
ราคาโกโก้พุ่งสูงสุดรอบ 50 ปี เกษตกรอเมริกาใต้หันมาปลูกโกโก้กันมากขึ้น เหตุราคาโกโก้โลกพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และยุโรปลดการรับซื้อโกโก้จากแอฟริกา
เกษตรกรในอเมริกาใต้หันมาปลูกโกโก้ซึ่งเป็นส่วนผสมในการทำช็อกโกแลตกันมากขึ้น หลังมองเห็นผลกำไรที่อาจเกิดขึ้นจากพืชผลนี้
ราคาโกโก้ที่พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 50 ปีเป็นปัจจัยส่งเสริมแนวโน้มดังกล่าว ซึ่งอาจช่วยบรรเทาความตึงตัวของอุปทานในตลาดโกโก้ทั่วโลกในปัจจุบัน
บราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกถั่วเหลือง ข้าวโพด กาแฟ และน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก เริ่มหันมาปลูกโกโก้ในบริเวณทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่เสื่อมโทรมในภูมิภาคอเมซอน รวมถึงในพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชขนาดใหญ่
ผลผลิตโกโก้ของบราซิลคาดว่าจะเติบโตสู่ระดับ 300,000 ตันภายในปี 2568 และเพิ่มเป็น 400,000 ตันภายในปี 2573 จากประมาณ 200,000 ตันในปัจจุบัน ซึ่งจะเปลี่ยนบราซิลจากประเทศจากผู้นำเข้าโกโก้เป็นผู้ส่งออก
ขณะที่ผลผลิตโกโก้ในเอกวาดอร์ เพิ่มขึ้นเป็น 400,000 ถึง 430,000 ตันในเดือน ต.ค. 2565- ก.ย. 2566 จาก 287,000 ตันเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตามการประมาณการขององค์การโกโก้ระหว่างประเทศ (ICCO) ส่งผลให้เอกวาดอร์กลายเป็นผู้ปลูกโกโก้รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากกานา ซึ่งผลิตได้ประมาณ 750,000 ตัน
ท่ามกลางความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น การปลูกโกโก้ในอเมริกาใต้ถูกมองว่าเป็นการปลูกป่าประเภทหนึ่งเนื่องจากโกโก้เป็นสายพันธุ์พื้นเมืองจากภูมิภาคอเมซอนเอง ในขณะที่ป่าพื้นเมืองในแอฟริกาซึ่งเป็นแหล่งปลูกโกโก้หลักกำลังถูกทำลายเพื่อเปิดพื้นที่สำหรับสวนโกโก้
ทำให้สวนโกโก้ในภูมิภาคอเมซอนมีข้อได้เปรียบในตลาดยุโรป เนื่องจากกฎหมายใหม่ของสหภาพยุโรปจำกัดการนำเข้าสินค้าจากพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเปิดพื้นที่สำหรับปลูกพืชผล
ขณะที่นายหน้าซื้อขายสินค้าสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ เชื่อว่าบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตยินดีที่จะจัดหาแหล่งโกโก้เพิ่มเติมจากแอฟริกา เนื่องจากประเด็นด้านความยั่งยืนที่ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้แรงงานเด็กด้วย