NewsHere We Go 29

Here We Go 29

อาทิตย์นี้บ้านเมืองเราไม่ค่อยมีเรื่องอะไรให้เครียด อาจเป็นเพราะการเมืองนิ่งๆ ไม่โลดโผนโจนทะยาน รอฟังศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยกรณีคุณประยุทธ์อย่างไร จะมีก็แต่คุณตู่จตุพร กับเพื่อนพ้องน้องพี่นัดชุมนุมกันไม่หยุด คนไม่มากนัก ไม่สามารถทำให้คนออกมาเยอะๆ ได้ เบื่อ ไม่ชอบเปียกฝน คนจัดไม่เป็นที่จูงใจให้ออกมา สาระเป้าหมายยังไม่โดนใจ

 

อีกสองสามอาทิตย์ ถ้าศาลตัดสินถูกใจใครหรือไม่ถูกใจใคร เวลานั้นความเครียดน่าจะกลับมาครองใจคนไทยอีกสักรอบอีกสักระยะ ช่วงนี้ก็เอาใจช่วยคุณประวิตรให้ทำหน้าที่แทนได้อย่างสวยงามไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นการดี

———-
ปัญหาเศรษฐกิจกับมาตรการเยียวยา
———-

 

ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะเป็นวิกฤตในบ้านเมืองไม่น่าจะมีอะไรนะ น่าห่วงแต่เรื่องเศรษฐกิจมากกว่าอย่างอื่น มาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อยที่เพิ่งเพิ่มเงินในกระเป๋าตังตามโครงการคนละครึ่ง พอทำให้ชาวบ้านอุ่นใจรับค่าไฟ ค่าก๊าซหุงต้มที่สูงขึ้นได้บ้างเล็กน้อย ไม่ได้ดั่งใจแต่ยังดีที่ได้เงินมาจุนเจือบ้าง

 

ราคาน้ำมันขึ้นๆ ลงๆ ตอนนี้ดูเหมือนราคาน้ำมันลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้น ลดรายจ่ายคนชั้นกลางได้นิดหน่อย นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้ามามากขึ้น คนไทยเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นเพราะ โครงการเราเที่ยวด้วยกันออกฤทธิ์ในต่างจังหวัด ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยพอมีรายได้สูงขึ้น โรงแรม ร้านอาหาร รถรับจ้าง ร้านขายของที่ระลึก ร้านค้าชุมชน เหล่านี้พอไปได้

 

———-
เฝ้าระวังสึนามิเศรษฐกิจสะเทือนถึงไทย
———-

 

มีคลื่นสึนามิอยู่ลูกหนึ่งที่ต้องระวัง อย่าให้มาถึงประเทศไทย การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ธนาคารกลางสหรัฐทำให้ปั่นป่วนไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ไปทั่วโลก เศรษฐีมีเงินที่เป็นมูลค่าในตลาดหุ้นหดหายไปเยอะเลย เพราะราคาหุ้นตกลงต่อเนื่อง กูรูการเงิน การธนาคารของบ้านเราส่งสัญญาณเตือนมาอย่างน่ารับฟัง และเราต้องเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบที่อาจมาถึงบ้านเรา

 

เฟดขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากอย่างต่อเนื่องจาก 0 – 0.25% ปรับขึ้นสี่ครั้งขึ้นมาที่ 2.25 – 2.8% แต่เชื่อว่าไม่หยุด เพียงแค่นี้ เป้าหมายของเฟดอยู่ 3.5% เพื่อสยบภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นไปถึง 9.1% ให้หยุดอย่างเด็ดขาดและแก้ไขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบมาสองไตรมาสติดต่อกันแบบไม่เคยเป็นมาก่อน

 

เพราะเฟดเชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นไปของสหรัฐฯ ยิ่งกว่าภาวะดอกเบี้ยแพง จึงต้องยอมให้การลงทุนของภาคเอกชนลดลง การจับจ่ายใช้สอยลดลง

 

กูรูทั้งหลายกำลังมองว่าสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ระยะเศรษฐกิจถดถอย แต่คุณไบเดนและประธานเฟดเถียงคอเป็นเอ็นว่า “ยังไม่ถดถอย” เพราะคำว่าถดถอยแปลว่าต้องแย่ไปหมดทุกอย่างแบบต่อเนื่อง ตอนนี้เวลานี้หลายอย่างยังดีอยู่ ตลาดแรงงานยังแข็งแรง

