Articles“ทำไมบางคนอยากให้ไทยตกเป็นเมืองขึ้น? ส่องจิตใต้สำนึกของ “คนไทยใจตะวันตก” ผ่าน Colonial Mentality”

“ทำไมบางคนอยากให้ไทยตกเป็นเมืองขึ้น? ส่องจิตใต้สำนึกของ “คนไทยใจตะวันตก” ผ่าน Colonial Mentality”

ทำไมบางคนอยากให้ไทยตกเป็นเมืองขึ้น? : ส่องจิตใต้สำนึกของ “คนไทยใจตะวันตก” ผ่าน Colonial Mentality

 

ประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก ข้อเท็จจริงนี้เป็นสิ่งคนไทยทุกคนรับรู้กันดี และการที่มีเพียงไม่กี่ประเทศในโลก ที่สามารถรอดพ้นเงื้อมมือของจักรวรรดิมหาอำนาจตะวันตกในยุคแห่งการล่าอาณานิคมไปได้ ข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นหนึ่งในที่มาแห่งภาคภูมิใจในความเป็นชาติของคนไทยมาตลอดประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

 

อย่างไรก็ตาม ในซอกหลืบของโลกอินเทอร์เน็ต เราอาจมีโอกาสได้เห็นถึงความคิดของคนไทยกลุ่มหนึ่ง ที่มักกล่าวในทำนองตัดพ้อว่า ‘ทำไมประเทศไทยไม่เป็นเมืองขึ้น’ คือพวกเขาเหล่านี้กลับมองว่าการเป็นเมืองขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ โดยมักจะมีการกล่าวอ้างถึงเหตุผลต่าง ๆ มาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นคำกล่าวที่ว่า ถ้าเป็นเมืองขึ้นตะวันตก ‘คนไทยคงจะเก่งภาษามากขึ้น’, ‘สถาปัตยกรรมและทัศนียภาพของบ้านเมืองคงจะดูสวยงามขึ้น’, หรือ ‘ประเทศคงจะเจริญเหมือนตะวันตก’ ฯลฯ

 

สิ่งที่คนเหล่านี้อาจหลงลืมหรือไม่เคยรับรู้เลย นั่นคือ สภาพอันเป็นผลพวงจากการล่าอาณานิคมและการตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจตะวันตกของประเทศชาติ สังคม และประชาชนในประเทศต่าง ๆ ว่าในความเป็นจริงแล้วเป็นอย่างไร

 

เพราะหลังจากยุคล่าอาณานิคมได้ค่อย ๆ ปิดฉากลง นักวิชาการด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์, นักสังคมศาสตร์, นักมานุษยวิทยา, นักรัฐศาสตร์ ได้ทำการศึกษาค้นคว้าถึงข้อเท็จจริงของประเทศ ประชาชน และสังคมต่าง ๆ ที่เป็นอาณานิคมเหล่านั้น เพื่อให้เห็นถึงผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อันเกิดขึ้นจากการล่าอาณานิคมและการตกเป็นเมืองขึ้น ก่อกำเนิดเป็นสาขาวิชาหนึ่งที่เรียกว่า postcolonial studies หรือ postcolonialism

 

โดยการค้นคว้าในกรอบความคิดแบบ postcolonialism นั้นมีความกว้างมาก เพราะไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่แค่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการศึกษาอย่างเป็นองค์รวมให้เห็นถึงสภาพสังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง ไปจนถึงประเด็นทางภาษาและวัฒนธรรม, ศิลปะและสุนทรียศาสตร์, รวมทั้งจิตวิทยามวลชนของประเทศและประชาชนที่ตกเป็นอาณานิคม

 

ประเด็นทางจิตวิทยานี้เอง ที่อยากจะชวนมาทำความเข้าใจกัน เพราะนี่อาจจะเป็นสาเหตุ หรือต้นกำเนิดที่นำไปสู่ความคิด อยากตกเป็นเมืองขึ้น” ของคนไทยกลุ่มหนึ่งในยุคปัจจุบัน และรวมถึงความรู้สึกนึกคิดที่มองว่าความเป็นไทยนั้นด้อยกว่า-ต่ำกว่า ไปจนถึงว่าความเป็นไทยนั้นไม่มีอยู่จริงหรือต้องทำลายทิ้ง ในขณะเดียวกัน กลับเชิดชูความเป็นตะวันตก ทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม ทั้งทางศิลปะ-ภาษาและวัฒนธรรม-สุนทรีศาสตร์ ไปจนถึงการยอมรับนับถือคุณค่า-โลกทัศน์-ทัศนคติ การจัดการสังคมและการปกครองของตะวันตกว่ามีความเหนือกว่าในทุกมิติ และการใฝ่หา totality ของความเป็นตะวันตก (ความเป็นตะวันตกในทุกอณู) ของคนเหล่านี้ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

 

โดยหัวข้อที่จะชวนทำความเข้าใจนั้น คือประเด็นเรื่อง colonial mentality ซึ่งอาจแปลเป็นไทยได้ว่า “มโนทัศน์ของชาวอาณานิคม” หรือ “จิตใจของ [ประชาชน] ผู้ตกเป็นเมืองขึ้น”

 

แต่ก่อนที่จะไปพิจารณาถึง colonial mentality เราอาจจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งก่อน นั่นคือสิ่งที่ ดับเบิลยู. อี. บี. ดูบัวส์ (W. E. B. Du Bois) นักสังคมวิทยา, นักประวัติศาสตร์, และนักคิด-นักเขียนชาวแอฟริกัน-อเมริกันได้กล่าวไว้ในงานเขียนของเขา นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า double consciousness ซึ่งอาจแปลเป็นไทยได้ว่า “จิตสำนึกคู่” หรือ “จิตสำนึกทับซ้อน” [1]

 

โดยในหนังสือ “จิตวิญญาณของคนดำ” (The Souls of Black Folk) เขาได้กล่าวไว้ว่า

“ความรู้สึกแห่งจิตสำนึกทับซ้อนนี้มีความจำเพาะ มันคือ ความรู้สึกของการมองตัวเองผ่านสายตาของผู้อื่น การวัดจิตวิญญาณของตัวเองด้วยสายวัดของโลก ที่มองมาด้วยความเหยียดหยามและความสมเพชอันตลกขบขัน เขาผู้นั้นรู้สึกได้ถึงความเป็นสองของตัวเอง—เป็นอเมริกัน, เป็นนิโกร; สองจิตใจ, สองความคิด, สองการดิ้นรนที่เข้ากันไม่ได้; สองอุดมคติที่ทำสงครามกันเองภายในร่างกายสีดำ” [1]

 

แม้ว่าหนังสือของเขานั้นไม่ได้บรรยายถึงสภาพจิตใจผู้คนในประเทศที่ตกเป็นเมืองขึ้น แต่มันก็เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้เห็นภาพได้ชัดเจน ถึงการชนกันของสองอัตลักษณ์ สองโลกทัศน์ สองจิตใจ อันเป็นผลพวงจากสภาพสังคมการเมือง โดยกรณีของดูบัวส์ คือ การเป็นคนผิวสีในประเทศตะวันตก การเป็นคนแอฟริกันที่มีมรดกของการตกเป็นทาส-เป็นทรัพย์สินของคนผิวขาว เป็นคนดำที่เกิดและเติบโตในสังคมและประเทศที่มีคนขาวเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง ดูบัวส์ฉายภาพของความอึดอัด, ความอัดอั้น, และความเจ็บปวดของชาวแอฟริกันอเมริกัน ผ่านปรากฎการณ์ double consciousness

 

คำอธิบายเกี่ยวกับ double consciousness นั้นเป็นคำอธิบายที่ทรงพลัง และสะท้อนสภาวะความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี และเรียกได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่นักคิด-นักเขียน และนักวิชาการชาวอาณานิคมทั้งหลายต่างได้ข้อสรุปออกมาในทำนองเดียวกัน สิ่งนี้จึงปรากฏอยู่ในงานเขียนของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นชาวอาณานิคมแอฟริกา เช่น ควาเม อึงกรูมาห์ (Kwame Nkrumah), ชาวตะวันออกกลาง เช่น เอ็ดเวิร์ด ซาอีด (Edward Said) หรือ อัลเบิร์ต เมมมี (Albert Memmi), ชาวแคริบเบียนและอเมริกาใต้ อย่าง ฟรันทซ์ ฟานอน (Frantz Fanon) หรือ เอเม่ เซแซร์ (Aimé Césaire), ไปจนถึงชาวอินเดีย อย่าง คายตรี จักรวรรตี สปีวาก (Gayatri Chakravorty Spivak) และในหมู่นักคิด-นักเขียนอีกมากมาย หรือกระทั่งในงานเขียนของปราชญ์ชาวอินเดียอย่าง รพินทรนาถ ฐากุร (Rabindranath Tagore) ก็มีการสะท้อนธีม (theme) ของปรากฏการณ์ double consciousness ภายในชาวอาณานิคมไว้เช่นเดียวกัน

 

ฟรันทซ์ ฟานอน (Frantz Fanon) ชาวมาร์ตีนีค (ซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส) ในฐานะนักจิตวิทยา ได้บรรยายถึงสภาพจิตใจและอาการทางจิตของผู้ที่ตกเป็นเมืองขึ้นไว้อย่างละเอียด ในหนังสือ “ผิวดำ, หน้ากากขาว” (Black Skin, White Masks) ของเขา โดยในประเด็นเกี่ยวกับการโหยหาความเป็นตะวันตกและการปฏิเสธตัวเองของผู้คนในประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมนั้น เขาได้กล่าวไว้ว่า

“ผู้ที่ถูกล่าอาณานิคมทั้งหลาย—พูดอีกอย่างก็คือ ความเชื่อของผู้คนที่เชื่อว่า [ตัวเอง] ต่ำต้อยกว่า ได้ฝังรากลึกลง ผู้ที่ความสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม-ประเพณีท้องถิ่นของเขานั้น ถูกฆ่าและกลบดินไปเสียแล้ว—ได้วางตัวตามภาษาท่าทาง [ของประเทศ] ที่มีอารยะ นั่นคือ ตามวัฒนธรรมของประเทศเจ้าอาณานิคม ยิ่งผู้ถูกล่าอาณานิคมปรับตัวให้เข้ากับคุณค่าทางวัฒนธรรมของประเทศเจ้าอาณานิคมมากเท่าใด เขาก็จะยิ่งออกจากความป่าเถื่อนได้มากเท่านั้น ยิ่งเขาปฏิเสธความดำของเขา และ [ปฏิเสธ] ป่าเขาของเขาได้เท่าใด เขาก็ยิ่งขาวขึ้นเท่านั้น” [2]

 

ในทำนองเดียวกัน อัลเบิร์ต เมมมี (Albert Memmi) นักเขียนชาวตูนีเซีย (ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเช่นกัน) ได้เขียนหนังสือชื่อ “ผู้ล่าอาณานิคม และผู้ถูกล่าอาณานิคม” (The Colonizer and the Colonized) บรรยายว่า

“ปฏิกิริยาอย่างแรกของผู้ถูกล่าอาณานิคม คือ การเปลี่ยนแปลงสภาวะที่เขาตกอยู่นั้นผ่านการเปลี่ยนสีผิวของตัวเอง…ความทะเยอทะยานอย่างแรกของผู้ถูกล่าอาณานิคม คือ การขึ้นมามีความเท่าเทียมกันกับตัวอย่างที่งดงาม (ของผู้ล่าอาณานิคม — ผู้แปล) และความพยายามที่จะเป็นเหมือนเขา จนถึงขั้นสลายหายไปในเขา…ความรักในผู้ล่าอาณานิคมนั้นถูกห้อมล้อมด้วยความรู้สึกที่ซับซ้อน เริ่มตั้งแต่ความละอายใจ ไปจนถึงความเกลียดตัวเอง สินค้าที่ผลิตโดยผู้ล่าอาณานิคมนั้นถูกรับซื้อด้วยความมั่นใจ พฤติกรรม, เสื้อผ้า, อาหาร, สถาปัตยกรรมของเขา ถูกลอกเลียนแบบอย่างปราณีต แม้ว่าจะไม่เหมาะสมก็ตาม

 

ผู้ถูกล่าอาณานิคมไม่เพียงแต่จะพยายามไขว่คว้าเอาคุณค่าต่าง ๆ ของผู้ล่าอาณานิคมมาทำให้ตัวเองรุ่มรวย ในนามของสิ่งที่พวกเขาคาดหวังว่าจะเป็น เขาได้กำหนดความคิดของเขาในการทำให้ตัวเองยากจนลง ฉีกตัวเองออกจากตัวตนที่แท้จริง [เพราะ] การเหยียบย่ำผู้ถูกล่าอาณานิคมนั้นคือส่วนหนึ่งในคุณค่าของผู้ล่า [ดังนั้น] ทันทีที่ผู้ถูกล่ารับเอาคุณค่าเหล่านั้นแล้ว เขาก็รับเอาการเหยียดหยามตัวเองมาด้วยเช่นกัน อย่างน้อยที่สุด เขาคิดว่าการที่จะปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้นั้น เขายอมที่จะทำลายตัวเอง…

 

เขารู้สึกไร้เกียรติใน [ความเป็น] ตัวเอง ปกปิดมันจากสายตาของชาวต่างชาติ หรือกล่าวถ้อยคำแห่งความรังเกียจที่ [ดูแล้ว] น่าตลกขบขัน…แม้จะเจ็บปวดจากการปรับตัว ผู้ถูกล่าอาณานิคมนั้นปกปิดประวัติศาสตร์ของเขา, ประเพณีของเขา, รวมถึงต้นกำเนิดทุก ๆ อย่างของเขา ซึ่งถูกทำให้มองว่าเป็นสิ่งน่าอับอาย” [3]

 

เหล่านี้คือ งานเขียนที่สะท้อนถึงปรากฏการณ์ double consciousness ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมโนทัศน์ของชาวอาณานิคม (colonial mentality) ที่นำไปสู่การปฏิเสธ การด้อยค่า การเหยียดหยามตัวเอง และประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม-ประเพณีของตนเอง อันเป็นผลมาจากกระบวนการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจจักวรรดินิยมตะวันตก

 

นักวิชาการชาวอินเดียท่านหนึ่ง ได้อธิบายสรุปรวบยอดถึงผลกระทบทางจิตสำนึกและความคิดของการล่าอาณานิคมไว้ดังนี้

 

“การล่าอาณานิคมทำอะไรกับความคิดของคนท้องถิ่น? มันทำให้คนท้องถิ่นตกเป็นทาสทางความคิด ทำให้เขาเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการล่าอาณานิคมนั้นเป็นสิ่งที่ดี มันสร้างจิตใจหนึ่งที่อยู่ในเงามืด ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ของมันนั้นถูกกัดกร่อนลง และรับเอาความคิดและวิทยาการที่เป็นเพียงการลอกเลียนแบบ โดยที่ [จิตใจนั้นเองก็] ไม่รู้ มันนำไปสู่การลบเลือนความทรงจำทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดความไม่เชื่อมโยง [ระหว่างคนท้องถิ่น] กับวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา [ของพวกเขา]  ซึ่งมีอายุเป็นพัน ๆ ปี

มันทำให้คนนึกภาพ  [อย่างผิด ๆ] ว่าแนวคิดที่อยู่ในจักรวาลทางความคิดของชาวยุโรป โดยเฉพาะ [แนวคิด] ที่มีต้นกำเนิดจากยุคเรืองปัญญา เป็นสิ่งที่ไร้ซึ่งบริบท และเป็นสัจธรรมความจริงสากล มันทำให้ผู้คนที่ [ในประเทศที่] ถูกล่าอาณานิคมนั้น รู้สึกว่าวัฒนธรรมของพวกเขานั้นต่ำต้อยกว่า และการที่ [พวกเขา] ละทิ้งมันไปและรับเอาวัฒนธรรมที่ผู้ล่าอาณานิคมปฏิบัตินั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำ ถ้าต้องการเป็นที่ยอมรับนับถือว่ามีอารยธรรม” [4]

 

ย้อนกลับไปยังปมปัญหาแรกที่เรากล่าวถึง อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งคิดอยากให้ประเทศไทยเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิตะวันตก? คำตอบหนึ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า colonial mentality คือคนไทยกลุ่มนั้นมีมโนทัศน์ของผู้ที่ตกเป็นอาณานิคม และมีสิ่งที่เรียกว่า double consciousness นั่นคือ มีจิตสำนึกที่ซ้อนทับกันอยู่ กล่าวคือ จิตสำนึกของความเป็นไทย ที่อาจไม่เพียงแต่จะถูกซ้อนทับ แต่ถูกปิดทับ กดทับ หรือกลบฝังดินไปเสีย ในขณะที่จิตสำนึกของความเป็นตะวันตกนั้นกลับถูกนำขึ้นมาเชิดชูอยู่สูงสุดแทน

 

กระนั้น มันก็ยังไม่ได้มีคำตอบแน่ชัดว่า อะไรที่เป็นตัวการทำให้คนไทยมี colonial mentality ขึ้นมา เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของปมปัญหานี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดที่สุดนั่นคือ ประเทศไทยเป็นเอกราชและไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น คนไทยไม่เคยต้องเป็นผู้ถูกล่าอาณานิคมเหมือนกับผู้คนในประเทศต่าง ๆ ที่ยกตัวอย่างมา อะไรคือจุดเริ่มต้น อะไรคือปัจจัย ที่ทำให้คนไทยกลุ่มหนึ่งในปัจจุบันพัฒนา colonial mentality ขึ้นมาได้?

 

แต่จากการพินิจพิเคราะห์เพียงเล็กน้อย เราอาจจะพอได้ข้อสันนิษฐานบางอย่าง เช่น การล่าอาณานิคมอาจจะยังไม่ได้จบสิ้นจริงๆ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบออกไปจากเดิม ซึ่งประเด็นนี้มีการศึกษาค้นคว้าและวิเคราะห์จากนักวิชาการทั่วโลกในหลากหลายสาขาวิชา ที่กล่าวถึงปรากฏการณ์ “การล่าอาณานิคมใหม่” (neo-colonialism), อีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง คือ อิทธิพลทางความคิด (หรืออาจจะเรียกว่า soft power) ในมิติด้านคุณค่าทางวัฒนธรรมของโลกตะวันตก ที่ผ่านสื่อบันเทิงต่าง ๆ โดยเฉพาะผ่านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูดของสหรัฐอเมริกา [5]

 

หรืออีกคำอธิบายหนึ่งที่พอจะใช้เป็นข้อสันนิษฐานได้ โดยเฉพาะในมุมมองของการเมืองการปกครอง นั่นคือปรากฏการณ์ liberal hegemony ที่อาจแปลได้ว่า “ความเป็นมหาอำนาจของเสรีนิยม” จากการที่เสรีนิยมและประชาธิปไตยถูกฉายภาพและสนับสนุน ภายใต้การดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกา เป็นต้น [6] โดยเฉพาะการทำให้ผู้คนทั่วโลกมีความรู้สึกว่า คุณค่าจากแนวคิดและปรัชญาทางสังคมการเมืองของตะวันตกนั้นมีความเป็นจริง และเป็นสากลที่ใช้ได้กับทุกประเทศทั่วโลก [7] โดยไม่สนใจว่าอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทเฉพาะตัวของสังคมตนเอง แต่กลับพยายามบีบสังคมตนเองให้เข้ากับรูปแบบความเป็นตะวันตกที่ถือกันว่าเป็นมาตรฐาน

 

เหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในข้อสันนิษฐานถึงปัจจัย และที่มาที่ทำให้คนไทยกลุ่มหนึ่งนั้นมี colonial mentality ขึ้นมาทั้งที่ประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก อย่างไรก็ตามภาระของการตอบคำถามนี้อาจจะต้องตกอยู่กับนักคิด นักเขียน นักวิชาการด้านต่าง ๆ ของไทยเรา ที่ควรจะต้องหาโอกาสศึกษาค้นคว้าในมุมมอง postcolonialism เพื่อไขประเด็นปัญหาที่น่าสนใจนี้ต่อไป

อ้างอิง :

[1] บทความเกี่ยวกับ Double consciousness จากเว็บไซต์ วิกิพีเดีย

[2] หนังสือ “ผิวดำ, หน้ากากขาว” (Black Skin, White Masks) ของ ฟรันทซ์ ฟานอน (Frantz Fanon) บทที่ 1

Fanon, Frantz. Black Skin, White Masks. translated by Chales Lam Markmann, Pluto Press, London, 1986, p. 18.

[3] หนังสือ “ผู้ล่าอาณานิคม และผู้ถูกล่าอาณานิคม” (The Colonizer and the Colonized) ของ อัลเบิร์ต เมมมี (Albert Memmi)

Memmi, Albert. The Colonizer and the Colonized. translated by Howard Greenfeld, Earthscan Publications, 2003, p.164-166.

[4] บทความ “การตกเป็นอาณานิคมอีกครั้งของจิตสำนึกชาวอินเดีย” (The Recolonization of the Indian Mind) โดย ปีเตอร์ โรนัลด์ เดอซูซา Peter Ronald deSouza
เข้าถึงได้ที่ 

[5] บทความ “ทำความเข้าใจแนวคิดและวิธีการในการครอบงำทางความคิด และแผ่อิทธิพลทางวัฒนธรรม Pop-Culture” เว็บไซต์ The Structure

[6] บทความ “Liberal Hegemony ทำไมประเทศที่อ้างประชาธิปไตย ถึงชอบแทรกแซงกิจการของชาติอื่น” เว็บไซต์ The Structure

[7] บทความ “แนวคิดเสรีนิยมและประชาธิปไตย หลักการสากลที่ใช้ได้ทุกประเทศจริงหรือ” เว็บไซต์ The Structure

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า