Newsประวัติศาสตร์ของทุนนิยม บทบาทและหน้าที่ของทุนในแต่ละยุคสมัย และความสำคัญของทุนนิยมต่อแนวคิดเสรี และประชาธิปไตย โดย ชย

ประวัติศาสตร์ของทุนนิยม บทบาทและหน้าที่ของทุนในแต่ละยุคสมัย และความสำคัญของทุนนิยมต่อแนวคิดเสรี และประชาธิปไตย โดย ชย

นายทุนมักถูกมองในฐานะแพะรับบาปของสังคม โดยเฉพาะในเรื่องที่ถูกสังคมบางส่วนกังขาว่า เป็นตัวแปรสำคัญในการขัดประโยชน์คนหมู่มากด้วยกลวิธีสารพัดพร้อมกับหาหนทางมากมายในการจำกัดอิทธิพลของนายทุนโดยคาดหวังว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะกลับมาไหลเวียนในระบบคนหมู่มากอีกครั้ง

 

ที่จริงแล้ว นายทุนไม่ได้เพิ่งมีตัวตนในยุคทุนนิยมที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ในทางตรงกันข้าม นายทุนกลับมีบทบาทมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เพียงแต่ว่าระบบเศรษฐกิจในแต่ละยุคสมัยและพื้นที่นั้น มีความแตกต่างกัน จึงทำให้นายทุนมีตัวตนในลักษณะหน้าตาต่าง ๆ ที่คละกันไป ตามสภาพสังคมที่เกิดขึ้น

 

และนายทุนเหล่านี้ก็คือ ตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมมาตั้งแต่นั้นมา ทั้งในฐานะผู้สนับสนุนผู้ปกครองรัฐหรือแม้แต่สมาคมการค้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคโบราณ ทั้งนี้ กลุ่มนายทุนที่เคยอยู่ในเงาของกลุ่มผู้ปกครองจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงบทบาทกลายเป็นผู้มีอิทธิพลโดยตรงต่อผู้ปกครองในบางพื้นที่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก 

 

คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เริ่มต้นจากประเทศอังกฤษซึ่งมีส่วนผสมตั้งต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมและแหล่งกำเนิดสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การปฏิวัติเกษตรกรรมที่ได้วางระบบการจัดสรรผลผลิตและที่ดินในพื้นที่ ความเชี่ยวชาญในการค้าทางทะเลและอำนาจทางทะเลที่เหลือล้น รากฐานทางการศึกษา นวัตกรรมและการเงินที่ได้สั่งสมมาอย่างยาวนาน

 

นอกจากนี้ การที่ประเทศอังกฤษมีนโยบายไม่แทรกแซงกับกิจการของยุโรปภาพพื้นทวีปโดยไม่จำเป็น ด้วยที่เป็นหมู่เกาะขนาดใหญ่ และให้ความสำคัญกับการแผ่อำนาจทางการค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก จึงทำให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นที่อังกฤษและได้เสริมสร้างระบบการค้าระหว่างประเทศที่อังกฤษได้ริเริ่มก่อนหน้าในนามของ “การค้าเสรี” 

 

การค้าเสรี ได้ริเริ่มโดยอังกฤษ ซี่งเป็นแนวคิดในการลดภาษีระหว่างประเทศ ลดการกีดกันทางการค้า และการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งอังกฤษสามารถริเริ่มได้ก่อนด้วยความจำเป็นที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าพื้นฐานมากกว่าส่งออก และการวางบทบาทในการแผ่อำนาจทางทะเล จึงต้องมีระบบการค้าระหว่างประเทศในการแบกอำนาจทางการทหารของประเทศควบคู่กัน เป็นที่มาของการนำแนวคิดการค้าเสรีไปใช้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในนามของข้อตกลงสัญญาต่าง ๆ 

 

ตรงนี้ คือจุดเริ่มต้นของแนวคิดทุนนิยมระหว่างประเทศ ที่เทคโนโลยีและการผลิตได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ขอบเขตทางการค้ากว้างขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และบรรดานายทุนในอังกฤษส่วนใหญ่ต่างก็ต้องการรัฐบาลที่ตรวจสอบได้และเป็นตัวแทนของประชาสังคมในประเทศรวมทั้งนายทุนด้วย จึงทำให้วิวัฒนาการประชาธิปไตยที่มั่นคงได้เกิดขึ้นจากอังกฤษและจะแผ่ออกไปยังประเทศอื่น ๆ ควบคู่กับกระแสการค้าแบบทุนนิยม

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวคิดทุนนิยมจะริเริ่มและเสริมสร้างความมั่นคงของแนวคิดประชาธิปไตยด้วยแนวคิดกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แนวคิดสิทธิส่วนบุคคลและส่วนรวม และแนวคิดการตรวจสอบและถ่วงดุล ได้เป็นอย่างดี แต่ทุนนิยมที่กำลังเดินหน้าอย่างเต็มกำลังก็เผชิญกับผลข้างเคียงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ คือ การทอดทิ้งผู้คนเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถปรับตัวได้

 

เหตุสำคัญ คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้ทำให้มีการใช้เครื่องจักรเป็นจำนวนมากในการผลิตและลดการใช้แรงงานลง รวมทั้งสังคมแบบเกษตรกรรมก็ค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยสังคมแบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวคิดและค่านิยมที่แตกต่าง นอกจากนี้ คุณภาพชีวิตของแรงงานในช่วงขณะนั้นถือว่าเลวร้ายมาก หากเทียบกับมาตรฐานแรงงานในปัจจุบัน เนื่องจากการขาดกฎเกณฑ์ในการกำกับสังคมอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

