
ล้มล้างนายทุน บริหารประเทศไม่เป็น จนเศรษฐกิจของประเทศล่มสลาย
นายทุนมักถูกมองจากบางคนในสังคมว่า เป็นส่วนเกินของสังคมบ้าง เป็นตัวถ่วงของสังคมบ้าง เป็นภัยคุกคามของสังคมบ้าง ต่าง ๆ นานา จนนำไปสู่การสนับสนุนแนวคิดบางอย่างที่มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมนายทุนให้เป็นอย่างที่ต้องการ หรือที่หนักกว่านั้นคือ ต้องการล้มล้างนายทุนให้หายสิ้น ด้วยเป้าประสงค์ที่ต้องการสร้างสังคมที่เท่าเทียม ไม่มีชนชั้น และแบ่งปันทรัพยากรอย่างเท่ากัน
แต่ในประวัติศาสตร์จริงมากมายได้บ่งบอกแล้วว่า ความพยายามมากมายเหล่านี้ต่างก็นำพาประเทศสู่ความพินาศย่อยยับแทบทั้งหมดและทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชน ณ ตรงนั้น เลวร้ายลง ซึ่งบ่อยครั้งก็ได้เกิดสภาวะอดอยากครั้งใหญ่ในหลายประเทศจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว
กรณีของซิมบับเว ถือได้ว่าเป็นอีกประเทศที่ต้องประสบหายนะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ครั้งใหญ่จากการดำเนินนโยบายภาครัฐผิดพลาดในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำลายกลุ่มนายทุนในประเทศเพื่อหวังว่าจะกระจายความมั่งคั่งให้คนส่วนใหญ่ที่เป็นฐานเสียงของพรรครัฐบาลแต่กลับจบที่ความทุกข์ทรมานที่ผู้คนต่างก็ต้องแบกรับแทบจะเท่าเทียมกัน
โดยจุดเริ่มต้นของหายนะทางเศรษฐกิจนี้ ต้องย้อนกลับไปช่วงที่ซิมบับเวได้เริ่มก่อตั้งขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในประวัติศาสตร์พร้อมกับการได้รับเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งผู้นำของซิมบับเวคนแรกคือ นายโรเบิร์ต มูกาเบ ซึ่งที่มาก็มาจากการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว
และในช่วงแรกที่ได้มีการบริหารประเทศ ก็ได้มีการบริหารตามแนวทางสังคมนิยมแอฟริกันแบบสายกลาง คือ เพิ่มงบประมาณในการศึกษาและสาธารณสุข เพิ่มสวัสดิการรัฐต่อประชาชนและรายได้ของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งทำนโยบายทางสังคมต่าง ๆ ให้เอื้อต่อพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นพลเมืองผิวดำ ซึ่งถือว่าเป็นยุคทองทางเศรษฐกิจและสังคมของซิมบับเวในช่วงเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม ยุคทองของซิมบับเวที่เกิดขึ้นกลับไม่มีความยั่งยืน เพราะแม้ว่าวิธีการที่รัฐบาลซิมบับเวทำจะทำให้สังคมซิมบับเวมีความก้าวหน้าแต่กลับมีผลทำให้เกิดการขาดดุลในทางเศรษฐกิจรุนแรงและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่ต่ำกว่าควรจะเป็น ด้วยเหตุผลสำคัญดังนี้
หนึ่ง ซิมบับเวใช้นโยบายเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภาครัฐแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การเป็นเอกราช ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่า ซิมบับเวมีรายจ่ายมากกว่ารายรับในระดับหนึ่ง และจะต้องมีการกู้ยืมอย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการรัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สอง การดำเนินนโยบายภาครัฐไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว และมีเจตนามุ่งเน้นเพื่อรักษาความนิยมทางการเมืองและเสถียรภาพทางอำนาจของพรรครัฐบาล ซึ่งทำให้รายจ่ายที่มีมหาศาลนี้กลายเป็นภาระหนักของรัฐบาลในระยะสั้นและระยะยาว
สาม ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจให้สาหัสลงจากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในซิมบับเว ซึ่งนอกเหนือจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนด้อยลงแล้ว ก็ยังเป็นการลดทอนขีดความสามารถทางเศรษฐกิจลงไปอีก เพราะรายได้สำคัญของซิมบับเวคือ สินค้าทางการเกษตรและแร่ธาตุชนิดต่างๆ
ด้วยสาเหตุทั้ง 3 อย่างนี้ ได้ทำให้ซิมบับเวในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ได้เริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาของความยากลำบากในทางเศรษฐกิจและทางการเมือง และช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงเวลาที่มีการผลักดันนโยบายที่สุดโต่ง คือ นโยบายการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นการยึดที่ดินของกลุ่มชนผิวขาวเดิมที่มีที่ดินและเครื่องมือทางการเกษตรเป็นจำนวนมากซึ่งได้เป็นกระดูกสันหลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจซิมบับเวที่มีพื้นฐานจากภาคการเกษตรและแร่ธาตุมาโดยตลอด
