News‘ชีลี’ กับเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ลด-ละ-เลิก สวัสดิการสังคมที่มากไป จนกลายเป็น ‘ชาติที่มีรายได้สูง’

‘ชีลี’ กับเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ลด-ละ-เลิก สวัสดิการสังคมที่มากไป จนกลายเป็น ‘ชาติที่มีรายได้สูง’

ในปัจจุบัน แนวคิดเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและการส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนในประเทศได้มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก ในฐานะแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ถูกพิสูจน์ว่า สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ในหลายกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจชะงักงันในช่วงทศวรรษ 70 และทำให้เกิดยุคโลกาภิวัตน์ในช่วงเวลาต่อมา

 

และประเทศแรกของโลกที่ได้ลองผิดลองถูกในการนำแนวคิดเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจมาใช้ในการบริหารประเทศ คือ ประเทศชิลี ซึ่งมีจุดที่มีความสนใจหลายจุด ณ ที่นี้ อย่างแรกคือ ก่อนที่จะนำแนวคิดเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจมาใช้ ชิลีเคยใช้แนวคิดสังคมนิยมทางเศรษฐกิจและการเน้นบทบาทของภาครัฐในทางเศรษฐกิจซึ่งนำไปสู่ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจผ่านวิกฤตเงินเฟ้อครั้งใหญ่ 

 

และอย่างต่อไปคือ คณะบุคคลที่นำแนวคิดเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจมาใช้งานจริง มักถูกเรียกว่า ชิคาโกบอย ซึ่งเป็นคณะที่จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกาและได้รับอิทธิพลแนวคิดใหม่ที่ไม่เคยมีประเทศใดก่อนหน้าที่นำมาใช้มาก่อน

 

ซึ่งก็คือ แนวคิดเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ ที่ลดการแทรกแซงเศรษฐกิจของภาครัฐ อันประกอบด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่สร้างผลกำไรให้เป็นของเอกชน การลดภาษี การตัดรายจ่ายภาครัฐที่ไม่มีความจำเป็น การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมภาคเอกชน การรักษาวินัยการเงินอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจเพื่อเอื้อให้เกิดการไหลเวียนของระบบเศรษฐกิจอย่างอิสระ 

 

นอกจากนี้ยังมีการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

ต้องบอกก่อนว่า ในช่วงสมัยนั้น แนวคิดทางเศรษฐกิจที่มักมีอิทธิพลในประเทศทุนนิยมเสรีและประเทศสังคมนิยม คือ แนวคิดการแทรกแซงเศรษฐกิจจากภาครัฐหรือการให้ภาครัฐเป็นผู้มีบทบาทในทางเศรษฐกิจ โดยในประเทศสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์แบบเต็มขั้น ภาครัฐจะมีบทบาททางเศรษฐกิจทุกอย่าง 

 

ส่วนในประเทศทุนนิยมเสรีส่วนใหญ่นั้น ภาครัฐได้ยกระดับบทบาทเป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในทางเศรษฐกิจและใช้นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐเพื่อทำให้กำลังซื้อในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากการซบเซาครั้งใหญ่จากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ค.ศ.1929 และทำให้แนวคิดรัฐแทรกแซงเศรษฐกิจแพร่หลายในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยเป็นจำนวนมากด้วยความเชื่อที่ว่า สามารถแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ได้ดี

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และยุคการฟื้นฟูความเสียหาย สิ้นสุดลง ที่นำไปสู่ยุคทองทางเศรษฐกิจของประเทศทุนนิยมหลายประเทศ โดยการใช้กลไกกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง แต่จุดเสียหายของแนวคิดทางเศรษฐกิจรูปแบบนี้ คือ ได้มีการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่องและจริงจังในระยะเวลาที่นานเกินไปมาก และได้สร้างภาระทางการเงินมหาศาลต่อประเทศ 

 

โดยเฉพาะหากเม็ดเงินในประเทศที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจได้รั่วไหลสู่ภายนอกเป็นจำนวนมาก ก็จะเป็นการสร้างสภาวะของการขาดดุลทางการเงินและการคลังภายในประเทศจากแนวคิดทางเศรษฐกิจนี้ ซึ่งได้ส่อเค้าถึงภาวะถดถอยทางการเงินในสหรัฐอเมริกาช่วงปลายทศวรรษ 60 ท่ามกลางการลงทุนมหาศาลในสงครามเวียดนาม 

 

และเมื่อถึงทศวรรษ 70 การขาดดุลทางการเงิน ภาระทางการเงินมหาศาล และภาวะเงินเฟ้อได้ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องยกเลิกมาตรฐานทองคำในช่วงเวลาต่อมา จากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจในรูปแบบนี้

 

