Newsทำนโยบายต้องมีความรับผิดชอบ ‘สมชัย’ วิจารณ์โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เสนอให้ทำ Sandbox ทดสอบผลสัมฤทธิ์ดูก่อน ชี้หากทำได้จริง รอรับรางวัลโนเบลได้เลย

ทำนโยบายต้องมีความรับผิดชอบ ‘สมชัย’ วิจารณ์โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เสนอให้ทำ Sandbox ทดสอบผลสัมฤทธิ์ดูก่อน ชี้หากทำได้จริง รอรับรางวัลโนเบลได้เลย

23 ต.ค. 66 ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โพสต์เฟสบุ๊คบทความซึ่งมีชื่อว่า “การทำนโยบายเศรษฐกิจอย่างรับผิดชอบ” วิจารณ์โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล ซึ่งดร.สมชัยระบุว่าเป็นนโยบายที่อาจได้ไม่คุ้มเสี่ยง และไม่เคยมีประเทศใดในประวัติศาสตร์ที่เคยคิดถึงและทำได้มาก่อน 

 

เสนอให้มีการทดสอบในลักษณะที่เป็น sandbox คือทดลองทำในพื้นที่ขนาดเล็กเช่นอำเภอเดียว หรือจังหวัดเดียว แล้วทำการประเมินผลอย่างมีความเป็นกลางทางวิชาการ โดยนักวิชาการที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด อีกทั้งยังระบุด้วยว่า หากทำได้สำเร็จจริง ก็เตรียมรับรางวัลโนเบลได้เลย

 

เนื้อหาของบทความ มีดังต่อไปนี้

 

นโยบายแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาทเป็นนโยบายเรือธงของพรรคแกนนำรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์ในการไม่เพียงกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ต้องการพลิกโฉมเศรษฐกิจประเทศไทยไปสู่บริบทใหม่ที่เครื่องยนต์ต่างๆ นอกเหนือจากการบริโภคติดเครื่อง 

 

เช่นมีการลงทุนอย่างกว้างขวางในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในหมู่รากหญ้า ทำให้พวกเขาตั้งตัวได้จากที่ไม่กล้าลงทุนมาก่อนเพราะมีข้อจำกัดด้านเงินทุนในอดีต และคาดหวังว่าการลงทุนที่ว่านี้จะยั่งยืนโดยไม่จำเป็นต้องแจกเงินลักษณะเดียวกันเป็นระยะไปเรื่อย ๆ 

 

วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้นี้หากสำเร็จย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ทั้งในมิติที่ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เศรษฐกิจออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำลดลงเพราะผู้ได้ประโยชน์จากบริโภคและการลงทุนระยะยาวเป็นรากหญ้าและยอดหญ้า จนสามารถละทิ้งอาชีพเดิมที่ทำอยู่ไม่ว่าจะเป็นรับจ้างรายวัน เกษตรกร กลายเป็นผู้ประกอบการรายย่อยรายใหม่ ที่มีรายได้กำไรจากการลงทุนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ 

 

ประโยชน์อีกมิติคือประเทศไทยสามารถแสดงเป็นตัวอย่างที่น่าทึ่งให้กับประชาคมชาวโลกได้อย่างภาคภูมิว่าสามารถแก้ปัญหากับดักประเทศรายได้ต่างปานกลางได้ด้วยวิธีที่ง่าย ๆ แบบนี้ได้ และด้วยต้นทุนที่ถูกมากคือเพียงประมาณ 3% ของ GDP จ่ายครั้งเดียวจบ 

 

โดยไม่เคยมีประเทศใดในประวัติศาสตร์ที่เคยคิดถึงและทำได้มาก่อน (ส่วนใหญ่ออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางผ่านนโยบายที่ทำเป็นระบบ หลากหลาย และต่อเนื่องหลายปี) ซึ่งหากเป็นจริงจะเป็นคุณูปการต่อชาวโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก จะทำให้คนจนหมดไปจากโลกนี้เลยทีเดียวก็เป็นได้

 

ความเชื่อข้างต้นหากมีความเป็นไปได้สักเพียง 20% ก็คุ้มค่าที่จะลอง เพราะหากสำเร็จจริงผลประโยชน์มหาศาลมาก คำถามสำคัญคือความเป็นไปได้นี้เป็นเท่าไหร่กันแน่ เช่นหากมีความเป็นไปได้เพียง 5% ก็อาจจะต้องถามว่ายังคุ้มกับความเสี่ยงไหม 

 