แต่ด้วยความมุ่งมั่นของคณะรัฐบาลซิมบับเวที่ต้องการสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้คนในสังคมและต้องการสร้างความนิยมให้แก่ตนเองในฐานะผู้แจกจ่ายที่ดินให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ทั้งที่เคยมีการสัญญากับทางประเทศอังกฤษในช่วงการเป็นเอกราชว่า จะไม่ดำเนินนโยบายทวงคืนที่ดินในระยะเวลา 10 ปี แต่เมื่อพ้นเวลาดังกล่าวก็กลับเร่งรัดกระบวนการดังกล่าว ซึ่งจะกลายเป็นการทำลายเศรษฐกิจของซิมบับเวอย่างย่อยยับ
เนื่องจาก กลุ่มคนผิวขาวที่ถือครองที่ดินและเครื่องมือทางการเกษตรนั้นเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถในการเพาะปลูกและทำการเกษตร ในขณะที่กลุ่มคนส่วนใหญ่ในขณะนั้นยังขาดความรู้ในการทำการเกษตร ซึ่งเมื่อภาครัฐได้ทำการยึดที่ดินจากกลุ่มที่ถูกมองว่า เป็นนายทุนและเป็นส่วนเกินของสังคม เพื่อนำมาแจกแก่ฐานเสียงทางการเมืองนั้นก็ประสบปัญหาใหญ่ที่ว่า ประสิทธิภาพของการเพาะปลูกลดลงแทบทันทีหลังจากการบังคับใช้นโยบายทวงคืนที่ดินและทำให้ซิมบับเวเข้าสู่ภาวะอดอยากในเวลาต่อมา
ประกอบกับรัฐบาลของซิมบับเวได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองคองโกในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ที่นอกเหนือจะทำให้เศรษฐกิจของซิมบับเวสูญเสียอย่างมหาศาลแล้วก็ยังทำให้นานาชาติส่วนใหญ่ทำการยุติการสนับสนุนเงินให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้เมื่อมีการผลักดันนโยบายทวงคืนที่ดินก็ได้นำไปสู่ความไม่เชื่อใจในทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ควบคู่กับภาระหนี้สินต่างประเทศมหาศาลก่อนหน้าที่ไม่มีความสามารถในการใช้คืนได้
จึงทำให้รัฐบาลซิมบับเวทำการพิมพ์เงินจำนวนมากเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อนำมาใช้จ่ายภาครัฐและใช้หนี้คืน แต่เนื่องด้วยว่า ซิมบับเวไม่ได้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันสกุลเงินเพิ่มเติมแต่กลับพิมพ์เงินเข้าไปในจำนวนมากก็นำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อครั้งใหญ่ในประเทศ และยิ่งซ้ำเติมภาระหนี้สินที่หนักอยู่แล้วให้หนักมากขึ้นไปอีก เพราะหนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้สินต่างประเทศ
แทนที่จะหยุดนโยบายพิมพ์เงินเพิ่ม แต่กลับพิมพ์เพิ่มเข้าไปอีกเพื่อหวังว่าจะนำมาใช้จ่ายและใช้หนี้เพิ่มเติม ซึ่งกลายเป็นวงจรนรกที่สะสมภาวะเงินเฟ้อให้รุนแรงมากขึ้นในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา จนเกิดปรากฏการณ์ที่สกุลเงินท้องถิ่นในซิมบับเวแทบไร้ค่าในระบบเศรษฐกิจ และทำให้การค้าขายแบบแลกเปลี่ยนสิ่งของรวมทั้งการใช้จ่ายด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจซิมบับเวมากขึ้น
สุดท้ายนี้ ผลลัพธ์จากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของภาครัฐมากมายก็ได้นำประเทศที่เคยมีฉายาว่า “ตระกร้าขนมปังแห่งแอฟริกา” กลายเป็นประเทศที่ประสบภาวะอดอยากและทุกข์เข็ญทางเศรษฐกิจจากการมองว่า นายทุนในฐานะคนกลุ่มน้อยที่ถือครองที่ดิน เป็นตัวร้ายของสังคมจนนำไปสู่การทำลายล้างนายทุนเพื่อแลกกับความนิยมทางการเมืองในระยะสั้น ๆ และทำให้ประเทศต้องแบกรับผลที่ตามมาอย่างร้ายแรงทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มาตั้งแต่นั้นมา
ดังนั้นแล้ว ทุกคนในระบบเศรษฐกิจมหภาคย่อมมีความสำคัญตามคุณลักษณะความสามารถของตนเอง และการที่มองว่าคนอีกกลุ่มในระบบเศรษฐกิจเป็นส่วนเกินบ้าง เป็นตัวร้ายบ้าง พร้อมกับหาวิธีทำลายล้างสารพัดอย่าง ก็ถือได้ว่าเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจอย่างย่อยยับรวมทั้งเป็นการทำลายวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคมให้พังทลายสิ้นซากตาม ๆ กัน
โดย ชย
อ้างอิง:
[1] Zimbabwe: Country Assistance Evaluation
https://ieg.worldbankgroup.org/sites/default/files/Data/reports/zimbabwe_reach.pdf
[2] Lacking common cents: how Zimbabwe went from economic star to financial basket case
[3] Zimbabwe in ‘economic and humanitarian crisis’ as IMF sounds alarm
[4] Street traders offer a better bargain than stores as Zimbabwe’s currency crumbles
[5] Zimbabwe goes to polls amid deepening economic crisis