
ปรับเป็นพินัย กฎหมายใหม่เพื่อ ‘คนตัวเล็ก’ และระบบ Day Fine การคิดค่าปรับ จากฐานะหรือรายได้ของผู้กระทำผิด
กฎหมายฉบับใหม่ที่อาจถือได้ว่าเป็น ‘ผลงานชิ้นโบว์แดง’ ของรัฐบาลประยุทธ์ คือ การปฏิรูปกฎหมาย ด้วย “พ.ร.บ.การปรับเป็นพินัย” ซึ่งจะช่วยทำให้ประชาชนตัวเล็กตัวน้อยที่ทำผิดทางอาญาที่ไม่รุนแรง ไม่มีโทษถึงจำคุก ให้ไม่ต้องถูกกักขังระหว่างคดี ไม่ถูกบันทึกประวัติ แต่คงไว้แค่การจ่าย ‘ค่าปรับ’ หรือ ‘บริการสั่งคม/บำเพ็ญประโยชน์’ แทน
ที่สำคัญคือ กฎหมายนี้จะคำนวณค่าปรับจาก ‘ฐานะทางเศรษฐกิจ’ รวมถึงแม้จะไม่จ่ายค่าปรับและถูกส่งฟ้อง ศาลอาจจะพิจารณาลดโทษหรือแค่ตักเตือน หากเป็นการกระทำความผิดเพราะความยากจน
เช่น ไม่แสดงใบขับขี่ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท จอดรถขายผลไม้ริมถนนสาธารณะ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท เหล่านี้จะถูกปรับเป็นโทษ ‘ปรับเป็นพินัย’ ที่ไม่มีการกักขัง ทำประวัติ และค่าปรับคิดตามฐานะผู้ทำผิด
รายละเอียดสำคัญของร่างกฎหมายนี้ มีดังนี้
- เปลี่ยนโทษปรับทางอาญาในกฎหมาย 200 ฉบับ ให้เป็น “โทษปรับทางพินัย” ที่ไม่ใช่โทษทางอาญาแทน จึงไม่มีการกักขังแทนค่าปรับในกฎหมาย 200 ฉบับนี้อีกต่อไป
- รับโทษปรับอย่างเดียว โดยไม่มีการกักขังระหว่างพิจารณาคดี ไม่ต้องเป็นภาระในการประกันตัว
- ไม่ถูกบันทึกประวัติอาชญากรรม ไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือให้เสียประวัติ กระทบต่อหน้าที่การงาน
- คิดค่าปรับตามฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำผิด รวมถึงสภาพแวดล้อมในการกระทำผิด
- ค่าปรับสามารถลด งดเว้น หรือผ่อนชำระได้
- เลือกทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับได้.
- ศาลอาจพิจารณาลดค่าปรับ หรือเพียงแค่ตักเตือนโดยไม่ต้องปรับได้ หากเป็นการกระทำผิดเพราะความยากจน โดยศาลจะคำนึงถึงพฤติกรรมการกระทำผิดและสถานะทางเศรษฐกิจด้วยเสมอ
กฎหมายการปรับเป็นพินัยนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบการกำหนดโทษใหม่ ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ที่ศึกษามาจากหลายประเทศทางยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และโปรตุเกส แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย
ประเด็นสำคัญอีกประการของร่างกฎหมายนี้ คือ ระบบ Day Fine หรือระบุค่าปรับเป็น ‘จำนวนวัน x รายได้สุทธิต่อวันของผู้กระทำความผิด’ ที่จะทำให้การคิดค่าปรับสอดคล้องกับฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ทำผิด
หลักการสำคัญของระบบ day fine คือไม่ระบุค่าปรับเป็นจำนวนเงินตายตัว แต่ระบุเป็นจำนวนวัน ตามระดับความรุนแรงของฐานความผิด โดยแต่ละวันจะแปรเป็นจำนวนเงินไม่เท่ากัน เพราะคิดเป็นเงินตามรายได้ของผู้กระทำความผิดในแต่ละคดีต่อ 1 วัน โดยอิงจากฐานการเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลประจำปี
“ค่าปรับ = จำนวนวัน x รายได้สุทธิต่อวันของผู้กระทำความผิด” นอกจากนี้ยังมีระบบการหักค่าใช้จ่ายที่บุคคลผู้กระทำความผิดต้องดูแลรับผิดชอบบุคคลอื่น เพื่อมิให้บุคคลอื่นต้องมาเดือดร้อนไปด้วย
ระบบนี้ถูกใช้ครั้งแรกในประเทศกลุ่มแสกนดิเนเวียน ปี ค.ศ. 1921 จากนั้นเยอรมันนีกับสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มนำมาปรับใช้บางส่วน ซึ่งร่างกฎหมายปรับเป็นพินัยนี้ จะยึดหลักการเดียวกัน โดยจะค่อยๆ นำมาปรับกับโทษในคดีความต่างๆ เป็นลำดับขั้นไป
และเมื่อร่างกฎหมายนี้ถูกบังคับใช้ จะถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นการปฏิรูปกฎหมายอาญาครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ที่จะทำให้ระบบยุติธรรมไทยยืนหยัดหลักสากลในการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อย่างภาคภูมิใจ
“แชร์ลูกโซ่” เครื่องมืออมตะที่ยังใช้หลอกลวงสังคมไทยได้ทุกยุคทุกสมัย ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ความโลภ”
อะไรคือปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจระดับโลก
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม