ต้นทุนไฟฟ้า
ในทุก ๆ ช่วงหน้าร้อน หนึ่งในประเด็นที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในสังคมก็คือประเด็นเรื่องพลังงานไฟฟ้าและค่าไฟ เพราะความร้อนทำให้คนไทยใช้ไฟมากขึ้น บวกกับปัจจัยจากสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น ทำให้การผลิตไฟฟ้านั้นมีต้นทุนสูงขึ้น คนไทยจึงต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม การทราบถึงที่มาที่ไปของต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้นถึงค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงรู้เท่าทันข้อมูลที่ถูกต้อง เมื่อมีการพูดถึงการแก้ไขปัญหาค่าไฟ รวมถึงการนำเสนอและผลักนโยบายจากฝั่งการเมือง
อย่างแรกที่อาจจะต้องทำความเข้าใจนั่นก็คือ ประเทศไทยนั้น ใช้อะไรเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าบ้าง? หลัก ๆ นั้นจะแบ่งออกเป็น
- ปิโตรเลียม โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ และรวมทั้ง น้ำมัน
- พลังงานน้ำ
- ถ่านหิน
- พลังงานทดแทน หรือ พลังงานหมุนเวียน
นอกจากจะแบ่งแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังต้องมีการแบ่งแหล่งที่มาด้วย นั่นเพราะประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากกว่าปริมาณที่สามารถผลิตได้ ดังนั้นไฟฟ้าที่ใช้ในไทย มีการซื้อมาจากนอกประเทศด้วย เช่น จากลาว ทั้งไฟฟ้าจากพลังงานน้ำและจากถ่านหิน หรือจากพม่า เป็นต้น รวมถึงแหล่งพลังงานไฟฟ้าอย่างก๊าซธรรมชาติ ในรูปก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ก็มีการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อมาใช้ผลิตไฟฟ้าในไทยอีกด้วย
โดยหากแจกแจงจากข้อมูลล่าสุดแล้ว ประเทศไทยมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งที่มาต่าง ๆ ดังนี้ (เรียงลำดับจากสัดส่วนมากไปน้อย)
30.81% จากก๊าซธรรมชาติรวม (Pool Gas) ในราคา 4.02 บาทต่อหน่วย
17.77% จาก ก๊าซธรรมชาติของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ในราคา 4.87 บาทต่อหน่วย
10.99% จาก พลังงานน้ำประเทศลาว ในราคา 1.89 บาทต่อหน่วย
9.66% จาก พลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน ในราคา 5.57 บาทต่อหน่วย
7.79% จาก ถ่านหินภายในประเทศ ในราคา 1.18 บาทต่อหน่วย
7.03% จาก ถ่านหินนำเข้า ในราคา 2.14 บาทต่อหน่วย
5.48% จาก ถ่านหินลาว ในราคา 2.17 บาทต่อหน่วย
4.30% จาก น้ำมันดีเซล ในราคา 8.45 บาทต่อหน่วย
3.02% จาก พลังงานน้ำในประเทศ ในราคา 1.38 บาทต่อหน่วย
2.20% จาก โรงไฟฟ้าขนาดเล็กอื่น ๆ ในราคา 4.49 บาทต่อหน่วย
0.60% จาก น้ำมันเตา ในราคา 7.56 บาทต่อหน่วย
เมื่อทราบถึงข้อมูลเหล่านี้ ก็อาจจะเห็นได้ถึงช่องทางในการแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่รัฐบาลขับเคลื่อนมาเป็นเวลาหลายปีถ้ามีการผลักดันให้ต้นทุนถูกได้ ก็อาจจะเป็นทิศทางที่เหมาะสม เป็นต้น เพราะเมื่อรู้ข้อมูลที่ถูกก็จะเข้าใจถึงการถกเถียงในประเด็นพลังงานได้มากขึ้น