เพราะมีโอกาสอีก 95% ที่เงินก้อนนี้จะเป็นเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ไม่คุ้มกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นภาระของพวกเราและลูกหลานต่อไป แน่นอนว่าเราก็สามารถคิดต่อได้เช่นกันว่าผลเลิศที่เล็งไว้ไม่มีทางเป็นไปได้เลย (คือโอกาสสำเร็จ 0%) เราจึงต้องคิดให้ถ่องแท้ทั้งในเรื่องการประเมินความเป็นไปได้ และแนวทางดำเนินการที่มีความรับผิดชอบต่อเงินภาษีประชาชนหากยังจะทำต่อไป

 

การประเมินความเป็นไปได้ของนโยบายต่างๆ ปกติจะทำกันได้ 3 ระดับ 

 

ระดับแรกและเป็นระดับที่ดีที่สุด คือเคยมีการใช้นโยบายแบบเดียวกันและประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศอื่น โดยเป็นนโยบายที่มีลักษณะเหมือนกัน 100% ทั้งตัวเงื่อนไขมาตรการเอง ระดับโอนเงินที่ใช้เทียบกับรายได้เฉลี่ยของคนในประเทศ 

 

บริบทของเศรษฐกิจ จังหวะในวงจรเศรษฐกิจ (เศรษฐกิจปกติ วิกฤติ หรือใกล้วิกฤติ) ซึ่งแน่นอนว่าไม่เคยมีนโยบายแบบเดียวกันที่เหมือนกันในทุกรายละเอียดและในบริบทประเทศที่เหมือนประเทศไทยทุกประการ แนวทางนี้จึงตกไป 

 

ระดับที่ 2 รองลงมา คือเคยมีประเทศอื่นที่ทำนโยบายลักษณะไม่เหมือนกันเสียทีเดียวแต่ ‘ใกล้เคียง’ กัน แล้วประสบความสำเร็จ ซึ่งก็โชคร้ายอีกเพราะตัวอย่างนี้ก็หาไม่ได้เช่นกัน เพราะหากมีประเทศใดออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางโดยนโยบายลักษณะใกล้เคียงกัน จ่ายครั้งเดียวจบได้ ผู้คิดนโยบายคงได้รางวัลโนเบลไปหลายรอบแล้ว 

 

หากลดมาตรฐานลงมา ว่ามีนโยบายคล้ายกันประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตขึ้นตีเสียว่า 1% ต่อปีเป็นเวลาสัก 4-5 ปี (คือไม่ได้ออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางเสียทีเดียว) ก็ยังน่าสนใจที่จะทดลองทำในประเทศไทย น่าเสียดายว่าก็ไม่มีตัวอย่างระดับนี้อีกเช่นกัน

 

 และถ้ามีผู้คิดนโยบายก็ยังน่าจะได้รางวัลโนเบลอยู่ดี เพราะยังถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของนโยบายเศรษฐกิจ ที่ใช้เงิน 3% ของ GDP ในการสร้าง GDP มากกว่า 3% หักล้างคำพูดที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงวิชาการเรื่อง ‘ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ’ หรือ there is no free lunch

 

ระดับที่ 3 เป็นการประเมินโดยอิงจากความเข้าใจที่ลึกซึ้งถึงการตอบสนองของพฤติกรรมมนุษย์ต่อมาตรการนี้ เช่นเขาจะใช้เงินที่ได้รับเท่าไร เก็บออมไว้เท่าไหร่ ใช้หนี้เท่าไหร่ (ซึ่งมีวิธีทำได้แน่นอน แม้จะมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการใช้ซื้อของเท่านั้น เช่นซื้อของที่เจ้าหนี้ต้องการไปให้แล้วเอามาหักออกจากหนี้ที่ค้างอยู่ เจ้าหนี้ก็ลดการใช้จ่ายเงินตัวเองในส่วนนี้ลง)

 

 และเชื่อว่ามีอีกสารพัดวิธีที่คนได้รับเงินนี้จะใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์โครงการได้ ตามตัวอย่างที่พบได้ทั่วโลกกรณีการแจกคูปองแลกซื้อของ (เช่นแลกเป็นเงินสด ที่มีส่วนลดคือได้ไม่ถึงหมื่นบาท จากร้านค้าที่แกล้งทำรายการว่าได้ขายของให้ เป็นต้น) จะใช้ต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน เงินที่ได้จะมากพอจนเอาไปลงทุนเท่าไหร่ มีกี่คนที่พร้อมจะทิ้งอาชีพเดิมแล้วมาลงทุนจากเงินที่ได้รับเพียงครั้งเดียวนี้ ฯลฯ 

 

