
เลือกตั้ง สว. คึกคัก กกต. เปิดข้อมูลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 2567 คาดมีผู้สมัครกว่า 1 แสนคน เสร็จสิ้น ก.ค. นี้
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมให้ความรู้แก่สื่อมวลชนในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งมีการไลฟ์สดทางเฟสบุ๊กเพจสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วย
นายอิทธิพลได้กล่าวถึงการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ว่าถึงแม้ว่านี่จะไม่ใช่ครั้งแรก แต่ในครั้งนี้จะเป็นการเลือก สว. เต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นการเลือกกันเอง โดยผู้สมัครด้วยตนเอง จำนวน 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงในกระบวนการเลือกตั้ง
ซึ่งวาระของ สว. ชุดปัจจุบันนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พ.ค. 2567 และจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สว. อีก 15 วันนับจากนั้น ซึ่งจะมีการรับสมัคร สว. เป็นเวลา 5 วัน ต่อด้วยอีก 5 วัน เพื่อการประกาศรายชื่อผู้สมัคร
และหลังจากปิดการรับสมัครไม่เกิน 20 วัน จะต้องจัดให้มีการเลือกระดับอำเภอ จากนั้นอีก 7 วัน จัดให้มีการเลือกระดับจังหวัด ต่อจากนั้นอีก 10 วัน ถึงจะเลือกให้เลือกระดับประเทศ ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลภายในเดือนกรกฎาคม และโดยกฎหมาย กกต. จะต้องรออีก 5 วันก่อนที่จะมีการประกาศ เผื่อว่าจะมีประเด็นอะไรให้ต้องทบทวน
ผู้สมัครจะต้องศึกษาและตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการสมัครให้ดีๆ และสำรวจตัวเองว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญประสบการณ์อาชีพ และเป็นกลุ่มอาชีพใด เพราะมีกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการสมัคร
โดยสามารถศึกษาได้จาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ซึ่งมีการออกระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 แก้ไขรองรับออกมาแล้ว และในการเลือกตั้งในครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้สมัครประมาณ 100,000 คน ซึ่งทั้งหมดจะถูกคัดเลือกตามกระบวนการจนเหลือ 200 คน จาก 20 กลุ่มโดยแบ่งเป็นกลุ่มละ 10 คน
สำหรับกรณีที่มีการจัดตั้งกลุ่มอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง สว. นั้น นายอิทธิพรกล่าวว่าในเวลานี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อบล็อกโหวต หรือล็อบบี้กันหรือไม่ เนื่องจากเป็นการประกาศว่าเป็นการอบรม ซึ่งดูจะเป็นเรื่องดีในการประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชน อีกทั้งไม่มีข้อห้ามมิให้มีการจัดการอบรม จึงคิดว่าน่ามองตามข้อเท็จจริงไปก่อน
สำหรับพรรคการเมืองที่พยายามจะหนุนหลังการเลือกตั้ง สว. หรือการรวมตัวกันของอดีต สว. เพื่อส่งผู้สมัครนั้น นายอิทธิพรกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะกระทำได้ อีกทั้งอดีตสมาชิกพรรคการเมืองที่จะลงสมัครจะต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 5 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงจากพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย