ล้มล้างสวัสดิการ ขุดรากถอนโคนแนวคิดประชานิยมแบบแจกฟรี ของประธานาธิบดีอาร์เจนตินาคนใหม่
ประเทศหนึ่งที่เคยดำเนินนโยบายแจกแถมแนวประชานิยมมาอย่างยาวนานหลายสิบปีทั้งแบบอ่อนโยนและเข้มข้นซึ่งนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเรื้อรังที่เกาะกินมายาวนาน คือ ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งแม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่มหาศาลและพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นบริเวณที่สามารถเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ได้เป็นอย่างดี พร้อมกับทรัพยากรธรรมชาติแร่ธาตุมากมายที่สามารถใช้ในการพัฒนาประเทศให้เจริญไปข้างหน้า แต่กลับประสบกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจก่อนหน้าอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ ทิศทางของอาร์เจนตินาได้เปลี่ยนครั้งใหญ่ และการเปลี่ยนครั้งนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนประชานิยมแบบเข้มข้นให้เป็นประชานิยมแบบอ่อนโยนแต่อย่างใด แต่คือความพยายามครั้งใหญ่ในการรื้อแนวคิดประชานิยมที่ฝังรากลึกในสังคมอาร์เจนตินาทั้งในช่วงรัฐบาลพลเรือนและรัฐบาลทหารมาหลายสิบปีให้สิ้นซาก ด้วยแผนการปฏิวัติอิสรนิยมครั้งใหญ่ที่จะนำอาร์เจนตินากลับมามีอำนาจในระดับโลกภายใน 35 ปีต่อจากนี้
ทั้งหมดได้เกิดขึ้นจากการชนะเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมาของผู้สมัครประธานาธิบดีนามว่า ฆาบิเอร์ มิเลย์ (Javier Milei) ที่มีปูมหลังเป็นนักเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งได้เข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อไม่กี่วันก่อน พร้อมกับการแถลงนโยบายที่ฉีกกรอบธรรมเนียมทางการเมืองเดิมแบบคนละโลก ตั้งแต่การแถลงให้ประชาชนเตรียมแบกรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่จะส่งผลรุนแรงในช่วงระยะสั้น การแถลงในประเด็นด้านเศรษฐกิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ว่า เม็ดเงินในคลังแทบหมดเกลี้ยง
รวมทั้งการแถลงต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาประมาณว่า ประเทศอาร์เจนตินากำลังประสบวิกฤตและจะยิ่งรุนแรงขึ้นจากผลข้างเคียงของนโยบายถอนรากถอนโคนประชานิยมแต่สุดท้ายแล้วก็จะเป็นการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของอาร์เจนตินากลับมามีชีวิตอีกครั้งและสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้มั่นคงต่อไป
ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ ต้องย้อนเล็กน้อยว่า แนวคิดประชานิยมในอาร์เจนตินาได้ก่อตัวมาอย่างยาวนานมาตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อนที่จะเข้มแข็งและครอบครองสังคมอาร์เจนตินาอย่างเด็ดขาดในช่วงการเข้ามามีอำนาจของฆวน โดมิงโก เปรอน (Juan Domingo Perón) ที่มีปูมหลังเป็นนายทหารระดับสูง ซึ่งได้นำแนวคิดประชานิยมแบบเปรอน (Peronism) ในการรักษาฐานอำนาจและถูกใจประชาชนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ยากไร้และผู้ใช้แรงงาน พร้อมกับการทำให้อาร์เจนตินาได้อยู่ในวังวนของแนวคิดประชานิยมมาถึงปัจจุบัน
และแม้ว่าขั้วอำนาจเปรอนจะถูกโค่นล้มโดยกลุ่มนายทหารสายต่าง ๆ หรือแม้แต่ถูกเปลี่ยนขั้วอำนาจเป็นอีกขั้วหนึ่งจากการเลือกตั้งในช่วงรัฐบาลพลเรือน แต่ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือนหรือทหารต่างก็ได้มีการดำเนินนโยบายแบบประชานิยมทั้งต้องจำใจต้องทำเพื่อรักษาความนิยมทางการเมืองและตั้งใจทำเพื่อทำให้ตนเองได้รับความนิยมทางการเมืองต่อไป ซึ่งจะทำน้อยทำมากก็จะแล้วแต่รัฐบาลไป
ซึ่งเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาที่เคยมีชีวิตและมีบทบาทสำคัญในระดับโลกในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ได้ค่อย ๆ เสื่อมลง จากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดและภาระหนี้สินสะสมที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ได้มีรายรับมารองรับในส่วนนี้ จึงทำให้ในเวลาต่อมา อาร์เจนตินา ก็ต้องกู้ยืมเงินทุนจากต่างประเทศเพื่อใช้ในประเทศมาอย่างต่อเนื่องและต้องประสบปัญหาทั้งภาระการผิดนัดชำระหนี้สิน การขาดความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบผิด ๆ มายาวนาน
ทุกอย่างที่กล่าวมาก่อนหน้านั้น จะถูกซ้ำเติมให้สาหัสยิ่งขึ้นด้วยการยกระดับนโยบายประชานิยมให้สูงขึ้นไปอีกด้วยความหวังเล็ก ๆ ว่า จะเป็นการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้นจากดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและใช้จ่าย และการเข้ามาของวิกฤตโควิด 19 และวิกฤตความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลทำให้ค่าเงินเปโซอาร์เจนตินา อ่อนลงอย่างมหาศาล จากทั้งการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาและการแก้ปัญหาการขาดดุลทางการคลังของอาร์เจนตินาช่วงนั้นที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจให้หนักสาหัสไปอีก
โดยการสั่งให้มีการพิมพ์เงินเข้าไปในระบบเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อใช้จ่ายในภาครัฐที่มีรายจ่ายมหาศาลทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนในโครงการของรัฐที่มักเป็นโครงการประชานิยมทั้งหลาย ซึ่งอาร์เจนตินาก็มีหนี้สินต่างประเทศเป็นจำนวนมากและการพิมพ์เงินเข้าไปจำนวนมากก็ย่อมเป็นการทำให้ภาระหนี้ยิ่งสาหัสไปอีก จนทำให้อาร์เจนตินาประสบปัญหาเศรษฐกิจแบบหลายชั้นอย่างแท้จริง
จนทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอาร์เจนตินาที่เคยได้รับประโยชน์อันล้นเหลือจากนโยบายประชานิยมมาโดยตลอดต่างเดือดร้อนจากวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงสาหัสอย่างรุนแรง และแปรเปลี่ยนมุมมองทางการเมืองกลายเป็นอีกหน้าหนึ่งอย่างเด็ดขาด เมื่อเริ่มมีการนำเสนอแนวคิดทางการเมืองที่สุดโต่งในการจัดการปัญหาทางเศรษฐกิจนี้ ที่ทั้งพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายกลางดั้งเดิมซึ่งดำเนินนโยบายประชานิยมเข้มข้นและพรรคการเมืองฝ่ายขวากลางดั้งเดิมซึ่งดำเนินนโยบายประชานิยมอ่อนโยนต่างก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้เลย
กลายเป็นการผงาดขึ้นของนักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมืองเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาพร้อมนโยบายสุดตึงในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอาร์เจนตินาให้กลับมาเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีชีวิตและมีบทบาทในทางเศรษฐกิจโลก ด้วยการลดกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ การลดรายจ่ายภาครัฐทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนที่เป็นโครงการประชานิยมโดยส่วนใหญ่ รวมทั้งการลดภาษีลงซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เศรษฐกิจอาร์เจนตินากลับมาตื่นตัวอีกครั้งหลังการประสบวิกฤตจากการใช้จ่ายเกินตัวมาโดยตลอด
