Newsจุดกำเนิดของสกุลเงินดอลลาร์ จากเสือซุ่มเงียบ สู่ความเป็นมหาอำนาจทางการเงิน และความเสื่อมถอยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยใหม่

จุดกำเนิดของสกุลเงินดอลลาร์ จากเสือซุ่มเงียบ สู่ความเป็นมหาอำนาจทางการเงิน และความเสื่อมถอยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยใหม่

สกุลเงินในปัจจุบันหนึ่งที่ทรงพลังและเป็นที่นิยมของผู้คนจำนวนมากบนโลกใบนี้ ย่อมหนีไม่พ้นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาที่เป็นสกุลเงินหลักที่ใช้ในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ บางส่วน รวมทั้งเป็นสกุลเงินรองในหลายประเทศ ซึ่งตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น สกุลเงินดอลลาร์ได้กลายเป็นสกุลเงินหลักของโลกโดยเฉพาะในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ แม้ว่าจะเริ่มปรากฏถึงความเสื่อมถอยในเรื่องบทบาทของสกุลเงินดอลลาร์ในห้วงเวลาปัจจุบันก็ตาม

 

โดยจุดเริ่มต้นของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาได้เกิดขึ้นในจังหวะเดียวกับการก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา และทยอยสะสมความมั่งคั่งภายในประเทศจากการขยายตัวด้านการสำรวจดินแดนฝั่งตะวันตก การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำพวกทางรถไฟ ท่าเรือ จนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และค่อย ๆ มีบทบาทในระบบเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ 

 

อีกทั้งสหรัฐอเมริกายังมีนโยบายไม่เกี่ยวข้องกับกิจการในยุโรป มาตั้งแต่การก่อตั้งประเทศอย่างเป็นทางการ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับภายนอกได้แทบทั้งหมดและสามารถใส่ใจกับการพัฒนาประเทศอย่างเต็มที่ ในขณะที่ทวีปยุโรปมักมีความขัดแย้งทางการทหารและการเมืองอยู่เรื่อย ๆ จึงทำให้การสะสมพลังทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

 

สัญญาณแรกของการมีบทบาททางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา คือ ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่สหรัฐอเมริกาเริ่มมีบทบาททางเศรษฐกิจในระดับเดียวกับมหาอำนาจชั้นหนึ่งของโลกตอนนั้น คือ อังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมัน ซึ่งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้ทำให้ยุโรปสูญเสียพลังทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก จากการเป็นสนามรบในสงครามและต้องทุ่มให้กับอุตสาหกรรมการทหารในประเทศ

 

ในขณะที่สหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะเข้าร่วมสงครามในภายหลัง แต่ด้วยไม่ได้เป็นสนามรบและมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ จึงสามารถเข้าร่วมสงครามโดยไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนัก ทำให้หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาจึงเริ่มมีบทบาทในฐานะผู้ให้กู้ยืมแก่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เพื่อใช้ในการฟื้นฟูประเทศ แต่สกุลเงินหลักของโลกในขณะนั้นก็ยังคงเป็นสกุลเงินปอนด์ของอังกฤษอยู่

 

จุดที่ทำให้สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นมหาอำนาจทางการเงินอย่างแท้จริง คือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐอเมริกาได้ติดหล่มในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) ซึ่งทำให้ผลผลิตทางอุตสาหกรรมลดลงอย่างรวดเร็วจากความฝืดเคืองในระบบเศรษฐกิจ แต่ทั้งหมดก็เปลี่ยนไปเมื่อญี่ปุ่นทำการโจมตีหมู่เกาะฮาวายในปี ค.ศ.1941 พร้อมประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาในภายหลัง

 

ตรงนี้จึงเท่ากับเป็นการติดดาบให้กับสหรัฐอเมริกาทั้งในด้านเศรษฐกิจที่ความต้องการผลิตสูงขึ้นมหาศาล ด้านการทหารที่เกิดการยกระดับกองทัพสหรัฐอเมริกาครั้งใหญ่ และด้านการเมืองที่ฉายแสงมาที่สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้นำโลกเสรี หลังจากอังกฤษได้เผชิญภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนหน้า และเริ่มส่อถึงความเสื่อมทั้งในด้านการเมือง การทหารและเศรษฐกิจ ในฐานะอภิมหาอำนาจโลกห้วงเวลานั้น

 

สหรัฐอเมริกาจึงเป็นทั้งผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรในทางการทหาร เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศต่าง ๆ และยังเป็นผู้นำโลกเสรี ตรงนี้จึงได้ทำให้สหรัฐอเมริกาที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมเทคโนโลยีดีอยู่แล้วได้ยกระดับตนเองเป็นอภิมหาอำนาจของโลกต่อจากอังกฤษ และหลังจากการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นการยืนยันแล้วว่า สกุลเงินดอลลาร์จะเริ่มมีบทบาทแทนที่สกุลเงินปอนด์ในฐานะสกุลเงินหลักของโลก

 

