
หุ้นแบงก์ยูโรโซนร่วงหนักหลังอิตาลีอนุมัติเก็บภาษีลาภลอย (Widfall Tax) จากธนาคารถึง 40%
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดัชนีธนาคารยูโรโซนร่วงหนักถึง 4.5% ในวันอังคาร (8 ส.ค.) หลังรัฐบาลอิตาลีประกาศเก็บภาษีลาภลอย (windfall tax) แบบจ่ายครั้งเดียว 40% จากผลกำไรที่ธนาคารต่างๆ ได้รับจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในช่วงที่ผ่านมา เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลให้ธนาคารหลายแห่งในประเทศทำกำไรเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์
การร่วงยกแผงของหุ้นธนาคารยูโรโซน นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคารอิตาลี โดยราคาหุ้นของธนาคาร BPER Banca ร่วง 10.5% ขณะที่ FinecoBank ร่วงลง 8.8% ตามมาด้วยหุ้นของ Intesa Sanpaolo ร่วงลง 8.2% และหุ้นของ UniCredit ลดลง 7.2%
สจ๊วร์ต โคล (Stuart Cole) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มหภาคของ Equiti Capital กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่อิตาลีเรียกเก็บภาษีจากผลกำไรส่วนเกินของธนาคาร และมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความกังวลว่าประเทศอื่นๆ อาจทำตาม”
เฉพาะในปี 2566 รัฐบาลอิตาลีจะเก็บภาษี 40% จากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) ของธนาคาร ซึ่งเป็นมาตรวัดผลกำไรของธนาคารที่มาจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก โดยรัฐบาลคาดว่าจะมีรายได้จากการเก็บภาษีลาภลอยครั้งนี้ไม่ถึง 3 พันล้านยูโร ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีระบุว่า จะนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ถือจำนองและการลดภาษี
ทั้งนี้ อิตาลีไม่ใช่ประเทศเดียวที่เรียกเก็บภาษีลาภลอยต่อธุรกิจภาคธนาคาร ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 สเปนอนุมัติการเรียกเก็บภาษีจากธนาคารชั่วคราวเพื่อระดมเงิน 3 พันล้านยูโร (ราว 1.15 แสนล้านบาท) ภายในปี พ.ศ. 2567 โดยมีจุดประสงค์เพื่อผ่อนคลายแรงกดดันด้านค่าครองชีพ
(1 ยูโร = 38.37 บาท)