ชิลี ในช่วงก่อนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจก็เช่นกัน ที่ประสบปัญหากับภาวะเงินเฟ้อและปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ที่หนักกว่าสหรัฐอเมริกา คือรัฐบาลชิลีในขณะนั้น เป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์แรกที่มาจากการเลือกตั้ง และมีนโยบายที่จะทวงคืนอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหมืองทองแดงกลับมาเป็นของรัฐ 

 

รวมทั้งมีการริเริ่มนโยบายสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ หลายนโยบาย ซึ่งคือการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลไกของรัฐสวัสดิการเข้มข้นที่ใช้เม็ดเงินของภาครัฐเป็นจำนวนมาก และมีผลตามมาคือ การเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงและการเสื่อมถอยของขีดความสามารถทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่

 

อย่างไรก็ตาม เหตุผลสำคัญที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์หัวใหม่ได้เข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจหลังจากนั้น คือ การสนับสนุนการรัฐประหารรัฐบาลคอมมิวนิสต์โดยสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการป้องปรามลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ให้แพร่หลายไปมากกว่านี้ และสนับสนุนให้ผู้นำฝ่ายทหารเข้ามาบริหารประเทศแทน ซึ่งก็ได้มีปราบปรามอุดมการณ์สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ อย่างรุนแรง ตามนโยบายของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น

 

ในอีกทางหนึ่ง รัฐบาลทหารใหม่ก็ได้มีการริเริ่มการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพื่อลดภาระทางการเงินจากดำเนินนโยบายแทรกแซงเศรษฐกิจของรัฐบาลก่อนหน้า สร้างเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งทำให้ระบบเศรษฐกิจกลับมามีชีวิตชีวาและเคลื่อนไหวอย่างอิสระอีกครั้ง ตรงนี้จึงทำให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์หัวใหม่ได้รับความไว้วางใจให้เข้ามากำกับดูแลนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศ

 

ทั้งนี้ ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ มีทั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ขาดทุนและเป็นภาระทางการเงินมหาศาล การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจผ่านการลดข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและการเจรจาข้อตกลงทางการค้าต่าง ๆ 

 

การลดทอนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะโครงการรัฐสวัสดิการเข้มข้น การลดภาษี การควบคุมการใช้จ่ายภาครัฐอย่างเข้มงวด รวมทั้งการปรับบทบาทของภาครัฐจากเดิมที่มักเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจให้กลายเป็นผู้กำกับดูแลเต็มรูปแบบ

 

ผลที่เกิดจากการลองผิดลองถูกทางนโยบายได้ทำให้ในช่วงแรก ชิลีได้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและผลข้างเคียงขนานใหญ่จากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจใหม่ อย่างวิกฤตฟองสบู่เศรษฐกิจ ปัญหาการว่างงานในระดับสูง การล้มหายจากไปของอุตสาหกรรมในประเทศบางส่วนจากการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่เมื่อผ่านไปได้ระยะหนึ่ง 

 

ชิลีก็ได้เป็นประเทศเพียงน้อยนิดในภูมิภาคอเมริกาใต้ที่รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เกิดจากการดำเนินนโยบายแบบรัฐแทรกแซงเข้มข้นและกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง จากการดำเนินนโยบายเพื่อลดความยากจนโดยตรงในประเทศ ภายใต้รัฐบาลพลเรือนใหม่ ในช่วงทศวรรษ 90 เป็นต้นมา ซึ่งถือได้ว่า เป็นความสำเร็จของระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ได้ปักหลักในประเทศอย่างยาวนานหลังจากนี้  

 

ดังนั้นแล้ว เหตุที่แนวคิดทางเศรษฐกิจอย่างเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจได้นำมาใช้งานจริง ในชิลีช่วงทศวรรษ 70 นั้น เกิดจากการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาในฐานะตัวแปรหลักในการโค่นล้มรัฐบาลเดิมที่มีหัวคอมมิวนิสต์ และความเสียหายทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลเก่าได้ก่อไว้ จึงเป็นการเปิดทางให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่แทบไม่มีที่ไหนทำมาก่อนหน้านี้ 

 

ซึ่งต่อมา สนามทดลองของแนวคิดเศรษฐกิจใหม่จะกลายเป็นแบบอย่างสำคัญของการนำแนวคิดเศรษฐกิจใหม่เข้ามาใช้จริงในประเทศทุนนิยมเสรีชั้นนำส่วนใหญ่ในห้วงเวลาต่อมา ซึ่งจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจจากเป็นเพียงแนวคิดหนึ่งในมหาวิทยาลัยกลายเป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลสำคัญทางเศรษฐกิจในระดับโลกมาจนถึงปัจจุบัน

 

โดย ชย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า