แน่นอนว่า การปฏิรูปที่มีหน้าตาเหมือนการปฏิวัติทางเศรษฐกิจนั้น ได้ถูกใจคนอาร์เจนตินาโดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจนและคนชายขอบของสังคมที่มองว่า ตนเองจะได้มีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นและได้ลงมือทำด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาอะไรมากมายจากภาครัฐที่ไม่สามารถดูแลประชาชนในช่วงก่อนหน้าได้จริงและด้วยวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ “พอกันที” ที่เป็นการเลือกตั้งให้คนนอกทางการเมืองที่ไม่ใช่ทั้งฝ่ายซ้ายกลางและฝ่ายขวากลางเดิม ควบคู่กับกลยุทธ์การหาเสียงของฆาบิเอร์ มิเลย์ (Javier Milei) ที่สื่อสารตรงไปตรงมา มีการนำเสนอนโยบายที่พยายามให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และสามารถเข้าถึงทุกคนได้ พร้อมกับการโจมตีระบบการเมืองของอาร์เจนตินาที่เป็นต้นเหตุของความล้มเหลวทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขนานใหญ่ จนทำให้ม้ามืดทางการเมืองนี้สามารถขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้ในที่สุด
ทั้งนี้ นโยบายสุดตึงใจที่จะผลักดันนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำได้เลยทั้งหมด ทั้งจากระบบแนวคิดประชานิยมที่ยังฝังรากลึก วิกฤตเศรษฐกิจที่ยังดำรงอยู่อย่างเข้มข้น รวมทั้งการจัดตั้งคณะร่วมรัฐบาลที่มีทั้งพรรคอิสรนิยมของ ฆาบิเอร์ มิเลย์ (Javier Milei) และพรรคการเมืองสายขวากลาง ก็ทำให้การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจจะต้องเปลี่ยนแปลงค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสร้างผลข้างเคียงที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองสายขวากลางในช่วงหลัง ๆ นี้ต่างก็มีจุดมุ่งหมายที่จริงจังขึ้นในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากแนวคิดประชานิยมเข้มข้นภายใต้การนำของรัฐบาลฝ่ายซ้ายกลางก่อนหน้า จึงเป็นแนวโน้มสำคัญที่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเกิดขึ้นอย่างจริงจังและได้ริเริ่มนโยบายพร้อมใช้งานจริงไปแล้วหลายนโยบายที่ได้มีการหาเสียงโดยพรรคอิสรนิยม ขนานไปกับการเตือนประชาชนอาร์เจนตินาให้อดทนกับผลข้างเคียงระยะสั้นจากการปฏิรูปแบบเฉียบพลัน (Shock Therapy) ที่จะนำไปสู่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ดังนั้นแล้ว แม้ว่าอาร์เจนตินาจะประสบพบเจอกับความวุ่นวายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง แต่ในวันนี้ก็ได้โอกาสสำคัญในการแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจที่เรื้อรังให้กลับมาแข็งแรงขึ้น ซึ่งช่วงต่อจากนี้ก็จะเป็นบททดสอบที่ประเทศจะต้องแบกรับและผ่านไปให้ได้เพื่อให้ผลลัพธ์ของการปฏิรูปครั้งใหญ่นี้สามารถผลิดอกออกผลได้ดีและคุ้มค่าต่อราคาที่ต้องจ่ายในรูปของผลข้างเคียงทางเศรษฐกิจ
สุดท้ายนี้ ความสนใจสำคัญของการขึ้นมาของผู้นำคนล่าสุดของอาร์เจนตินา ไม่ใช่เพียงแนวคิดในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจเท่านั้น แต่คือ การให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองและมีศักดิ์ศรีของตนเองในการทำมาหากินได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงจากภาครัฐตลอดเวลาเหมือนที่เคยทำก่อนหน้า ดังที่ได้มีการกล่าวมาในการหาเสียงครั้งหนึ่งโดยมีความหมายนัยว่า
“ฉันไม่ต้องการขึ้นมามีอำนาจเพื่อที่จะนำพวกฝูงแกะ ฉันกลับต้องการขึ้นมามีอำนาจเพื่อที่จะนำฝูงสิงโตและได้ยินเสียงสิงโตคำราม ขอให้อิสรภาพจงเจริญ”
โดย ชย
อ้างอิง:
[1] Peronism in Argentina exemplifies the chamaeleonic nature of populism.
https://theloop.ecpr.eu/peronism-in-argentina-is-populism-in-the-mainstream/
[2] Argentina’s populist political movement is at its lowest ebb.
[3] Who is Javier Milei, Argentina’s far-right populist politician?
[4] Chainsaw Government: What to Expect from Argentina’s Javier Milei
https://nacla.org/chainsaw-government-argentina-javier-milei
[5] Argentina election: Javier Milei’s radical proposals face test of reality