 

หมุดหมายสำคัญจากช่วงสมัยนี้ คือ การริเริ่มของแนวคิดสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ จากการหยิบยกความยากลำบากของแรงงานในสมัยนั้นในการชูประเด็นความเท่าเทียมและการปูทางให้แรงงานมีอำนาจในทางการเมืองเพื่อเป็นตัวแทนแรงงานและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ร้ายกว่านั้นคือ ต้องการสร้างแนวคิดชนชั้นกรรมาชีพที่เป็นเผด็จการแรงงานในการยึดอำนาจของประเทศและเอาทรัพยากรทุกอย่างเป็นของรัฐเพื่อหวังว่าจะทำลายระบบนายทุนให้สิ้นซากพร้อมกับความหวังในการสร้างสวรรค์ของชนชั้นแรงงานขึ้นมา

 

กลายเป็นแนวคิดพื้นฐานสำคัญของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศช่วงยุคสงครามเย็นในเรื่องให้ทุกคนเท่ากัน ยุติความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และใช้อำนาจที่มีในการพิทักษ์การปฏิวัติดังกล่าว แต่ถึงอย่างไร นายทุนก็ยังมีตัวตนในลักษณะของภาครัฐและบุคคลใกล้ชิดกับโครงสร้างอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงทรัพยากรและอำนาจอันล้นเหลือของประเทศ 

 

ร้ายกว่านั้น คือ นายทุนในลักษณะที่กุมอำนาจเงิน อำนาจบริหารประเทศ และอำนาจในการกำหนดอุดมการณ์ความคิดในประเทศแบบเสร็จสรรพ โดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลใด ๆ โดยการอ้างถึงการเป็นตัวแทนของคนหมู่มากในชนชั้นกรรมกร คือจุดบอดสำคัญของการนำลัทธิคอมมิวนิสต์มาปกครองโดยส่วนใหญ่ ทั้งการทุจริตในการบริหาร การสูญเสียขีดความสามารถและแรงจูงใจในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งขาดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจากการปิดกั้นมาโดยตลอด จึงนำไปสู่การล่มสลายในห้วงเวลาต่อมา

 

ยังไม่ต้องกล่าวถึงกับทุนนิยมสมัยใหม่ที่ได้พัฒนามาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ใช้ในการกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมไม่ให้เลวร้ายจนเกินไปจากการปรับตัวไม่ทันในระบบเศรษฐกิจประเทศ ระบบการค้าระหว่างประเทศที่ใกล้ชิดและจริงจังมากขึ้นจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี การคมนาคม และการเงิน ที่น้อยลง เมื่อเทียบกับสังคมในอดีต

 

ยิ่งเข้าสู่ช่วงยุคโลกาภิวัตน์ ที่ระบบเศรษฐกิจโลกได้ใกล้ชิดมากขึ้นพร้อมกับการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหลายประเทศควบคู่กับการเกิดขึ้นมากมายขององค์กรทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศก็ทำให้แนวคิดทุนนิยมกลายเป็นแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าแนวคิดการวางแผนทางเศรษฐกิจจากศูนย์กลางของประเทศคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ที่สุดท้ายแล้ว ได้ตอบย้ำว่า ล้มเหลวและต้องมีการเปลี่ยนผ่านระบบทางการเมืองและเศรษฐกิจกันยกใหญ่ในภายหลัง

 

แม้ว่าแนวคิดทุนนิยมจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่การใช้กลไกทุนนิยม ทั้งระบบนายทุน ระบบการค้าระหว่างประเทศ ระบบนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ควบคู่กับการกำกับดูแลที่ดีจากภาครัฐ คือ ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เดินหน้าไปได้ เพราะเมื่อเศรษฐกิจเข้มแข็ง การก็จะเป็นการลดแรงเสียดทานทางการเมืองและสังคม และทำให้ผู้คนรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจการเมืองที่กำลังเติบโตจากการลงแรงลงสมองของตนเอง

 

ที่สำคัญ คือ เป็นรากฐานของคุณค่าแนวคิดประชาธิปไตยที่มั่นคง เพราะทุนนิยมจะส่งเสริมการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการริเริ่มนวัตกรรมและความคิดใหม่ ๆ ส่งเสริมการลงมือทำมากมายด้วยตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการรับรองสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลและสิทธิ์ในการเป็นตัวแทนของประเทศเพื่อตรวจสอบ ถ่วงดุลและขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งประชาธิปไตยส่วนใหญ่ต่างก็มีรากฐานทางเศรษฐกิจจากทุนนิยม และทุนนิยมส่วนใหญ่ต่างก็มีรากฐานทางการเมืองจากประชาธิปไตยเช่นกัน

สุดท้ายนี้ เมื่อมองถึงสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศทุนนิยมและเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่ประสบความสำเร็จและได้ดำรงอยู่ในฐานะมหาอำนาจโลกในปัจจุบันอยู่นั้น หากมองลงไปก็จะพบว่า

 

“รากฐานของประเทศคือ ทุนนิยมและสิทธิส่วนบุคคล ที่กลายเป็นประชาธิปไตยแบบอเมริกันในปัจจุบัน”

 

โดย ชย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า