NewsTikTok ลุยตลาด ASEAN หลังเตรียมลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อแปลงผู้ใช้งานไปสู่การสร้างรายได้

TikTok ลุยตลาด ASEAN หลังเตรียมลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อแปลงผู้ใช้งานไปสู่การสร้างรายได้

TikTok ซึ่งเป็นแอปแชร์วิดีโอสั้นในเครือบริษัท ByteDance ของจีนประกาศเมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) ว่าบริษัทจะลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อขยายตลาดในภูมิภาคนี้ หลังเผชิญการตรวจสอบอย่างเข้มข้นขึ้นทั่วโลกเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล

 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีประชากรรวมกัน 630 ล้านคน โดยครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี เป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ TikTok ในแง่ของจำนวนผู้ใช้งานที่มีมากกว่า 325 ล้านคนในแต่ละเดือน 

 

แต่ TikTok ยังไม่สามารถเปลี่ยนฐานผู้ใช้งานเหล่านี้เป็นแหล่งรายได้หลักด้านอีคอมเมิร์ซ ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดจากบรรดาคู่แข่งรายใหญ่กว่า อย่าง Shopee, Lazada และ Tokopedia 

 

“เราจะทุ่มงบลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในอินโดนีเซียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า” โจว โซ่วจือ ซีอีโอของ TikTok กล่าวบนเวทีเสวนาเรื่องผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของ TikTok ที่มีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

 

ทั้งนี้ TikTok ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการลงทุน โดยกล่าวแต่เพียงว่าจะลงทุนด้านการฝึกอบรม การโฆษณา และการสนับสนุนผู้ค้ารายย่อยที่ต้องการเข้าร่วมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ TikTok Shop

 

นายโจว กล่าวว่าคอนเทนต์ใน TikTok มีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากมีผู้ใช้มากขึ้น และบริษัทได้ขยายธุรกิจจากการขายโฆษณาไปสู่อีคอมเมิร์ซ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าผ่านลิงก์บนแอประหว่างการไลฟ์สตรีมได้

 

นายโจว กล่าวอีกว่า TikTok มีพนักงาน 8,000 คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้ค้ารายย่อย 2 ล้านรายที่ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม TikTok ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

 

ข้อมูลจากโมเมนตัม เวิร์คส์ (Momentum Works) ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจของสิงคโปร์เปิดเผยว่า ธุรกรรมอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 3.48 ล้านล้านบาท) ในปีที่แล้ว 

 

โดย TikTok ครองส่วนแบ่งการทำธุรกรรมดังกล่าว 4.4 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.53 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 600 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.09 หมื่นล้านบาท) ในปี 2564 แต่ยังคงตามหลัง Shopee ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.67 แสนล้านบาท) ในปี 2565

 

แผนการลงทุนดังกล่าว มีขึ้นในขณะที่ TikTok ต้องเผชิญกับการตรวจสอบจากรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลบางแห่ง เนื่องจากความกังวลว่ารัฐบาลจีนอาจใช้ TikTok เป็นช่องทางล้วงข้อมูลผู้ใช้เพื่อนำไปแสดงหาผลประโยชน์

 

ประเทศต่างๆ รวมถึงอังกฤษและนิวซีแลนด์ ได้แบน TikTok บนอุปกรณ์สื่อสารของรัฐบาล ซึ่งทาง TikTok ได้ออกมาโต้ว่าการแบนดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานบนความเข้าใจผิดในหลักการและขับเคลื่อนด้วยประเด็นภูมิรัฐศาสตร์

 

ทั้งนี้ แม้ว่า TikTok จะไม่ได้ถูกแบนบนอุปกรณ์สื่อสารของรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ถูกตรวจสอบด้านเนื้อหาในหลายประเทศ

 

อินโดนีเซียนำเสนอหนึ่งในความท้าทายด้านนโยบายระดับโลกที่สำคัญครั้งแรกในปี 2561 หลังจากที่ทางการสั่งห้าม TikTok ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากมีการลงคลิปที่มี ภาพอนาจาร เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และการดูหมิ่นศาสนา

 

ในเวียดนาม หน่วยงานกำกับดูแลประกาศว่าจะสอบสวนการดำเนินการของ TikTok ในเวียดนาม เนื่องจากเนื้อหาที่ เป็นพิษ บนแพลตฟอร์มเป็นภัยคุกคามต่อ เยาวชน วัฒนธรรม และประเพณีของประเทศ


(1 ดอลลาร์ = 34.82 บาท)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า