หลังจากนี้จะเป็นการนำระบบการเงินของสหรัฐอเมริกาเข้ามาใช้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยช่วงเวลานั้นได้เลือกใช้ระบบตะกร้าเงินดอลลาร์ซึ่งประเทศต่าง ๆ จะใช้สกุลเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ สามารถแลกดอลลาร์กับทองคำในอัตราตายตัวกับสหรัฐอเมริกา จึงทำให้สกุลเงินดอลลาร์เริ่มแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วในจังหวะเดียวกับบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐอเมริกาที่กำลังทะยานไปอย่างรวดเร็ว

 

แต่ความรุ่งเรืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของสหรัฐอเมริกาก็ส่อว่าจะเริ่มถดถอยจากทั้งการพิมพ์เงินในระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากเพื่อใช้จ่ายในภาครัฐซึ่งทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในประเทศ ประกอบกับการที่หลายประเทศเริ่มทำการแลกเงินดอลลาร์กับทองคำมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาทั้งขาดดุลการเงิน และการคลังในระดับสูง 

 

ร้ายกว่านั้น การขาดดุลเหล่านี้ก็รุนแรงยิ่งกว่า เมื่อสหรัฐอเมริกาต้องมีบทบาทครั้งสำคัญในสงครามเวียดนาม ซึ่งจะต้องมีการใช้จ่ายมหาศาลในระบบเศรษฐกิจและเป็นการใช้จ่ายที่รั่วไหลสู่ภายนอกระบบเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและไม่ได้ไหลเวียนอยู่ในประเทศมากนัก จึงทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของสกุลเงินดอลลาร์เริ่มมีแนวโน้มที่จะเสื่อมลงในเวลานั้น

 

ต่อมา สหรัฐอเมริกาจึงได้ดำเนินนโยบายใหม่ด้วยการยกเลิกระบบตะกร้าเงินดอลลาร์ที่ผูกสกุลเงินดอลลาร์ไปกับทองคำ และใช้ระบบการเงินแบบใหม่ที่อ้างอิงดอลลาร์ด้วยกันเอง ซึ่งจะเป็นการอ้างอิงความน่าเชื่อถือของสกุลเงินดอลลาร์และให้ประเทศต่าง ๆ อ้างอิงสกุลเงินดอลลาร์ที่ไม่มีทองคำมาค้ำประกันอีกต่อไป ทั้งหมดนี้ประกาศใช้ในปี ค.ศ.1971 (พ.ศ.2514)

 

ทว่าประเทศทุนนิยมแทบทั้งหมดในโลกก็ยังคงใช้งานสกุลเงินดอลลาร์ในการซื้อขายระหว่างประเทศอยู่ต่อไป แม้ว่าจะไม่มีทองคำค้ำประกันแล้วก็ตาม ด้วยเหตุผลที่สหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลก มีกองทัพขนาดใหญ่และเป็นผู้นำโลกทุนนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์และการสิ้นสภาพของสหภาพโซเวียตในช่วงหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1991 (พ.ศ.2534)

 

ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นอภิมหาอำนาจทางการเมือง การทหารและเศรษฐกิจ เพียงหนึ่งเดียวของโลก และไม่มีคู่แข่งใด ๆ ที่สามารถเทียบได้เลยในช่วงเวลานั้น และเป็นเหตุให้สกุลเงินดอลลาร์ยิ่งเป็นที่นิยมของประเทศส่วนใหญ่บนโลกในการซื้อขายระหว่างประเทศอยู่ต่อไป จนกล่าวได้ว่าในทศวรรษ 1990 คือ ทศวรรษทองของระบบเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐอเมริกาอย่างแท้จริง

 

สุดท้ายนี้แม้ว่า ช่วงเข้าสู่ยุค 2000 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาจะเริ่มประสบกับความท้าทายใหม่ ๆ มากมายอยู่ก็ตาม โดยเฉพาะเมื่อจีนและรัสเซียเริ่มกลับมามีบทบาทในทางการเมืองและเศรษฐกิจอีกครั้งจนอาจเริ่มสั่นสะเทือนความศักดิ์สิทธิ์ของสกุลเงินดอลลาร์ที่อ้างอิงความน่าเชื่อถือของตนเองอยู่ และแน่นอนว่า 

 

จะเป็นบททดสอบสำคัญของสกุลเงินหลักของโลกอย่างดอลลาร์สหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาต่อจากนี้

 

โดย ชย

อ้างอิง:

[1] The History of U.S. Currency

https://www.uscurrency.gov/history?period=All

[2] Creation of the Bretton Woods System

https://www.federalreservehistory.org/essays/bretton-woods-created

[3] Nixon Ends Convertibility of U.S. Dollars to Gold and Announces Wage/Price Controls

https://www.federalreservehistory.org/essays/gold-convertibility-ends

[4] Dollar dominance: Preserving the US dollar’s status as the global reserve currency

https://www.atlanticcouncil.org/commentary/testimony/dollar-dominance-preserving-the-us-dollars-status-as-the-global-reserve-currency/

[5] Why the dollar’s dominance is declining in the Middle East

https://www.dw.com/en/why-the-dollars-dominance-is-declining-in-the-middle-east/a-65662358



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า