศ แก้ปัญหาจราจร
การท่าเรือแห่งประเทศไทย ลุยตั้ง “สายเดินเรือแห่งชาติ” เตรียมชงคมนาคม มี.ค. นี้ รัฐร่วมทุน 25% นำร่องเปิด 3 เส้นทางในประเทศ
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เผยหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เผยแพร่ผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ และแนวทางการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทย ว่า จากที่ กทท.ได้จ้างบริษัท ทรานส์คอนซัลท์ จำกัด และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติและแนวทางการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทย
โดยจะสรุปผลการศึกษาภายในเดือน ก.พ.นี้ จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในเดือน มี.ค. 2566 และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป
ทั้งนี้ หลังจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เป้าหมายในปีแรกจะเปิดให้บริการเดินเรือประจำในเส้นทางชายฝั่งของไทย และเปิดให้บริการขนส่งสินค้าด้วยเรือไม่ประจำเส้นทาง ในเส้นทางระหว่างประเทศให้ได้ภายใน 4 ปี
จากผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการบริหารสายการเดินเรือแห่งชาติที่เหมาะสม รัฐควรถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 25% เอกชน 75% เพื่อให้มีความคล่องตัวในการบริหารงาน สามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว ซึ่งรูปแบบนี้มีกลุ่มผู้ประกอบการและนักลงทุนให้ความสนใจร่วมลงทุนจำนวนหลายราย
สำหรับการเปิดเดินเรือเส้นทางภายในประเทศ พบว่ามี 9 เส้นทางที่มีความเหมาะสม มีทั้งเส้นทางเก่าที่มีการเดินเรืออยู่แล้ว และเส้นทางใหม่ที่ยังไม่มีการเดินเรือ ซึ่งจะนำร่อง 3 เส้นทางใหม่ คาดว่าผลตอบแทนทางการลงทุนอยู่ที่ 7.71% ได้แก่
1. เส้นทางท่าเรือมาบตาพุด (ระยอง)-ท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี) เป็นเส้นทางที่มีศักยภาพ เนื่องจากมาบตาพุดมีปริมาณสินค้าประมาณ 4 แสนทีอียู/ปี ปัจจุบันต้องขนส่งทางถนนทั้งหมด เส้นทางเดินเรือนี้จะทำให้เกิดการชิฟต์โหมดจากทางถนนสู่ทางน้ำ และทำให้มีการเพิ่มปริมาณสินค้าได้อีกตามไปด้วย
2. เส้นทางท่าเรือไฟร์ซัน (สมุทรสงคราม)-ท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี)
- เส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี)-ท่าเรือสุราษฎร์ธานี
ส่วนอีก 6 เส้นทาง เป็นเส้นทางเดิมที่มีการเดินเรืออยู่แล้ว จะพิจารณาลำดับต่อไป โดยจะเป็นรูปแบบที่ส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ใช่การแข่งขัน
สำหรับเส้นทางการเดินเรือต่างประเทศนั้น ได้พิจารณารูปแบบการให้บริการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (First Phase) เป็นบริการเดินเรือไม่ประจำเส้นทาง (Tramp Service) ให้บริการขนส่งสินค้าประเภทเทกอง (Bulk Cargo) คาดการณ์ส่วนแบ่งปริมาณสินค้าที่จะมาใช้บริการสายการเดินเรือแห่งชาติ 2% คิดเป็น 1.2 ล้านตัน ขีดความสามารถในการให้บริการจำเป็นต้องจัดหาเรือประเภท (1) เรือขนาด Handy Max ขนาด 32,000 เดทเวทตัน จำนวน 3 ลำ ให้บริการปีละ 8 รอบ (2) เรือขนาด Supra Max ขนาด 50,000 เดทเวทตัน จำนวน 2 ลำ ให้บริการปีละ 5 รอบ
ระยะที่ 2 (Second Phase) เป็นการให้บริการเดินเรือบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (Container Service) ให้บริการในเส้นทางเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง) อาเซียน (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) และกลุ่มประเทศ BIMSTEC (อินเดียและเมียนมา) ประเภทสินค้าที่ส่งออกจากไทย รวมปริมาณส่งออก 20 ล้านตัน สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศรวมปริมาณนำเข้า 9.1 ล้านตัน เบื้องต้นคาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะมาใช้บริการเรือบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ของบริษัทสายการเดินเรือแห่งชาติร้อยละ 2 ของการส่งออกและนำเข้า คิดเป็นจำนวนสินค้าคอนเทนเนอร์ 31,005 TEUS ขนาดของเรือที่จะเข้ามาให้บริการเป็นเรือตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ขนาด 1,500 TEUS (Feeder Size) จำนวน 4 ลำ แต่ละลำทำรอบหมุนเวียน 8 รอบต่อปี
ทั้งนี้ กทท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 จึงไม่สามารถจัดตั้งบริษัทลูกสายเดินเรือแห่งชาติได้ เนื่องจากการเดินเรือจัดเป็นกิจการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับ หรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการท่าเรือตามมาตรา 6 ดังนั้น ในการจัดตั้งบริษัทสายการเดินเรือแห่งชาติ ช่วงแรกจะต้องพิจารณาให้กระทรวงการคลังหรือหน่วยงานรัฐเข้าถือหุ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ.การท่าเรือฯ หากแล้วเสร็จจะทำให้ กทท.สามารถตั้งบริษัทลูก หรือถือหุ้นในบริษัทฯ ได้ในอนาคต
“เชื่อมั่นว่าในปี 66 การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติและการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทยจะเกิดขึ้นได้จริง ส่วนมูลค่าการลงทุนขึ้นกับหลายปัจจัย รวมถึงการจัดหาเรือใหม่ หรือใช้เรือมือสอง หรือเรือของผู้ร่วมทุนที่มีอยู่”
โดยคาดหมายว่าช่วงแรกจะมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำภายในประเทศที่ 10% (1 ล้านทีอียู) ของปริมาณทั้งสิ้น 10 ล้านทีอียู/ปี และมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 1 เท่าตัวใน 5-10 ปี”
ปัจจุบันการขนส่งในประเทศ ถนนมากสุดที่ 85% ทางราง 10% ทางน้ำ 5% การตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติมีเป้าหมายตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการขนส่งทางชายฝั่งและทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย จะเพิ่มสัดส่วนขนส่งทางน้ำเป็น 7% และ 10% ตามลำดับ และยังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เกิดการจ้างงานในธุรกิจการเดินเรือและกำไรที่ได้จากผลประกอบการ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางอ้อมไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การต่อเรือ การประกันวินาศภัยทางทะเล เป็นต้น
#TheStructureNews
#การท่าเรือแห่งประเทศไทย #สายเดินเรือแห่งชาติ
ไทย x เกาหลีสร้างคอนเทนต์ Delight Thaiส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผลักดัน 5F Soft Power ไทย
ทนายเกิดผล ชี้ ร้านค้าออนไลน์ให้ถ่ายคลิปเคลมของ ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องได้ ศาลพิพากษาสัญญาไม่เป็นธรรม ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบมากไป
วันสยาม ฉลองตรุษจีนกระต่ายทองเปิดแคมเปญ “ONESIAM Golden Prosperous Chinese New Year 2023” เร่งเครื่องต้นปี 2566 กระหน่ำแคมเปญต่อเนื่อง
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม