คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค อนุมัติ “พ.ร.บ. ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า
ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. … ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดความรับผิดของผู้ประกอบการธุรกิจในความชำรุดบกพร่องของสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงสินค้าอื่นที่อาจกำหนดตามพระราชกฤษฎีกา
โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือเสื่อมความเหมาะสมภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจจะรู้ถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือไม่ก็ตาม โดยในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสินค้านั้นชำรุดบกพร่องในเวลาส่งมอบสินค้า
นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจยังต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ติดตั้งหรือประกอบสินค้านั้น หรือในกรณีที่ผู้บริโภคประกอบสินค้า หรือติดตั้งตามคู่มือที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้ แต่คู่มือนั้นกำหนดวิธีติดตั้ง หรือประกอบสินค้าโดยไม่ถูกต้องหรือครบถ้วน ซึ่งได้กำหนดสิทธิของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องไว้ดังนี้
ผู้บริโภคสามารถเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจซ่อมแซมสินค้า, เรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้า, ขอลดราคาสินค้า หรือเลิกสัญญา โดยการใช้สิทธิดังกล่าวไม่กระทบต่อสิทธิในการเรียกค่าเสียหายอื่นจากผู้ประกอบธุรกิจ และกรณีที่มีการทำข้อตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าซึ่งแตกต่างจากที่ พ.ร.บ.นี้กำหนด และเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคให้ถือว่าเป็นโมฆะ
อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในกรณีดังต่อไปนี้ คือ ผู้บริโภคได้รู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขายว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่อง, ผู้บริโภคได้ดัดแปลงสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบธุรกิจจนเป็นเหตุให้เกิดความชำรุดบกพร่อง, ผู้บริโภคไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่จำเป็นและสมควรเพื่อการบำรุงรักษาสินค้าที่ระบุในคู่มือการใช้งาน
“ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มการคุ้มครองสิทธิของประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าซึ่งซื้อขายกันทั่วไปเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และวิธีพิจารณาความแพ่งที่เป็นไปตามหลักผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นต้องพิสูจน์ ซึ่งมีความเหมาะสมกับสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อน แต่ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการกระบวนการผลิตสินค้าหลายชนิด ซึ่งทำให้สินค้ามีลักษณะหรือกลไกที่ซับซ้อน ผู้บริโภคไม่อาจพบเห็นความชำรุดบกพร่องของสินค้าได้ในเวลาซื้อขาย หรือส่งมอบ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาในปัจจุบัน
ทั้งนี้ จะมีสัญญาที่ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าฯ ได้แก่ สัญญาที่เกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ สัญญาการขายหรือเช่าซื้อสินค้าใช้แล้ว การขายหรือเช่าซื้อสินค้าตามสภาพ และการขยายทอดตลาด”
#TheStructureNews
#ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า #สิทธิผู้บริโภค
ปลดประธานสภาผู้แทน ฯ ครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา สภาล่างลงมติไม่ไว้วางใจ ไล่ออกจากตำแหน่ง
“การที่ท่าน ว. ไปรับนิมนต์มันไม่ผิดหรอก… แต่สิ่งที่ท่านทำแล้วมันน่ารังเกียจ คือท่านไปเที่ยวพูดอุดหนุนบริษัทแบบนี้ ที่มันเป็นการชักชวนมีคนไปลงทุนแบบนี้”
ขอเอกสาร 3 ครั้งแล้ว ถ้ายังไม่ให้อีก โทษถึงติดคุก ‘แกนนำ คปท.’ เผยผลการหารือกับ ‘ปปช.’ คดีการพักรักษาตัวชั้น 14ของ ‘ทักษิณ’
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม