Newsรู้จัก “เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน” เทคโนโลยีสำคัญที่จะมาช่วยกู้โลกจากภาวะโลกร้อน

รู้จัก “เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน” เทคโนโลยีสำคัญที่จะมาช่วยกู้โลกจากภาวะโลกร้อน

ถึงแม้ว่าประชาคมโลกจะตระหนักดีถึงภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น และทวีปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดกระแสเรียกร้องให้เกิดการลดคาร์บอนก้องดังไปทั่วโลก แต่ความจริงที่น่าเจ็บปวดสำหรับในกรณีนี้ก็คือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น ไม่มีกิจกรรมใดที่สามารถปฏิเสธการใช้พลังงานได้เลย

ยิ่งเศรษฐกิจโลกยิ่งพัฒนา ความต้องการพลังงานยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

ถึงแม้ว่าจะเกิดกระแสการเรียกร้อง รณรงค์ให้มีการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างประหยัด แต่กิจกรรมเหล่านั้น เพียงทำให้อัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide: CO2) ที่เป็นตัวการหลักให้เกิดสภาวะโลกร้อนชะลอตัวลง แต่ไม่สามารถลดปริมาณคาร์บอนลงได้

นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจึงพยายามวิจัยและพัฒนาวิธีการลดปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศลง ซึ่งวิธีการที่ทั่วโลกให้ความสนใจ คือการดักจับเอาคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการผลิต เพื่อนำไปจัดเก็บเอาไว้ ซึ่งวิธีการนี้ถูกเรียกว่า “การดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS)” หรือ “การดักจับและการแยกเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Sequestration)” นั่นเอง

 

หลักการทั่วไปของเทคโนโลยีดังกล่าวคือการดักจับคาร์บอนตั้งแต่ที่แหล่งผลิตในภาคอุตสาหกรรม แล้วแยกจับคาร์บอนออกมา เพื่อบีบอัด ทำการจัดส่งคาร์บอนไปยังแหล่งจัดเก็บ ซึ่งเป็นชั้นหินใต้ดินลึกจำพวกบ่อน้ำมัน หรือบ่อก๊าซเก่าที่ไม่ใช้แล้วนั่นเอง

 

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการนำเอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้แล้วกลับมาใช้งานใหม่ ซึ่งวิธีนี้ถูกเรียกว่า “การดักจับคาร์บอน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization: CCU) เช่น นำไปใช้การผลิตน้ำอัดลม, น้ำแข็งแห้ง หรือผลิตเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำคัญในหลายอุตสาหกรรมเช่นการผลิตวัสดุก่อสร้าง, อาหาร, ไวน์, เครื่องสำอาง และยา

 

สำหรับความคืบหน้าของเทคโนโลยีการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอนในระดับโลกนั้น รายงานว่า ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 มีโรงงานที่นำเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนไปใช้แล้ว 35 โรง 

 

ซึ่งถึงแม้ว่าจะน้อยกว่าความคาดหมาย แต่มีอัตราการเติบโตที่ดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีกว่า 300 โครงการที่กำลังนำเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนไปใช้ และมีอีก 200 โครงการที่ให้ความสนใจทั่วโลก

 

แนวโน้มนี้คาดว่าในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) โลกจะมีความสามารถดักจับคาร์บอนได้ถึง 220 ตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี (Metric Ton CO2 per Year)

 

สำหรับในประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” ขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550 เพื่อใช้เป็นกลไกสำคัญที่จะส่งผลให้การดำเนินงานได้บรรลุตามความมุ่งหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีการประกาศใช้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ มีการบรรจุวาระด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกด้วย

 

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. ถือได้ว่าเป็นหัวหอกของภาคเอกชนไทย ในการบุกเบิกเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน (CCS) เนื่องจากเป็นเอกชนไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งเป็นแกนเทคโนโลยีสำคัญ (Core Technology) การดักจับและจัดเก็บคาร์บอน

โดย ปตท. สผ. ได้เริ่มศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2564 ที่แหล่งอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ การดำเนินโครงการ ได้ผ่านขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) ซึ่งครอบคลุมด้านการตรวจสอบและประเมินความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของชั้นหินใต้ดินเบื้องต้น ด้านการวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการดักจับและกักเก็บ ด้านแผนการเจาะหลุมสำหรับกักเก็บ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED)

 

คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ได้ในปี 2569 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมได้มากถึง 7 แสน – 1 ล้านตันคาร์บอนต่อปี

 

นอกจากนี้ ปตท. สผ. ยังได้ขยายความร่วมมือไปยังภาคีเครือข่ายเอกชน และสถาบันการศึกษาอื่น ทั้งในและนอกประเทศ จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นำโดยศูนย์เทคโนโลยีและวิศวกรรมเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green economy Technology & Engineering Center) หรือศูนย์ BCGeTEC คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อศึกษาพัฒนา 

 

และผลักดันการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี CCUS ให้กับประเทศไทย โดยมีหน่วยงานจากภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้าเป็นสมาชิกร่วม ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) อีกด้วย

 

ถึงแม้ว่าประเทศไทยของเรา จะเพิ่งเริ่มโครงการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนได้ไม่นานนัก เมื่อเปรียบเทียบกับทั้งโลกที่เพิ่งจะมีโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้วเพียง 35 โรงเท่านั้น ก็ถือได้ว่า เราเองก็เป็นอันดับแรก ๆ ของโลก ไม่ได้น้อยหน้าชาติอื่น ๆ เท่าไรนัก

อีกทั้งต้องถือว่าเป็นความโชคดีของประเทศไทยของเรา ที่เรามีบริษัทผู้ประกอบการด้านพลังงานเป็นของตัวเอง ทำให้เรามีองค์ความรู้ที่เป็นแกนสำคัญของเทคโนโลยี CCS ที่ช่วยให้เราเริ่มต้นได้เร็ว และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย



อ้างอิง :

[1] Columbia Climate School, “Carbon Capture Sequestration and Reuse, Webisode 1: The Basics”, https://www.youtube.com/watch?v=3dm1esCpzR0

[2] Idealgroups Channel, “Carbon Capture & Storage – การกักเก็บคาร์บอน”, https://www.youtube.com/watch?v=uhib83mgK50

[3] COSIA, “How does Carbon Capture and Storage work?”, https://www.youtube.com/watch?v=RISuYmwhXOs

[4] Wikipedia, “Carbon capture and storage”, https://en.wikipedia.org/wiki/Carbon_capture_and_storage

[5] International Energy Agency, “Carbon Capture, Utilisation and Storage”, https://www.iea.org/reports/carbon-capture-utilisation-and-storage-2

[6] สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ฉบับย่อ)”, https://www.nesdc.go.th/download/document/SAC/NS_SumPlanOct2018.pdf

[7] สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน, “คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”, https://www.eppo.go.th/index.php/th/plan-policy/climatechange/thailand/climatechange

[8] PCC Group, “แคลเซียมคาร์บอเนตคืออะไรและใช้ทำอะไร?, https://www.products.pcc.eu/th/blog/แคลเซียมคาร์บอเนตคืออะ/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า