 

ที่ว่าเป็นสึนามิ เพราะมีหลายประเทศที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น ศรีลังกาที่ล้มลงไปแล้ว มีสัญญาณไม่ค่อยดีและอาจลุกลามต่อไปถึงปากีสถานที่น้ำกำลังท่วมหนักเสียหายยับเยิน เมียนมาร์ที่มีปัญหาความไม่สงบภายในรุมเร้าอย่างหนักหน่วง ค่าเงินอ่อนแออย่างรุนแรง

 

และอีกหลายประเทศที่กำลังประสบภาวะซวนเซ ลาว อาร์เจนติน่า ชิลี แม้ยังไม่เห็นชื่อประเทศไทยอยู่ในบัญชีภาวะสุ่มเสี่ยง แต่ก็มิอาจวางใจได้

 

เรื่องนี้เชื่อว่ารัฐบาลก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ดี คงตระหนัก เฝ้าดู เตรียมการ และเข้าจัดการกับปัญหาได้ทันท่วงที ตอนนี้นายกตัวจริงไม่อยู่ ไปพักชั่วคราว ผู้เกี่ยวข้องอย่ามัวแต่รอ ต้องเดินหน้ารับมือได้แล้ว


———-
ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน
———-

ไหนๆ พูดเรื่องสัญญาณไม่ค่อยดีทางการเงินแล้ว อยากคุยต่อเรื่องเบาๆ แต่อาจส่งผลกระทบรุนแรงในอนาคตอันเกิดจากความตึงเครียดที่ช่องแคบไต้หวัน หลังจากที่ประธานรัฐสภาของสหรัฐฯเดินทางเยือนไต้หวันช่วงต้นสิงหาคมที่ผ่านมา

 

ผลที่ตามมา คือ การประกาศซ้อมรบของจีนรอบเกาะไต้หวัน ทำให้กองเรือขนส่งสินค้าไม่สามารถแล่นผ่านได้ตามปกติหรือต้องแล่นอ้อมไปเส้นทางอื่น ทำให้สินค้าหลายรายการเกิดขาดแคลนและมีต้นทุนที่สูงขึ้น

 

อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ เบาๆ ประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ชิป (Chips) ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตโดยบริษัท TSMC ของไต้หวันที่มีสัดส่วนถึง 65% ที่ส่งไปใช้ทั่วโลก พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

 

ทำให้ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์น้อยใหญ่ ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ เครื่องบิน ไปจนถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างระส่ำระสายกันไปทั่ว ยังไม่นับรวมถึงชิประดับสูงที่ใช้กับอุปกรณ์ไฮเทคโนโลยีที่บริษัท TSMC ครองตลาดถึง 90% ที่สร้างรายได้ให้ไต้หวันเกือบ 50% เกิดการชะงักงันในการส่งมอบ

 

ทำให้ประเทศอภิมหาอำนาจทั้งหลายที่มีความต้องการสินค้าเหล่านี้ มีความเป็นห่วงต่อสถานภาพของไต้หวันเป็นอย่างยิ่ง 

 

จีนเองแม้อยากจะได้ไต้หวันมาครอง แต่ก็ไม่กล้าที่จะใช้กำลังเข้าโจมตีฝั่งตะวันตกของไต้หวันที่อยู่ใกล้จีนแผ่นดินใหญ่ที่สุด เพราะพื้นที่แถบนั้นเป็นที่ตั้งโรงงานของบริษัท TSMC เพราะหากเกิดความเสียหาย สินค้าหรือเทคโนโลยีการผลิตชิประดับสูงจะเสียหายไปด้วย 

 

ขณะที่จีนมีขีดความสามารถในการผลิตแค่ชิประดับล่างและระดับกลางเท่านั้น  นอกจากไต้หวันแล้วประเทศที่มีขีดความสามารถในการผลิตชิประดับสูงมีเพียงแค่สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ความสามารถทั้งหมดรวมกันแล้วยังไม่ 10% เมื่อเทียบกับบริษัท TSMC

 

———-
สหรัฐฯ กับแผนการผลิตชิปแทนไต้หวัน
———-

 

ขณะที่สหรัฐฯ วางแผนสูงที่จะดึงโรงงาน TSMC ให้ย้ายฐานการผลิตไปที่รัฐแอริโซนา ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานการฝึกเครื่องบิน F-16  ให้แก่นักบินรบของไต้หวัน ประธานาธิบดีไต้หวันยืนยันและเริ่มสร้างโรงงานแล้ว คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2024 ภายใต้การอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่างของรัฐบาลสหรัฐฯ

  

หลังจากนั้นสหรัฐฯ จะครองส่วนแบ่งการตลาดจำหน่าย และจะมีอำนาจด้านไฮเทคโนโลยีอย่างแท้จริง รวมทั้งจะสร้างความมั่นคงทางด้านไซเบอร์ให้แข็งแกร่งอีกด้วย ทั้งยังสกัดกั้นการขยายอำนาจของจีนในสินค้าไฮเทค และลดทอนขีดความสามารถทางเทคโนโลยีด้านการทหารที่ไล่ตามสหรัฐฯ มาติดๆ ให้ห่างชั้นออกไปด้วย

 

ที่ผ่านมาจีนได้แต่งดส่งทรายบริสุทธิ์ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตชิปแก่ไต้หวัน โดยหวังว่ารายได้ของไต้หวันจะหายไปจำนวนมากและต้องกลับมาพึ่งจีน สำคัญกว่านั้น คือ ต้องการสั่งสอนนายทุนที่สนับสนุนพรรครัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่ทำธุรกิจผลิตชิปให้เปลี่ยนท่าทีใหม่ 

 

แต่ประธานาธิบดีไต้หวันเลือกที่จะย้ายฐานการผลิตไปที่สหรัฐฯ แทนเพื่อความเป็น Democracy Chips ที่สหรัฐตามมาย้ำว่า จะทำเพื่อสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งให้กลุ่มประเทศเสรีประชาธิปไตย

 

เป็นการสื่อเป็นนัยว่า ประเทศไหนที่เลือกจะอยู่กับสหรัฐฯ จะได้รับอานิสงส์จากชิปชั้นสูงนี้ แต่หากใครอยากอยู่กับจีนอาจได้รับแค่ชิปชั้นล่างและชั้นกลางเท่านั้น ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างยิ่งกับการพัฒนาประเทศไปสู่โลกอนาคตที่ต้องการแต่เทคโนโลยีชั้นสูง


———-
สงครามชิปกับจุดยืนของไทย
———-

 

ไทยมีอุตสาหกรรมผลิตชิประดับล่างและระดับกลางอยู่บ้าง แต่ไม่ได้มุ่งเน้นที่การผลิต แต่เน้นการนำชิปมาประกอบในสินค้านั้นๆ เช่นรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เป็นต้น

 

หากวันใดวันหนึ่งไม่มีชิปประชาธิปไตยส่งมาให้ไทยจะทำอย่างไร ชิประดับล่าง ระดับกลางมีเพียงพอรองรับอุตสาหกรรมชั้นสูงหรือไม่ เราจะเตรียมรับอนาคตกับเรื่องชิปประชาธิปไตยนี้อย่างไร ?

 

 จีนเล็งเห็นอนาคตแล้วว่าอาจจะพึ่งพาไต้หวันต่อได้ยาก จึงเตรียมเงินทุนประมาณ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อหาประเทศลงทุนใหม่ โครงการ EEC จึงเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ การประกาศนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ก็เป็นที่น่าสนใจอีกเช่นกัน

 

ปัญหาคือไทยมีความพร้อมในทุกด้านหรือไม่ แรงงานแบบมีทักษะ นักคอมพิวเตอร์ บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ พร้อมรองรับแล้วหรือไม่ เพราะสงครามที่เรียกว่า Tech War ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

 

คำว่า Democracy Chips จึงสื่อถึงการแยกขั้ว แบ่งข้างกันอย่างชัดเจน สถานการณ์จะยุ่งยากมากขึ้น หากวันหนึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดยื่นคำขาด ให้ไทยต้องเลือกข้างทางการเมืองระหว่างประเทศ เราจะอยู่ฝ่ายไหนที่จะเป็นประโยชน์ต่อไทยมากที่สุด

 

หากไม่ต้องการเลือกฝ่ายใด ไทยพร้อมจะพึ่งพาตนเองในอุตสาหกรรมผลิตชิปนี้หรือไม่ เรื่องนี้ยังพอมีเวลา แต่ทุกฝ่ายไม่ว่าภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องหันมาหารือกันอย่างจริงจัง บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของชาติในอนาคตที่เราจะพบในไม่ช้านี้

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า