
เตรียมเพิ่มการแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.อีก 3 รูปแบบ ใช้โจทย์ให้มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกันที่สุด
กกต.เตรียมเพิ่มการแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.อีก 3 รูปแบบ ใช้โจทย์จำนวนประชากรใกล้เคียงกันที่สุด รวมเป็น 8 รูปแบบ
นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.เพิ่มเติมตามคำสั่ง เลขา กกต.แล้ว โดยได้เพิ่มเติมอีก 3 รูปแบบ และจะเปิดรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่กรุงเทพ ระหว่างวันที่ 10-19 กุมภาพันธ์นี้
โดยการแบ่งเขตเลือกตั้งรอบนี้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ใช้ค่ากลางจำนวนประชากร กทม. 166,513 คนต่อเขต แต่ใช้จุดเริ่มต้นใหม่ ภายใต้โจทย์ให้จำนวนราษฎรใกล้เคียงกันมากที่สุด
ขณะที่ 5 รูปแบบเดิม จะดำเนินการโดยรวมอำเภอก่อน จึงต้องไปเริ่มจากเขตพระนคร-สัมพันธวงศ์-ป้อมปราบฯ เพราะจำนวนราษฎรไม่ถึงเกณฑ์ และหากอำเภอรวมกันแล้วเกินหรือขาด ก็จะไปนำประชากรอีกพื้นที่ที่ติดต่อกันมาเติม หรือเอาออกได้ แต่ห้ามหั่นแขวงหรือตำบลออกจากกัน โดยยึดหลักการคมนาคมสะดวก ต้องมีประวัติเคยเป็นเขตเลือกตั้งมาก่อน จำนวนราษฎรใกล้เคียงกัน และรับฟังความเห็นจากประชากรและพรรคการเมือง
ผอ.กกต.กทม. ย้ำว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งใน กทม. ไม่ได้ทำได้โดยง่าย และต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ พร้อมยอมรับว่าอาจมีรูปแบบที่มีหลายเขตปกครองมาเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน หลังจากนี้ กกต.กทม.จะส่งรูปแบบให้สำนักงานเขตปิดประกาศเพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชน
ทั้งนี้ การแบ่งเขตรูปแบบใหม่เพิ่มเติมนี้ มีการผ่าเขตออกถึง 25 เขต ด้วยโจทย์ที่ว่าให้ตัวเลขจำนวนประชากรใกล้เคียงกันและมีพื้นที่ติดต่อกัน คาดว่า กกต.กทม.จะสรุปประมวลความเห็นและเสนอ กกต.พิจารณาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งอาจจะเข้าวาระพิจารณาของ กกต.เป็นจังหวัดสุดท้าย พร้อมกับจังหวัดเชียงใหม่และชลบุรี แล้วจะประกาศเขตเลือกตั้งพร้อมกันทั้ง 400 เขต ในราชกิจจานุเบกษา
#TheStructureNews
#กทม #แบ่งเขตเลือกตั้ง
Xiaomi ทำสำเร็จแล้ว สำหรับการผลิตชิป 3nm พร้อมเปิดตัวในตลาดช่วงครึ่งแรกของปี 2025
รามยอนยอดขายพุ่ง โดยบริษัท Samyang เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า หลังยอดส่งออกตลาดต่างประเทศพุ่งทะยาน
‘ทักษิณ’ เข้าเพื่อไทยวันนี้ เศรษฐา-ประเสริฐติดภารกิจ สุริยะยันไปแน่นอน อนุทินชี้คงจะได้เจอกันสักวัน
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม