
ขาดทุนครั้งประวัติศาสตร์ Intel ประกาศกำไรต่อหุ้นร่วงแรง 133% เหตุยอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลลดฮวบ
Intel บริษัทผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2023 ขาดทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังยอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลลดฮวบ
Intel เปิดเผยว่าบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 2.8 พันล้านดอลลาร์ (ราว 9.6 หมื่นล้านบาท) หรือคิดเป็น 66 เซนต์ต่อหุ้น (ราว 3.43 บาท) ในไตรมาส 1/2023 ซึ่งสวนทางกับในไตรมาส 1/2022 ที่มีผลกำไรสุทธิ 8.1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 2.8 แสนล้านบาท) หรือ 1.98 ดอลลาร์ต่อหุ้น (ราว 68 บาท) ขณะที่รายได้ลดลง 36% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 1.17 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 4 แสนล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม สำหรับไตรมาสที่สอง Intel คาดกว่ารายรับจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยคาดการณ์ยอดขายที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 4.1 แสนล้านบาท) และขาดทุนที่ 4 เซนต์ต่อหุ้น (0.21 บาท) โดยการคาดการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นอินเทลปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 4% ในการซื้อขายนอกเวลาทำการ
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ธุรกิจที่เคยทำเงินให้ Intel ในอดีตกำลังประสบปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจชิปสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) เป็นไลน์ธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สุดของอินเทล โดยรายงานล่าสุดของบริษัทวิจัยตลาด IDC ระบุว่า ยอดการจัดส่ง PC ทั่วโลกลดลงเกือบ 30% ในไตรมาสแรก เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิต PC ทั่วโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว
ธุรกิจ Client Computing ของ Intel ที่ดูแลผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์พีซี ซึ่งรวมถึงการผลิตชิปที่ใช้ในเดสก์ท็อปและแล็ปท็อป มีรายได้ลดลง 38% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 5.8 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.98 แสนล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม นายแพท เกลซิงเกอร์ ซีอีโอของ Intel กล่าวว่าเขาเริ่มเห็นเสถียรภาพที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดพีซี และยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาด IT ไว้ได้
อินเทลยังกล่าวด้วยว่าความพยายามล่าสุดในการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งรวมถึงการปลดพนักงานนั้นได้ผล และคาดว่าบริษัทจะประหยัดเงินได้ประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1 แสนล้านบาท) ในปี 2566 และมากถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 3.4 แสนล้านบาท) ภายในปี 2025
(1 ดอลลาร์ = 34.13 บาท)