ซึ่งเรื่องเหล่านี้พอจะหางานวิจัยในประเทศไทยเองที่แยกย่อยทีละประเด็นมาศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องจินตนาการและมองโลกในแง่ดีว่ามันจะเกิดเช่นนั้นแน่ ๆ เพราะอย่าลืมว่านี่เป็นการใช้เงินประชาชนในจำนวนมหาศาล จึงไม่ควรทำนโยบายที่ตั้งอยู่บนจินตนาการเพียงอย่างเดียว

 

ผู้กำหนดนโยบายนี้อาจจะไม่อยากเชื่องานวิจัยที่ระบุว่านโยบายคล้ายกันเคยไม่ประสบความสำเร็จในประเทศอื่นในห้วงเวลาอื่น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สามารถไม่เชื่อได้ เพราะรายละเอียดนโยบายถึงแม้จะใกล้กันแต่ก็ไม่เหมือนกัน 100% วงเงินเมื่อเทียบกับกำลังซื้อโดยเฉลี่ยก็ต่างกัน บริบทประเทศและห้วงเวลาเศรษฐกิจก็ไม่เหมือนกัน 100% (อย่างที่บอกไม่เคยมีนโยบายไหนในโลกที่เหมือนกันทุกประการและใช้ในประเทศที่เหมือนกันทุกประการ) 

 

แต่ก็ไม่ควรเป็นเหตุอ้างให้ด้อยค่างานวิจัยที่ทำมาอย่างดีและได้ผลที่ไม่ถูกใจนี้ หรือด้อยค่าคนที่เอามาแจ้งให้ทราบ ผู้กำหนดนโยบายที่มีความรับผิดชอบและนักวิชาการที่แท้จริงจะไม่ด้อยค่างานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำและจัดทำขึ้นโดยนักวิชาการชั้นนำ แต่เขาจะศึกษาวิธีการวิจัยและเอามาต่อยอดศึกษาต่อในบริบทที่ตั้งใจทำนโยบายในประเทศของเขา 

 

เพราะเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่ามนุษย์แม้จะต่างชาติต่างภาษา ต่างกรรมต่างวาระ ก็มักมีการตอบสนองด้านพฤติกรรมต่อนโยบายคล้ายกันในลักษณะใกล้เคียงกัน พร้อมกับที่มีเหตุผลสนับสนุนเชิงวิชาการอื่น ๆ มากมายประกอบด้วย เช่นข้อค้นพบที่ว่ารายได้ที่เข้ามาเพียงครั้งเดียวจะไม่ทำให้คนปรับพฤติกรรมการบริโภคมากนักเพราะเขาไม่มองว่ารายได้ของเขาเพิ่มขึ้นเป็นการถาวร 

 

ผลการวิจัยนี้ได้รับรางวัลโนเบลตั้งแต่หลายสิบปีที่แล้วและเป็นจริงในนโยบายลักษณะเดียวกันมาตลอดจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปถึงปัจจุบัน หรืองานวิจัยเรื่องการตัดสินใจลงทุนซึ่งมีอยู่มากมายเหลือคณานับในโลกวิชาการ (และในไทยด้วย) สามารถไปศึกษาได้และจะพบว่าการตัดสินใจลงทุนเป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำกันง่ายๆ 

 

ผู้ที่คิดจะทิ้งอาชีพเดิมและมาลงทุนมีเรื่องที่ต้องคิดเยอะ หากเขายังไม่ได้ลงทุนมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เพราะข้อจำกัดต่างๆมากมายที่เขามีที่มากกว่าเพียงการขาดเงินทุน หรือการขาดกำลังซื้อระยะสั้นจากคนที่เขาคิดว่าจะเป็นลูกค้าเท่านั้น 

 

การดำเนินนโยบายอย่างมีความรับผิดชอบจึงควรคำนึงถึงการประเมินความเป็นไปได้ทั้ง 3 ระดับข้างต้นก่อนลงมือทำจริง และถ้ายังอยากเดินหน้าต่อก็สามารถทำได้ แต่ควรทำในลักษณะที่เป็น sandbox คือทดลองทำในพื้นที่ขนาดเล็กเช่นอำเภอเดียว หรือจังหวัดเดียว แล้วทำการประเมินผลอย่างมีความเป็นกลางทางวิชาการ โดยนักวิชาการที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด 

 

หากผลการดำเนินการทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่นั้นยกระดับขึ้นแม้เพียง 1% แต่ถ้าเพิ่มต่อเนื่องยาวนานเกิน 3 ปี ผมก็คิดว่าเป็นนโยบายที่ควรจะลงทุนและขยายวงไปทั่วประเทศ รวมทั้งป่าวประกาศให้ทั้งโลกรับรู้ว่าเราค้นพบความมหัศจรรย์ในการดำเนินนโยบายแล้ว (รอเข้าแถวรับรางวัลโนเบลกันได้เลยครับ)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า