
รัฐบาลรับนโยบายพีมูฟ แต่งตั้ง ‘ภูมิธรรม – ธรรมนัส’ นำทัพ ตั้ง 21 พีมูฟร่วมคณะกรรมการ เดินหน้าแก้ไขปัญหาประชาชน
สืบเนื่องจากการชุมนุมของ ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม’ (ขปส.) หรือ ‘P-Move’ (People Movement) ซึ่งประกอบด้วยประชาชนที่มีความเดือดร้อนกลุ่มต่างๆ เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กลุ่มชาติพันธุ์ ชาวกะเหรี่ยง ชาวเล ฯลฯ ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 66
จากการลงไปพบปะพูดคุยและเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างตัวแทนผู้ชุมนุมกับตัวแทนรัฐบาลซึ่งนำโดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนำไปสู่วาระการประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา
โดยวาระดังกล่าวเป็นวาระที่ 10 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เห็นชอบในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ของนายภูมิธรรม ซึ่งมีนายภูมิธรรมเป็นประธาน และร.อ. ธรรมนัสเป็นรองประธาน และมีคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนพีมูฟ 21 คนร่วมเป็นคณะกรรมการ
ครม. เห็นชอบในนโยบายทั้ง 10 ด้านของกลุ่มพีมูฟซึ่งประกอบด้วย
1 ด้านสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย เช่น การทบทวนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช …. และเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
2 ด้านการกระจายอำนาจ เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เพื่อปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บนหลักการสิทธิชุมชน และด้านงบประมาณ
3 ด้านนโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม รวมทั้งออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ
4 ด้านนโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
5 นโยบายการจัดการทรัพยากร เสนอให้ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าอันเกิดจากแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่องมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท ทบทวนแผนการเพิ่มพื้นที่ป่า 40% โดยบังคับให้ราษฎรต้องสูญเสียที่ดินตามนโยบายดังกล่าว
และทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 รวมถึงกฎหมายลำดับรองประกอบกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ รวมทั้งทบทวนนโยบายคาร์บอนเครดิต
6 ด้านนโยบายป้องกันภัยพิบัติ
7 ด้านนโยบายการคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์
8 ด้านนโยบายสิทธิและสถานะบุคคล
9 ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ เสนอให้มีการจัดระบบรัฐสวัสดิการให้ครอบคลุมสวัสดิการเด็กและเยาวชน การศึกษา ระบบสุขภาพ ที่อยู่อาศัยและที่ดิน งานและรายได้ ประกันสังคม ระบบบำนาญ สิทธิทางสังคมพหุวัฒนธรรมประชากรกลุ่มเฉพาะ และระบบภาษีและงบประมาณ
10 ด้านที่อยู่อาศัย รัฐบาลต้องมีนโยบายให้กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานที่ดูแลที่ดินของรัฐ ให้แบ่งปันที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง โดยต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้หน่วยงานของรัฐใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการไล่รื้อชุมชน แต่ควรใช้กระบวนการพูดคุยหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและประชาชน และขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐ ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย
เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร รวมทั้งทบทวน การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดินแบบแปลงรวม ที่ประชาชนรวมกลุ่มกันซื้อหรือเช่าที่ดินมาบริหารร่วมกัน โดยให้คิดเกณฑ์การชำระภาษีกับรายแปลงย่อยของแต่ละครัวเรือนตามที่ครอบครองจริง