
อินเดีย-จีน ตกลงแก้ปัญหาพรมแดนโดยระหว่างนี้จะรักษาโมเมนตัมของการเจรจาทั้งการทหารและการทูต เพื่อบรรลุเป้าหมาย
อินเดียและจีนได้จัดการเจรจารอบใหม่ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขความขัดแย้งบริเวณชายแดนพื้นที่พิพาทบนเทือกเขาหิมาลัย
อินเดีย-จีนกล่าวในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (15 ส.ค.) หลังการประชุมระดับผู้บัญชาการกองพลอินเดีย-จีนรอบที่ 19 ว่าทั้งสองประเทศตกลงที่จะแก้ไขความขัดแย้งบริเวณพื้นที่พิพาทที่เรียกว่า แนวเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง หรือ LAC อย่างรวดเร็ว นอกเหนือไปจากการรักษาสันติภาพและความสงบสุขในพื้นที่ชายแดน
“ทั้งสองประเทศตกลงที่จะแก้ไขปัญหาที่เหลืออยู่อย่างรวดเร็วและรักษาโมเมนตัมของการเจรจาผ่านช่องทางการทหารและการทูต โดยในระหว่างนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะรักษาสันติภาพและความเงียบสงบในพื้นที่ชายแดน” ถ้อยแถลงระบุ
การเจรจารอบล่าสุดมีขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียและประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนมีกำหนดพบกันที่การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ “บริกส์” (BRICS) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้น ณ นครโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคมนี้ และหลังจากนั้นในเดือนกันยายนระหว่างการประชุมสุดยอด G20 ที่กรุงนิวเดลี
สื่อท้องถิ่นของอินเดียรายงานว่า การเจรจาระหว่าง อินเดีย-จีน ในครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ประเด็นต่างๆ ในวงกว้าง โดยทั้งสองฝ่ายตัดสินใจที่จะนำเสนอมาตรการสร้างความเชื่อมั่นที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหยุดการสร้างกองกำลังและยุทโธปกรณ์ตามแนวชายแดน
ทั้งนี้ แม้จะมีการปลดประจำการหลายครั้งที่บริเวณหุบเขากาลวาน (Galwan Valley), ทะเลสาบผางกงโฉ(Pangong Tso) และบริเวณอื่นๆ หลายแห่งตามแนว LAC อย่างไรก็ตาม กองทัพอินเดียและจีนยังคงรักษากองกำลังขนาดใหญ่ไว้
ยุทโธปกรณ์และทหารหลายพันนายถูกส่งเข้าประจำการตามแนว LAC นับตั้งแต่การปะทะกันที่หุบเขากาลวานในปี 2563 ซึ่งเป็นการปะทะกันบริเวณชายแดนครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งได้คร่าชีวิตทหารอินเดียอย่างน้อย 20 นายและจีน 4 นาย
ที่มา: สำนักข่าวอาร์ที